23 ปี ‘กรุงทองพลาซา’ กับการเอาตัวรอดใน ‘ย่านประตูน้ำ’ ด้วยการฉีกเป็นศูนย์ค้าส่งเสื้อผ้า ‘พลัสไซส์’ ใหญ่สุดในไทย

หากพูดถึงย่าน ประตูน้ำ เชื่อว่าหลายคนต้องคิดถึงแหล่งรวม เสื้อผ้าแฟชั่น ราคาถูก สามารถซื้อปลีกหรือส่งก็ได้ ซึ่งในละแวกนั้นก็มีห้างหลายห้าง อาทิ แพลตินัม-พันธ์ุทิพย์ประตูน้ำ และอีกห้างก็คือ กรุงทองพลาซา ห้างเก่าแก่อายุ 23 ปีที่ยังสามารถยืนหยัดมาจนทุกวันนี้ในฐานะ ศูนย์ค้าส่งเสื้อผ้า พลัสไซซ์ ใหญ่ที่สุดในประเทศ

กำเนิดกรุงทองพลาซา

จุดเริ่มต้นของ ห้างกรุงทองพลาซา นั้นต้องย้อนไปที่ครอบครัว ตันติวงษากิจ ที่เริ่มต้นจากการเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายนาฬิกาชั้นนำในย่านถนนเพชรบุรีที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 40 ปี จน 16 มกราคม 2544 ทางครอบครัวก็ได้เปิดห้างกรุงทองพลาซา โดยวางตัวเองเป็น ศูนย์รวมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และได้ อัญชลี ตันติวงษากิจ กรรมการผู้จัดการ ห้างกรุงทองพลาซา ทายาทเจน 2 ของตระกูล เข้ามาบริหาร

จากจุดเริ่มต้นที่เป็นศูนย์รวมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย จากนั้นก็พัฒนามาเป็น ศูนย์ค้าส่งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย จนมาปี 2550 กรุงทองพลาซาก็ปรับมาเป็นศูนย์ค้าส่งเสื้อผ้า พลัสไซส์ เนื่องจากการแข่งขันที่สูงเพราะมีห้างฯ เกิดใหม่มากมาย ทำให้กรุงทองพลาซาต้องหา จุดแตกต่าง เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด จนปัจจุบัน เสื้อผ้าพลัสไซส์ 60% ของตลาดอยู่ที่กรุงทองพลาซา

“ย้อนไป 20 กว่าปีก่อนย่านประตูน้ำมีห้างแค่ 2-3 ห้างเอง แต่ตอนนี้มีเยอะมาก เราเองก็ต้องหาจุดแตกต่างของเรา จนเราไปทำการสำรวจพบว่าลูกค้าบ่นว่าเจอแต่เสื้อผ้าตัวเล็ก เราเลยเอาจุดนี้มาต่อยอดเป็นศูนย์รวมเสื้อผ้าพลัสไซส์” อัญชลี เล่า

อัญชลี ตันติวงษากิจ กรรมการผู้จัดการ ห้างกรุงทองพลาซา

มั่นใจลูกค้าต่างชาติเพิ่มเป็น 60%

แม้ว่าวิกฤตโควิดจะทำให้กรุงทองพลาซาต้องเจอกับความท้าทาย แต่ในปี 2566 ที่ผ่านมา กรุงทองพลาซามีอัตราการเช่าพื้นที่ของห้างฯ เต็ม 100% รวม 400 ร้านค้า ประมาณ 70% เป็นร้านเสื้อผ้าพลัสไซส์ อีก 30% เป็นเสื้อผ้าแฟชั่นทั่วไปปัจจุบัน ห้างกรุงทองพลาซามียอดจองคิวยาวจนถึงช่วงเดือนตุลาคม 2567

ด้านจำนวนทราฟฟิกอยู่ที่ 10,000 คนต่อวัน ส่วนในช่วงวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 คนต่อวัน เติบโตขึ้น 50% จากปี 2565 โดยลูกค้า เพศหญิง มีสัดส่วนมากที่สุด ตามด้วยกลุ่ม LGBTQ+ และผู้ชาย ส่วนยอดใช้จ่ายเฉลี่ยของลูกค้าซื้อปลีกแต่ละครั้งอยู่ที่ 2,000-3,000 บาท ส่วนลูกค้าส่งอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้จำนวนทราฟฟิกเพิ่มขึ้นก็คือ นักท่องเที่ยว เพราะในอดีตลูกค้ากรุงทองพลาซาจะเป็นลูกค้าคนไทย แต่ปัจจุบันลูกค้าต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ส่วนใหญ่มาจากประเทศมาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยในปีนี้ ทางห้างฯ จะเน้นขยายฐานไปที่ลูกค้ายุโรปและมุสลิมมากขึ้น คาดว่าจำนวนทราฟฟิกปีนี้จะเพิ่มขึ้น 30% ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างชาติ ส่งผลให้สัดส่วนลูกค้าต่างชาติเพิ่มเป็น 60%

ชาวต่างชาติหลายคนที่เราเซอร์เวย์เขาประทับใจกับสินค้ามาก เพราะได้ราคาถูก แฟชั่นหลากหลาย และเราเชื่อว่าปีนี้จะยิ่งเติบโต เพราะเราพบว่าเขามีคอมมูนิตี้สาวพลัสไซส์ จากที่เคยซื้อปลีกก็มาซื้อส่ง จนเราเห็นว่ามีชาวต่างชาติหลายคนมาไลฟ์สดในห้างฯ เพื่อขายของ”

6XL ยังไม่พอ เพิ่มเป็น 8XL

ปัจจุบัน ทางท้องตลาดจะผลิตเสื้อผ้าขนาด S-2XL แต่ทางห้างมีเสื้อผ้าตั้งแต่ XS -6XL และในอนาคตจะปรับเพิ่มไซส์ให้ถึง 8XL เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ จะเพิ่ม สตูดิโอไลฟ์สด เพื่อรับกับพฤติกรรมของลูกค้าต่างชาติที่มาไลฟ์ขายสินค้า คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี

นอกจากนี้ ทางห้างกรุงทองพลาซา จะคัดเลือกผู้ขายที่เป็นผู้ผลิตโดยตรง เช่น โรงงาน เพื่อให้ได้สินค้าที่ทั้งมีคุณภาพและราคาถูก รวมถึงมีความยืดหยุ่นมีสินค้าใหม่ ๆ ถึง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อให้ สินค้าภายในห้างฯ อัปเดตอยู่เสมอ ในส่วนของแคมเปญการตลาด ทางห้างฯ ยังคงจัดอย่างต่อเนื่องทุกเดือน โดยพบว่า ลูกค้าที่ร่วมสนุกกับกิจกรรมส่งเสริมการขายของทางห้างฯ จะกลับมาซื้อซ้ำและมาพร้อมกับยอดซื้อที่เยอะขึ้นกว่าเดิม ที่ผ่านมา กรุงทองพลาซามีการใช้งบการตลาดกว่า 10 ล้านบาท ในแต่ละปี

ยอมรับชื่อเชย แต่ไม่รีแบรนด์

อัญชลี ยอมรับว่า ชื่อห้างฯ กรุงทองพลาซานั้นฟังดู เชย จริง แต่ไม่มีความคิดที่จะ รีแบรนด์ หรือเปลี่ยนชื่อใหม่ เพราะมองว่าชื่อกรุงทองพลาซานั้นติดตลาดไปแล้วเลยไม่อยากเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม ปีนี้ทางห้างฯ มีแผนจะรีโนเวตหน้าตึกใหม่ โดยใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มช่วงไตรมาส 2 แล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ส่วนภายในห้างฯ มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

“ชื่อกรุงทองพลาซาคุณพ่อเป็นคนตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อบริษัท สหกรุงทอง เทรดดิ้ง ที่นำเข้านาฬิกามาขาย ซึ่งเราก็รู้ว่ามันฟังดูเชย แต่มองว่าชื่อมันติดตลาดไปแล้ว”

สำหรับยอดขายของห้างฯ ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 500 ล้านบาท โดยคาดว่ารายได้ 500 ล้านบาทจะมาจากเสื้อผ้าพลัสไซส์ ที่เหลือเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นทั่วไป และวางเป้าระยะยาวให้กรุงทองพลาซาเป็น ศูนย์รวมเสื้อผ้าพลัสไซส์ระดับเอเชีย

“เราอยากไปในระดับเอเชีย ซึ่งเราจะต้องทำให้ลูกค้าประทับใจ เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำ และบอกต่อ”