เงินเฟ้อไทยลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน นักวิเคราะห์มองแบงก์ชาติไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อแล้ว

ภาพจาก Shutterstock
ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน ได้ปัจจัยจากมาตรการของรัฐบาล โดยนักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินต่างประเทศมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกต่อไปหลังจากนี้เพื่อที่จะต่อสู้กับเงินเฟ้อ

กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ของไทยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้นอยู่ -0.31% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน โดยได้ปัจจัยจากมาตรการของรัฐบาลทั้งการลดราคาพลังงาน รวมถึงอาหาร

ผลสำรวจของ Reuters คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนตุลาคมนั้นจะอยู่ที่ 0.0% โดยเดือนกันยายนที่ผ่านมาตัวเลขเงินเฟ้อของไทยยังเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ถ้าหากดูตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งดัชนีดังกล่าวจะหักหมวดอาหารสด และสินค้ากลุ่มพลังงาน กลายเป็นว่า Core CPI ของไทยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 0.7% เป็นผลจากราคาอาหารสำเร็จรูป ยาสูบ รวมถึงบริการทางการแพทย์มีต้นทุนสูงขึ้น

ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนว่าจะยังปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและกลุ่มพลังงาน และยังได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปลงสู่กรอบ 1.0-1.7% จากกรอบเดิมที่ 1.0-2.0%

อย่างไรก็ดีสำหรับความเสี่ยงที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อจะไม่ลดลงคือ ราคาพลังงานที่สูงขึ้น จากปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลางที่กำลังเกิดขึ้น

ทางด้านบทวิเคราะห์จาก Bank of America มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนอกเหนือจากภาคการท่องเที่ยวยังคงอ่อนแอ ในรายงานดังกล่าวยังชี้ความเสี่ยงของตัวเลขเงินเฟ้อของไทย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจาก ราคาน้ำมันจะสูงขึ้น ผลกระทบเอลนิโญต่อราคาอาหาร และการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ อย่างไรก็ดีรายงานดังกล่าวมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% ยาวไปจนถึงปีหน้า

สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของ Goldman Sachs ให้มุมมองว่าจากตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายยาวจนถึงสิ้นปี 2024

ที่มา – กระทรวงพาณิชย์, บทวิเคราะห์บางส่วนจาก Goldman Sachs และ Bank of America