ตั้งแต่ปี 2033 เป็นต้นไป “สิงคโปร์” จะนำเข้า “ไฟฟ้า” คาร์บอนต่ำจากเวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา เพื่อไปสู่เป้าการนำเข้าพลังงานหมุนเวียนให้ได้ครบ 4GW ภายในปี 2035
Energy Market Authority (EMA) เปิดเผยว่า “สิงคโปร์” ตกลงดีลสั่งซื้อ “ไฟฟ้า” คาร์บอนต่ำ นำเข้าจากเวียดนาม 1.2 กิกะวัตต์ (GW) ซึ่งจะส่งผ่านสายเคเบิลใต้ทะเลมาเป็นระยะทางประมาณ 1,000 กิโลเมตร
พลังงานไฟฟ้าที่จะนำเข้าจากเวียดนามนี้คิดเป็นสัดส่วน 10% ของความต้องการไฟฟ้าในสิงคโปร์ในแต่ละปี
ก่อนหน้านี้สิงคโปร์ก็มีการเซ็นดีลในลักษณะเดียวกันกับ “อินโดนีเซีย” โดยจะนำเข้าไฟฟ้าคาร์บอนต่ำจากอินโดฯ 2GW รวมถึงจะนำเข้าไฟฟ้าคาร์บอนต่ำจาก “กัมพูชา” อีก 1GW
ไฟฟ้าคาร์บอนต่ำเหล่านี้ผลิตขึ้นจากหลายรูปแบบผสมกัน ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าพลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม
เมื่อนำเข้าไฟฟ้าคาร์บอนต่ำเหล่านี้ได้ครบถ้วน จะทำให้สิงคโปร์ใช้ไฟฟ้าคาร์บอนต่ำเป็นสัดส่วน 30% ของความต้องการพลังงานภายในปี 2035
การนำเข้าไฟฟ้าคาร์บอนต่ำจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสิงคโปร์นี้ เกิดขึ้นจากการทำการศึกษาโครงการร่วมกันระหว่างสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ยังมีแผนที่จะนำเข้าไฟฟ้าคาร์บอนต่ำจากแหล่งอื่นๆ ในภูมิภาคเพิ่มอีกในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนมิถุนายน 2022 สิงคโปร์เริ่มศึกษาโครงการนำเข้าไฟฟ้าพลังงานน้ำจากลาวขนาดประมาณ 100 เมกะวัตต์ (MW) แล้ว โดยจะส่งผ่านมาทางประเทศไทยและมาเลเซีย
- Tesla เสนอขอตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานในอินเดีย มองโอกาสเพิ่มเติมจากรถยนต์ไฟฟ้า
- เท่าไหร่ก็ไม่พอ! อัตราเกิดใน ‘สิงคโปร์’ ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แม้รัฐฯ อัดฉีดกว่า 3 แสนบาทเพื่อจูงใจ
ส่วนการผลิตไฟฟ้าคาร์บอนต่ำเองบนเกาะสิงคโปร์ เนื่องด้วยพื้นที่เกาะอันจำกัด ทำให้สิงคโปร์เลือกใช้พลังงานโซลาร์เป็นหลัก โดยมีเป้าหมายจะผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์ให้ได้ 2GW ในปี 2030 เพื่อสนองความต้องการใช้งานให้ได้ 350,000 ครัวเรือน
ปัจจุบันนี้สิงคโปร์สามารถผลิตไฟฟ้าโซลาร์ได้แล้ว 1GW หรือไปได้ครึ่งทางของเป้าหมายแล้ว และกำลังพยายามหาทางเพิ่มประสิทธิภาพให้พื้นที่หนึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าโซลาร์ได้สูงยิ่งขึ้น หรือสามารถติดแผงโซลาร์บนผนังด้านนอกของตัวอาคารให้ได้ รวมถึงจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานด้วย เพราะพลังงานโซลาร์จะผลิตได้เฉพาะช่วงกลางวันเท่านั้น