KKP ปรับแผนต่อยอดธุรกิจ Wealth เพิ่มรายได้ คาดยอดสินเชื่อเติบโตแค่ 3% หลังคุมเข้มปล่อยกู้

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้ปรับแผนธุรกิจการดำเนินงานในปี 2024 โดยโฟกัสมายังธุรกิจ Wealth และตลาดทุน หลังจากในปี 2023 ที่ผ่านมามีกำไรที่ลดลง โดยธุรกิจเช่าซื้อของกลุ่มฯ รับผลกระทบจากราคารถมือสองที่ลดลง และยังรวมถึงปัญหารถถูกยึดที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะลดลงแล้วก็ตาม

KKP ได้เปิดแผนธุรกิจในปี 2024 โดยจะเน้นมายังธุรกิจธนาคาร ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน รวมถึงธุรกิจวาณิช  ธนกิจ ซึ่งจะช่วยทำให้รายได้ของทางกลุ่มนั้นมีส่วนของรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจเช่าซื้ออีกทางหนึ่ง

โดยผลประกอบการปี 2023 ของ KKP กำไรของกลุ่มธุรกิจฯ ปรับลดลงอยู่ที่ 5,443 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 7,602 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากจากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และสภาวะตลาดทุนที่ซบเซา

ฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงสาเหตุที่กำไรของ KKP ลดลงจากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและภาวะดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของราคารถยนต์ ซึ่งในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2023 นั้นมีรถยนต์ถูกยึดมากถึง 6,000 คัน

ในปี 2024 การดำเนินการของธนาคารเกียรตินาคินภัทรจึงโฟกัสไปที่การจัดการและบริหารคุณภาพสินทรัพย์ โดยหนึ่งในมาตรการคือการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ การช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าให้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ เขากล่าวว่าเป้าหมายหนึ่งในนั้นคือทำให้รถถูกยึดในปีนี้ลดลงเหลือประมาณ 3,500 คัน

ขณะเดียวกันในช่วงปลายไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมาเขาเริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถที่ถูกยึดน้อยลง NPL ปรับตัวลดลง

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KKP ได้กล่าวถึงภาพรวมของกลุ่มฯ​ ในปี 2023 ที่ผ่านมา โดยมองว่าปีที่แล้วธุรกิจของกลุ่มไม่ดีทั้งคู่ ทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนรวมถึงธุรกิจเช่าซื้อ เขามองว่าโมเดลธุรกิจของ KKP นั้นไม่ได้เสื่อมถอยแต่อย่างใด

ขณะที่แผนดำเนินธุรกิจในปี 2024 ในภาพใหญ่ เขาได้กล่าวถึงแนวโน้มทิศทางพัฒนาการตลาดเงินและตลาดทุนของโลกชี้ให้เห็นว่าธุรกิจในปัจจุบันได้ใช้ช่องทางที่หลากหลายในการระดมทรัพยากรมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงสินเชื่อของธนาคาร

ดังนั้น KKP จึงได้เพิ่มโฟกัสไปยัง ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล รวมถึงธุรกิจวาณิชธนกิจ เพื่อที่จะสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การปล่อยสินเชื่อของธนาคารให้กับลูกค้ารายใหญ่ รายได้ค่าธรรมเนียมในวาณิชธนกิจ ในส่วนของการควบรวมกิจการ (M&A) การเป็นผู้ประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ในส่วนของตราสารหนี้

นอกจากนี้ยังรวมถึงรายได้การบริหารความมั่งคั่ง รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริหารกองทุนรวม หรือแม้แต่รายได้จากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์จากนักลงทุนสถาบันในไทย ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KKP มองว่าเป็นจุดแข็งของกลุ่มมาโดยตลอด

สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจของ KKP ในปีนี้คือคาดยอดสินเชื่อเติบโตแค่ 3% ขณะที่ NPL คาดว่าจะลดลงจากปี 2023 ที่ผ่านมา รวมถึงอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROAE) กลับมาอยู่ที่เลข 2 หลัก หลังจากในปีนี้อยู่ที่ 9.2% เท่านั้น