แม้ว่า สิงคโปร์ จะถือเป็นประเทศที่มีความสุขสูงสุดในเอเชียและตะวันออกกลาง ตามรายงาน World Happiness Report จากสหประชาชาติ (U.N.) ก็ตาม แต่อัตราการเกิดของสิงคโปร์กลับลดต่ำลงเรื่อย ๆ โดยสาเหตุหลัก ๆ เลยก็คือ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ภาครัฐจะออกนโยบายกระตุ้น พร้อมให้สิทธิพิเศษมากมายก็เหมือนจะยังไม่สามารถจูงใจได้
ปี 2022 อัตราการเกิดของสิงคโปร์แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.05 โดยลดลงถึง 7.9% หลังจากลดลงต่อเนื่องมาหลายปี ยกเว้นแค่ในปี 2021 ที่เกิดการระบาดของโควิดที่อัตราเกิดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.1 เป็น 1.12 โดยสาเหตุที่ทำให้อัตราการเกิดลดลงนั้นหนีไม่พ้นเรื่อง ค่าครองชีพที่สูง ทำให้หลาย ๆ คนไม่อยากขยายครอบครัว
“การมีลูกนั้นเชื่อมโยงกับหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น ความสามารถในการซื้อบ้าน คู่สมรส และความพร้อมของตลาดงาน ซึ่งถ้ารู้สึกพร้อมทั้งหมด คุณก็จะรู้สึกปลอดภัยพอที่จะมีลูก ซึ่งความน่าดึงดูดใจของการอยากมีลูกลดลงอย่างมากจริง ๆ” Jaya Dass กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Ranstad กล่าว
ปัจจุบัน สิงคโปร์กำลังเผชิญกับอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยข้อมูลจาก สถาบันการศึกษานโยบายในสิงคโปร์ แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 20–24 ปี มีโอกาสคลอดบุตรน้อยกว่าผู้หญิงอายุระหว่าง 35–39 ปี แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงเลือกที่จะมีบุตรในภายหลังหรือ ไม่มีเลย
ด้วยเหตุนี้ทำให้รัฐบาลต้องทุ่มสิ่งจูงใจเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนมีลูก โดยคู่รักที่มีบุตรตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ พ่อ-แม่จะได้รับเงินคนละ 11,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 290,000 บาท) เพิ่มขึ้นจาก 8,000 สิงคโปร์ สำหรับลูกคนแรกและคนที่สอง และเพิ่มเป็น 13,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 3440,000 บาท) สำหรับลูกคนที่สามและต่อ ๆ ไป ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 30%-37% นอกจากนี้ คุณพ่อยังสามารถลางานเพิ่มได้จาก 2 สัปดาห์เป็น 4 สัปดาห์ สำหรับพ่อของเด็กที่เกิดในปี 2024
อย่างไรก็ตาม เวิน เหว่ย ตัน นักวิเคราะห์จาก Economist Intelligence Unit มองว่า ต่อให้ทุ่มเงินมหาศาลก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะการแก้ปัญหาอัตราการเจริญพันธุ์จะทำให้ต้องเผชิญหน้ากับจุดอ่อนของระบบที่ซ่อนอยู่ ซึ่งไม่เพียงแต่หมายถึงการจัดการกับความท้าทายด้านประชากรศาสตร์เท่านั้น
ทั้งนี้ ในปี 2022 EIU จัดอันดับให้สิงคโปร์เป็นเมืองที่ ค่าครองชีพแพงที่สุด โดยครองตำแหน่งสูงสุดร่วมกับนิวยอร์กซิตี้ ขณะที่ ราคาบ้านก็แพงสุดในเอเชียแปซิฟิก โดยเพิ่มขึ้น 7.5% ดังนั้น การเป็นเจ้าของบ้านก็ถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคู่รักหนุ่มสาวเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหา เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูบุตรในสิงคโปร์ ส่งผลให้ชาวสิงคโปร์มีความรู้สึกว่า ไม่มั่นคงพอจะมีลูก แม้แต่กับกลุ่มคู่รักที่มีรายได้สองทาง แต่ก็เลือกจะไม่มีลูก
“ความไม่มั่นคงกำลังดึงผู้คนให้ห่างไกลจากการมีลูก” Mu Zheng ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าว
นอกจากเรื่องค่าครองชีพแล้ว เรื่อง หน้าที่การงาน ก็เป็นอีกส่วน เนื่องจากกรอบความคิดคนเปลี่ยนแปลงไป โดยคู่รักจำนวนมากขึ้นเต็มใจที่จะ ให้ความสำคัญกับอาชีพการงานมากกว่าการแต่งงานและการมีลูก นอกจากนี้ การชะลอการแต่งงานหมายความว่าผู้คนอาจได้รับโอกาสมากขึ้นในการ ศึกษาต่อในระดับสูง ส่งผลให้บางคน เลือกมากขึ้น และ คาดหวังกับคู่ครองในอนาคตมากขึ้น
“เมื่อผู้หญิงมีลูก พวกเธอจะเห็นการชะลอตัวในความก้าวหน้าในอาชีพการงาน หลายคนตัดสินใจที่จะรอจนกว่าพวกเขาจะรู้สึกมั่นคงและมั่นคงในงานของตน เพื่อไม่ให้ครอบครัวลำบากหากพวกเขาลาออกจากงาน” ตัน โปห์ ลิน นักวิจัยอาวุโสของ Lee Kuan Yew School of Public กล่าว
แน่นอนว่า สาเหตุที่รัฐบาลต้องกระตุ้นให้การเกิดเพิ่มมากขึ้นเป็นเพราะ จำนวนประชากรสูงวัย เพิ่มมากขึ้น แต่การเกิดลดลงจะมีผลกระทบต่อกำลัง แรงงานของสิงคโปร์ และจำนวนพนักงานที่ลดลงอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ ภาษีของรัฐบาล
“คุณกำลังรวบรวมเงินน้อยลงจากพนักงานที่มีขนาดเล็กลง ดังนั้น รัฐบาลจึงมีทรัพยากรทางการคลังน้อยลงเพื่อนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศอาจต้องการ ต่อไป คนงานต้องจ่ายภาษีมากขึ้น และมีภาระทางการเงินในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น และหากใครแต่งงานและมีลูก ก็มีข้อพิจารณาทางการเงินมากขึ้น”