Alibaba กำลังพิจารณาขาย InTime ธุรกิจห้างสรรพสินค้าที่ซื้อมาในปี 2017 และอาจเป็นการส่งสัญญาณปิดฉากกลยุทธ์ New Retail

อาลีบาบา (Alibaba) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของประเทศจีน กำลังพิจารณาตัดสินใจขาย InTime ธุรกิจห้างสรรพสินค้าที่บริษัทได้ซื้อมาในปี 2017 และยังเป็นการส่งสัญญาณปิดฉากกลยุทธ์ New Retail หลังจากที่บริษัทได้รุกหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สำนักข่าว Bloomberg รายงานข่าว โดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า Alibaba บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของประเทศจีน อาจตัดสินใจขาย InTime ธุรกิจห้างสรรพสินค้าที่บริษัทได้ซื้อมาในปี 2017 ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวตามมาจากการปรับโครงสร้างองค์กรของบริษัท

สื่อรายดังกล่าวได้รายงานว่า Alibaba ได้ติดต่อสถาบันการเงิน 2-3 แห่ง เพื่อจะหาผู้ที่สนใจซื้อกิจการ InTime และมีผู้สนใจรายหนึ่งเริ่มพูดคุยกับทางบริษัทเทคโนโลยีรายดังกล่าวแล้วเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยบริษัทได้พูดคุยถึงแผนการในการขายห้างสรรพสินค้าดังกล่าวมาสักพักแล้ว

Alibaba ได้ซื้อห้างสรรพสินค้า InTime ในปี 2017 ด้วยมูลค่ามากถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตัวเลขล่าสุดจากเว็บไซต์ของบริษัทนั้นห้างสรรพสินค้ารายดังกล่าวมีสาขามากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศจีน

และในปี 2020 หลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศจีน หนึ่งในผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศจีนรายนี้ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์โดยหันมาไลฟ์ขายสินค้าจนสามารถฟื้นยอดขายกลับมา หลังจากห้างต้องปิดตัวนานหลายสัปดาห์จากมาตรการล็อกดาวน์

In time Lotte department store in Beijing at night. (Photo by: Education Images/Universal Images Group via Getty Images)

การตัดสินใจขายห้างสรรพสินค้า InTime ยังอยู่ในแผนการของบริษัทในช่วงการปรับโครงสร้างที่มีการแยกธุรกิจของ Alibaba ออกมาเป็น 6 ธุรกิจหลักด้วยกัน และบริษัทต้องการที่จะโฟกัสไปยังธุรกิจหลักนั่นก็คือธุรกิจ E-commerce และธุรกิจ Cloud

นอกจากนี้การปรับโครงสร้างบริษัทและการพิจารณาในการขายห้างสรรพสินค้า InTime ยังแสดงให้เห็นถึงจุดจบของกลยุทธ์ New Retail ซึ่ง Alibaba ชูจุดเด่นมาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการค้าปลีกในการเชื่อมโลกออนไลน์เข้าสู่ออฟไลน์

ไม่เพียงแค่ห้างสรรพสินค้า InTime เท่านั้น Alibaba ได้ซื้อหรือแม้แต่ลงทุนใน Sun Art Retail หรือ เหอหม่า (Hema) ซึ่งเป็นธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงธุรกิจค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างซูหนิง (Suning) ด้วย ซึ่งกลยุทธ์ New Retail ในเวลานั้นเป็นโมเดลที่ทำให้คู่แข่งต้องลอกเลียนแบบมาแล้ว

แต่กลยุทธ์ดังกล่าวกลับส่งผลลัพธ์ที่ไม่ดีกับบริษัทในท้ายที่สุด เนื่องจากการเข้ามาปราบปรามและกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยี ทำให้กลยุทธ์ New Retail เป็นเหมือนการผูกขาดธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเวลาต่อมาผู้บริหาร Alibaba ได้พูดถึงกลยุทธ์ดังกล่าวลดลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดีในการขายกิจการ InTime ถือว่ามีความท้าทายไม่น้อย และอาจมีความเสี่ยงที่ Alibaba อาจไม่ได้เม็ดเงินมากเท่าที่ควร เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจจีนที่กำลังฟื้นตัว นอกจากนี้ยังรวมถึงปัญหาด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคซึ่งส่งผลทำให้การจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง ซึ่งส่งผลต่อมูลค่ากิจการห้างสรรพสินค้าด้วย