คนไทยฮิตแอพฯ อะไรกันบ้าง มาดูคำเฉลยจาก “สิทธิพล พรรณวิไล หรือ หนูเนย กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวลำโพง จำกัด หัวหน้าทีมพัฒนาแอพพลิเคชั่นแบ่งปันรูปสัญชาติ “Molome” และแอพอื่นๆ อีกมากมาย และยังเป็นเจ้าของรางวัลประกวดแอพพลิเคชั่นในหลายๆ เวที ทั้งในและต่างประเทศ
คนไทยใช้แอพฯ อะไรกันบ้าง
นับตั้งแต่วันที่สมาร์ทโฟนเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทย การใช้งานแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือก็เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2011 ที่ผ่านมายอดการใช้งานแอพฯ ต่างๆ ในไทยพุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถ้าขึ้นรถไฟฟ้าบ่อยๆ จะเห็นได้ทันทีว่าแต่ละคนหยิบมือถือของตัวเองมาเล่นโน่นเล่นนี่ตลอดเวลานับตั้งแต่ก้าวผ่านประตูเข้ามาเลยทีเดียว มาปีนี้ 2012 การใช้งานแอพฯ เหมือนจะเริ่มนิ่งขึ้นเพราะผ่านช่วงที่สนุกสนานกับการลองแอพฯต่างๆ ไปแล้ว นาทีนี้คือนาทีคือการ “ใช้” แอพฯ ควบคู่ไปกับการลองแอพฯใหม่ๆ บ้างเสียมากกว่า
ทีนี้ถ้าถามว่าแอพฯ ประเภทไหนที่คนไทยใช้กันเยอะที่สุด? จริงๆ แล้วแอพฯ มันเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กก็คงโหลดเกมมาเล่นซะส่วนใหญ่ ส่วนผู้ใหญ่อาจจะโหลดแอพพลิเคชั่นประเภทข่าวสารมาอ่านยามว่าง หรือคนทั่วไปที่รู้สึกเบื่อๆ ก็มักจะโหลดแอพฯ ประเภทบันเทิงไม่ว่าจะเป็นเกมหรือหนังมาเล่นมาดู เพียงแต่แอพฯ ที่สามารถโด่งดังจนเป็นกระแสขึ้นมาได้ส่วนใหญ่จะเป็นแอพฯ ประเภทเครือข่ายสังคมหรือ Social Network ที่อาศัยการบอกต่อกันเช่นแอพฯ สำหรับการแชตข้ามแพลตฟอร์มอย่าง LINE หรือแอพฯ สำหรับปักหมุดสิ่งที่เราสนใจแล้วแบ่งปันให้คนอื่นอย่าง Pinterest หรือแม้กระทั่งแอพฯ ที่ไม่ใช่เครือข่ายสังคมแต่สามารถสร้างกระแสสังคมได้ไม่น้อยอย่าง Simsimi
แอพฯ เด็ดเป็นกระแส
LINE
เป็นแอพฯ ที่ได้รับความนิยมมาสักพักแล้วด้วยความสามารถในการแชตแบบข้ามแพลตฟอร์ม ซึ่งล่าสุดสามารถแชตได้แม้กระทั่งบนคอมพิวเตอร์แล้ว ด้วยฟีเจอร์ที่ใช้งานได้จริงผนวกกับความน่ารักของ Emoticon และ Sticker ทำให้ครองใจสาวๆ และหนุ่มๆ จนทิ้ง Whatsapp แอพฯ ประเภทเดียวกันที่ครองตลาดมาอย่างยาวนานไปหลายราย
Simsimi
เป็นแอพฯ ที่ถูกสร้างมาเพื่อเลียนแบบ Siri แต่ทำมาในแนวของตัวการ์ตูนสีเหลืองทรงกลมแอ๊บแบ๊วที่พร้อมจะเรียนรู้ทุกคำถามคำตอบที่คุณสอนให้ เมื่อคำถามไหนที่น้องซิมซิมมิไม่เข้าใจ น้องเค้าก็จะรบเร้าให้เราสอนและช่วยบอกคำตอบให้ เพื่อที่คราวหลังหากมีคนถามคำถามเดียวกันจะได้ตอบถูก คนไทยจึงเอาความสามารถตรงนี้มาตั้งคำถามตลกๆ แล้วก็ตอบตลกๆ แล้วก็จับภาพหน้าจอส่งกระจายไปยัง Social Network สร้างความบันเทิงและสร้างกระแสไม่ใช่น้อย เลยกลายเป็นแอพฯ ยอดฮิตไปภายใน 1 วัน แต่ผู้คนก็เลิกเล่นภายใน 1 สัปดาห์เพราะคนไทยใช้ในทางบันเทิงซะมาก จนเมื่อเวลาผ่านไปเราก็เลยเอาอะไรจากน้องซิมไม่ได้อีกเลย น่าเสียดายว่าหากคนไทยเอาไปใช้ในแง่ของความรู้หรือวิชาการ น้องซิมก็คงจะเป็นโปรแกรมที่ช่วยให้ข้อมูลแก่คนใช้มือถือได้ไม่น้อยเลยหละ
Path
โปรแกรมประเภทแชร์ภาพก็ยังได้รับความนิยมอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง โดยเฉพาะคนไทยที่ชอบแชร์ว่าตัวเองทำอะไรอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่แค่การแชร์ภาพก็เริ่มจะไม่คนามือผู้ใช้ชาวไทยแล้ว แอพฯ ตัวเลือกการแชร์ที่แชร์ได้ทั้งภาพทั้งข้อความทั้งเพลงที่ตัวเองฟังอยู่ ประหนึ่งว่าเป็น Memo จดว่าวันๆ เราทำอะไรไปบ้างเพื่อให้เรามาอ่านย้อนหลังไปยิ้มไปได้นั่นเอง อีกทั้งมันยังสามารถทำงานได้ทั้งบน iPhone และแอนดรอยด์ซึ่งกินตลาดสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่อยู่ขณะนี้ ทำให้คนส่วนใหญ่จึงใช้งานด้วยกันได้อย่างมีความสุข ด้วยเหตุนี้ Path จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้
โปรแกรม Pinterest ถือเป็นโปรแกรมแนวคิดใหม่ที่ค่อนข้างแหวกแนวและไม่ค่อยเห็นจากที่ไหน โดย Pinterest เป็น Social Network ที่เอาไว้ปักหมุดข้อมูลที่ตัวเองสนใจ ไม่ว่าจะเป็นภาพ เป็นข่าวหรือวิดีโอ เพื่อให้คนที่ Follow คุณอยู่สามารถติดตามเรื่องที่คุณสนใจได้ในรูปแบบที่สวยงาม โดยรวมแล้วก็เหมือนหนังสือพิมพ์ที่เราสร้างเองและเรื่องราวที่อยู่บนนั้นคือเรื่องราวที่มาจากคนที่เรา Follow นั่นเอง ถือเป็น Social Network แบบใหม่ที่น่าจับตามองมาก คาดว่าจะได้รับความนิยมเรื่อยๆ และเอาไปต่อยอดอะไรได้อีกหลายอย่างเลยล่ะ น่าเสียดายที่ตอนนี้ใช้ได้แต่บน iOS เท่านั้น แฟนๆ แอนดรอยด์ต้องรอกันหน่อยหละ
— เกมทั้งหลาย —
“ในบรรดาแอพฯประเภทต่างๆ ที่มีแจกหรือขายอยู่บน App Store เกมยังคงได้รับความนิยมสูงสุดตลอดมาและน่าจะตลอดไป ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือมันเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย แถมยังสร้างความสุขให้กับวันเวลาที่แสนน่าเบื่อได้ “ ดังนั้นเกมก็จะครองตำแหน่งแอพฯยอดฮิตตลอดไป แต่เกมอะไรจะได้รับความนิยมแต่ละช่วงเวลาก็คงจะเปลี่ยนไปสมัยนิยม กราฟิกและเทคนิคที่ผู้ผลิตเอามาใช้นั่นเอง
— แพลตฟอร์มยอดฮิตสำหรับคนใช้แอพฯ —
แพลตฟอร์มอันดับหนึ่งสำหรับชาวแอพฯ ก็ยังตกเป็นของ iOS อยู่ ด้วยยอดโหลดรวมล่าสุดสูงถึง 25,000,000,000 โหลด จากแอพฯ ที่มีทั้งหมดกว่า 550,000 แอพฯ แต่ก็ตามมาติดๆ ด้วย Android ที่ขณะนี้มีแอพฯ อยู่ใน Google Play Store ถึงกว่า 450,000 แอพฯ แล้ว แต่ยอดโหลดยังตามอยู่มากเพราะเพิ่งผ่าน 10,000,000,000 โหลดไปปลายปีที่แล้ว
หากเทียบเรื่องคุณภาพแล้ว iOS ก็ยังมีแอพฯ ที่ดีมีคุณภาพน่าใช้งานกว่าบนแอนดรอยด์มาก ส่งผลให้ทุกวันนี้หากมีแอพฯ เด็ดๆ โดนใจอะไรใหม่ๆ ก็มักจะมาจากทาง iOS ก่อนเสมอ หากได้รับความนิยมระดับหนึ่งมันก็จะค่อยมาปรากฏตัวบนแอนดรอยด์อีกที แต่เอาเข้าจริง ยอดขายแอนดรอยด์ตอนนี้ก็นำไอโฟนไปแล้ว ต้องมารอดูกันว่าปีนี้เทรนด์จะเปลี่ยนไปมั้ย โปรแกรมต่างๆจะไปลงแอนดรอยด์ก่อน iOS ตามที่ Eric Schmidt ประธานกรรมการของกูเกิลบอกไว้หรือไม่
— ข้ามแพลตฟอร์มคืออนาคต —
นาทีนี้หากเดินไปถามคนสักร้อยคนว่าอยากได้มือถือแพลตฟอร์มไหน คงได้คำตอบที่ไม่ซ้ำกัน บางคนก็อยากได้ไอโฟน บางคนก็อยากได้แอนดรอยด์ บางคนก็อยากได้แบล็คเบอร์รี่ ดังนั้นในมุมของยูสเซอร์แล้ว แพลตฟอร์มไหนจึงไม่สำคัญอีกต่อไป นาทีนี้แอพฯ ไหนที่สามารถทำงานได้บนหลายแพลตฟอร์ม (หรือที่เรียกว่า Cross Platform) ก็มักจะได้ตำแหน่งแอพฯ ยอดนิยมในบรรดาไปแอพฯ ประเภทเดียวกันไป และจากนี้คงจะเริ่มเห็นเทรนด์นี้ชัดเจนมากขึ้นครับ
ขอตัวไปโหลดแอพฯ มาเล่นก่อนละครับ ซื้อมือถือมาตั้งแพง ถ้าไม่สรรหาแอพฯ มาสร้างเสริมประสบการณ์การใช้งานเดี๋ยวมันจะไม่คุ้มเอา ^^”