-
“พฤกษา โฮลดิ้ง” ลีนองค์กร-จัดระเบียบเสร็จตามเป้า ปี 2567 วางเป้ารายได้รวมเติบโต 8% เป็น 28,000 ล้านบาท กลุ่มรายได้ประจำเพิ่มสัดส่วนเป็น 9% ของรายได้รวม
-
กลุ่มธุรกิจที่อยู่อาศัยยังมุ่งหน้าในตลาด “กลางบน” จากสภาวะเศรษฐกิจยังอึมครึม ปีนี้เตรียมเปิดใหม่ 30 โครงการ 29,000 ล้านบาท “ครึ่งหนึ่ง” จะเป็นอสังหาฯ ระดับพรีเมียม
-
เครื่องยนต์หลักในกลุ่มรายได้ประจำอย่าง “รพ.วิมุต” ตั้งเป้าเติบโต 26% แผนระยะ 3 ปีเตรียมเปิด “เนอร์สซิงโฮม” เพิ่มเป็น 600 เตียง ก่อสร้างโรงพยาบาลสาขาใหม่อีก 2 สาขา
นับตั้งแต่กำเนิด “พฤกษา โฮลดิ้ง” ตั้งแต่ปี 2559 บริษัทนี้เริ่มวางทิศทางธุรกิจกระจายความเสี่ยงออกจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขายเพียงอย่างเดียว และดูเหมือนในปี 2567 การวางฐานใหม่มาอย่างต่อเนื่องจะเริ่มเห็นผลชัดเจน
“อุเทน โลหชิตพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อปี 2566 พฤกษา โฮลดิ้ง ทำรายได้ไป 26,132 ล้านบาท (ลดลง -9% จากปีก่อนหน้า) และทำกำไรสุทธิ 2,205 ล้านบาท (ลดลง -20% จากปีก่อนหน้า)
ขณะที่ปี 2567 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 8% มูลค่าเพิ่มเป็น 28,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนของธุรกิจ “กลุ่มรายได้ประจำ” (Recurring Income) จะเพิ่มเป็น 9% ของรายได้รวม
กลุ่มรายได้ประจำของพฤกษานั้นมีการวางฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีทั้งหมด 4 แกนหลัก ได้แก่
- กลุ่มเฮลท์แคร์ ได้แก่ โรงพยาบาลวิมุต, โรงพยาบาลเทพธารินทร์ และธุรกิจเนอร์สซิ่งโฮม (ร่วมทุน 25% กับ เค.พี.เอ็น ซีเนียร์ ฮอสพิตัล กรุ๊ป)
- กลุ่มอีคอมเมิร์ซ ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ซินเนอร์จี โกรท จำกัด ทำรายได้จากการเสนอสินค้าและบริการผ่านแอปพลิเคชัน MyHaus, แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ com และ บริการตกแต่งภายในจาก Zdecor
- กลุ่มธุรกิจใหม่ ได้แก่ อินโน พรีคาสท์ ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำ และ อินโน โฮม คอนสตรัคชั่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบ
- กลุ่มการลงทุนเพื่อขยายห่วงโซ่ธุรกิจ ได้แก่ การลงทุนในกองทุน CapitaLand SEA Logistics Fund เน้นด้านนวัตกรรมบริหารจัดการคลังสินค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ กองทุน CapitaLand Wellness Fund (C-Well) การลงทุนในอสังหาฯ ที่เน้นด้านการดูแลสุขภาพ
ปัจจุบันกลุ่มเฮลท์แคร์ยังถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่ทำรายได้ประจำให้กับพฤกษา แต่ในกลุ่มอื่นๆ อุเทนมองว่าจะเติบโตขึ้นเช่นกัน เช่น กลุ่มอีคอมเมิร์ซ ที่มีเป้าหมายรายได้ขึ้นไปแตะ 1,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี หรือ กลุ่มธุรกิจอินโน พรีคาสท์และอินโน โฮม คอนสตรัคชั่น ที่ขยายตัวรับผลิตพรีคาสท์และรับจ้างก่อสร้างนอกเครือพฤกษา เป็นโอกาสหารายได้ที่มากขึ้น
ทั้งนี้ พฤกษา โฮลดิ้ง วางเป้าในอนาคตจะผลักดันให้รายได้ประจำมีสัดส่วนขึ้นมาถึง 25% ในรายได้รวมของบริษัท
ปี 2566 “พฤกษา” ติดเบรกที่อยู่อาศัยเปิดใหม่อื้อ
เจาะลงไปในรายละเอียดธุรกิจหลักของพฤกษาคือกลุ่มที่อยู่อาศัย “ปิยะ ประยงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปี 2566 บริษัทมีการเปิดตัวโครงการเพียง 13 โครงการ มูลค่ารวม 14,200 ล้านบาท ทำยอดพรีเซลได้ 18,540 ล้านบาท และสร้างรายได้ 22,357 ล้านบาท (ลดลง -18% จากปีก่อนหน้า)
การเปิดตัวโครงการใหม่เมื่อปีก่อนยอมรับว่าต่ำกว่าเป้าต้นปีที่เคยตั้งไว้ 22 โครงการ มูลค่ารวม 23,500 ล้านบาท สาเหตุที่ไม่ถึงเป้าเพราะสภาพเศรษฐกิจเมื่อปีก่อนไม่เหมาะกับการเปิดตัวโครงการในระดับกลางล่าง ซึ่งทำให้พฤกษาระงับโครงการทาวน์เฮาส์กลุ่มราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทไปหลายแห่ง
โครงการที่ถูกระงับไปจะมีการนำมาประเมินและเปลี่ยนรูปแบบโครงการแล้วแต่ศักยภาพทำเล ในบางทำเลอาจจะขยับโปรดักส์ขึ้นเป็นกลุ่มบ้านแฝดหรือบ้านเดี่ยวได้ หรือบางทำเลอาจจะเปลี่ยนมาพัฒนาโปรดักส์แนวใหม่ ‘บ้านกรีนเฮ้าส์’ ทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น ราคา 1 ล้านต้นๆ ได้พื้นที่ใช้สอยกว้างกว่าคอนโดฯ มีที่ดิน แต่ปรับที่จอดรถเป็นที่จอดรวมเหมือนกับคอนโดฯ
อสังหาฯ ปี 2567 ยังต้องจับ “กลางบน” เป็นหลัก
ขณะที่แผนธุรกิจที่อยู่อาศัยพฤกษาปี 2567 กลับมาเติบโตต่อ โดยมีเป้าเปิดโครงการใหม่ 30 โครงการ มูลค่ารวม 29,000 ล้านบาท เป้ายอดพรีเซล 27,000 ล้านบาท และเป้ารับรู้รายได้ 25,500 ล้านบาท
ที่ผ่านมาในกลุ่มธุรกิจที่อยู่อาศัย พฤกษามีเป้าระยะยาวในการ ‘ลีน’ ตนเองมาโดยตลอด ลดการเปิดโครงการทับซ้อนทำเลและโปรดักส์ ทำให้มีโครงการในมือน้อยลง ซึ่งปิยะมองว่าปีนี้ถือเป็นปีที่พฤกษา ‘รีดไขมัน’ ออกจนอยู่ในระดับเหมาะสม เหลือโครงการระหว่างขาย 144 โครงการ มูลค่ารวม 62,900 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การเติมพอร์ตโครงการใหม่ยังคงยึดนโยบายเดิมคือ เน้นตลาด “กลางบน” เป็นหลัก
โดยการเปิดตัวใหม่ 30 โครงการปีนี้จะแบ่งเป็น ทาวน์เฮาส์ 17 โครงการ บ้านเดี่ยว 10 โครงการ และคอนโดมิเนียม 3 โครงการ ภาพรวม 50% ของโครงการเปิดใหม่จะเป็นสินค้า “พรีเมียม” หมายถึงทาวน์เฮาส์ราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป, บ้านเดี่ยวราคา 7 ล้านบาทขึ้นไป และคอนโดฯ ราคา 4 ล้านบาทขึ้นไป (*ดูรายละเอียดตามกราฟด้านล่าง)
เมื่อผสมรวมกับพอร์ตโครงการระหว่างขายที่มีอยู่เดิม จะทำให้พอร์ตสินค้าในมือที่พฤกษามีแบ่งได้ดังนี้
- 30% กลุ่มราคามากกว่า 7 ล้านบาท
- 30% กลุ่มราคา 3-7 ล้านบาท
- 40% เป็นกลุ่มต่ำกว่า 3 ล้านบาท
สัดส่วนนี้ปิยะมองว่าเป็นพอร์ต “สุขภาพดี” ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ต่างจากเมื่อ 5 ปีก่อนที่พฤกษามีสินค้าราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทถึง 70% ของพอร์ต
“รพ.วิมุต” เปิดใหม่อีก 2 แห่งที่ “ปิ่นเกล้า” “ทองหล่อ”
ด้านธุรกิจสร้างรายได้ประจำอย่างโรงพยาบาล “นายแพทย์พิชิต กังวลกิจ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด ประกาศรายได้ปี 2566 ทำได้ 1,820 ล้านบาท เติบโต 50% และมีผู้ป่วยกลุ่ม non-COVID เพิ่มขึ้น 49%
ปี 2567 บริษัทมีเป้าเพิ่มรายได้อีก 26% มูลค่าเพิ่มเป็น 2,300 ล้านบาท พร้อมตั้งงบลงทุน 3,500 ล้านบาทเพื่อลงทุนสร้าง “เนอร์สซิ่งโฮม” เพิ่มอีก 2 แห่งที่วัชรพลและแบริ่ง ซึ่งจะทำให้มีเตียงสะสม 240 เตียง, เพิ่มจำนวนเตียง รพ.วิมุต พหลโยธิน เป็น 150 เตียง และการรีแบรนด์รพ.เทพธารินทร์เป็น “รพ.วิมุต เทพธารินทร์”
ขณะที่แผนระยะยาวของกลุ่มวิมุต มีแผนจะเปิดโรงพยาบาลวิมุตใหม่เพิ่ม 2 แห่ง คือ รพ.วิมุต ปิ่นเกล้า จำนวน 59 เตียง และ รพ.วิมุต ทองหล่อ ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ รวมถึงจะลงทุนธุรกิจเนอร์สซิ่งโฮมต่อเนื่องให้ครบ 600 เตียงภายใน 3 ปี
- สรุปตลาดอสังหาฯ ปี 2566 ปีแห่งการขายที่อยู่อาศัย “ระดับบน” หนีความท้าทายในตลาดกลางล่าง
- ทศวรรษที่ 3 ของ “เอสซี แอสเสท” มุ่งขยายพอร์ต “รายได้ประจำ” ปี 2567 ระวังการลงทุน-เศรษฐกิจไม่เอื้อ
ต้องติดตามต่อว่ากลุ่มพฤกษาจะเป็นอย่างไรหลังจากจัดโครงสร้างองค์กรเรียบร้อย ได้เวลาเดินหน้าปั๊มรายได้จากทุกเครื่องยนต์ที่มีในปีนี้!