#dupe ค่านิยมใหม่วัยรุ่น “Gen Z” นิยมซื้อของ “เทียบแท้” ไม่รู้สึกผิดที่ใช้ของเลียนแบบ

#dupe
กระแสใหม่ในกลุ่มวัยรุ่น “Gen Z” อเมริกันไม่รู้สึกผิดกับการใช้ของลอกเลียนแบบ และภูมิใจกับการหาของ “เทียบแท้” หรือ #dupe มาใช้ได้สำเร็จ กระแสนี้จุดติดได้อย่างไร และแบรนด์ควรมองมุมไหนกับปรากฏการณ์นี้?

#dupe คืออะไร?

  • #dupe ศัพท์ใหม่วัยรุ่นคำนี้หมายถึงสินค้าตัวหนึ่งที่เป็น “คู่แฝด” กับสินค้ายี่ห้อดัง แต่มาในราคาถูกกว่า พูดง่ายๆ คือสินค้าเลียนแบบ
  • สินค้าส่วนใหญ่ที่ถูก #dupe มักจะไม่ใช่แบรนด์เนมลักชัวรีแต่เป็นแบรนด์ระดับกลางๆ ซึ่งอาจจะมีทั้งการทำมาให้คล้ายคลึง หรือตัวที่ตั้งใจทำให้เป๊ะแบบแยกแทบไม่ได้ (ยกเว้นการปั๊มตราโลโก้ที่ไม่เหมือน เพราะจะเสี่ยงละเมิดเครื่องหมายการค้า)
  • ประเภทสินค้าที่ #dupe กันก็หลากหลาย มีตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องสำอาง น้ำหอม เครื่องประดับ ของใช้ทั่วไป ฯลฯ อะไรก็ได้ที่กำลังฮิต
#dupe
ตัวอย่างการ #dupe แบบทำสินค้าเครื่องสำอางมาคล้ายคลึง และรีวิวว่าใช้แทนกันได้

TikTok จุดกระแสในกลุ่ม Gen Z

  • จากกระแสสุดฮิตนี้ “Gen Z” เป็นกลุ่มที่เห็นได้ชัดว่าชอบการซื้อของเลียนแบบที่สุด อ้างอิงจาก “YouGov” มีการสำรวจเจาะกระแส #dupe ในแต่ละกลุ่มเจนเนอเรชันของคนอเมริกัน พบว่า คน Gen Z (18-26 ปี) 71% ตอบว่าซื้อของเลียนแบบบ้างหรือซื้อเป็นประจำ ถือเป็นเจนที่ซื้อของเลียนแบบเป็นประจำมากที่สุดในทุกเจน
  • ในกลุ่มคน Gen Z กลุ่มนี้มี 61% ที่ตอบว่าใช้ TikTok เป็นแหล่งค้นหาของเลียนแบบ เห็นได้ว่านี่คือแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลมากกับกระแสนี้
  • ใน TikTok ผู้ใช้มักจะหาของ #dupe มาเปรียบเทียบให้เห็นกันจะๆ ว่าเหมือนมาก คุณภาพดีแบบใช้แทนกันได้ แต่ราคาถูกกว่าเกินครึ่ง
  • ส่วนแหล่งซัพพลายของเทียบแท้พวกนี้ก็หาได้ง่ายๆ ผ่านยักษ์อีคอมเมิร์ซ “Amazon” และแพลตฟอร์มขายเสื้อผ้า “Shein” ที่วัยรุ่นกำลังฮิตซื้อกัน หรือบางทีก็ขายผ่าน “TikTok Shop” จบครบในที่เดียว
  • เมื่อใครๆ ก็รีวิวใช้ของเทียบแท้กันโจ่งแจ้ง ทำให้วัยรุ่นเริ่มมีทัศนคติใหม่ว่าของพวกนี้ใช้ได้เปิดเผย ไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร และรู้สึก ‘เจ๋ง’ ที่หาของแทนกันได้โดยไม่ต้องจ่ายแพง ต่างจากสมัยก่อนที่คนใช้ ‘ของก๊อป’ จะถือว่าน่าอาย ทำให้ต้องแอบซ่อนไม่ให้ใครจับได้
#dupe
ของเลียนแบบหาได้ในราคาถูกกว่ามาก

ประหยัดเงิน + ได้ทดลองใช้ของเทียบแท้ก่อนว่าชอบไหม

  • บริษัทวิจัย Morning Consult มีการสำรวจกระแส #dupe เหมือนกัน โดยพบว่า 67% ของคนที่ซื้อของเลียนแบบบอกเหตุผลว่าซื้อเพราะ “อยากประหยัดเงิน”
  • แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ซื้อของก๊อปเพราะถูกกว่า เหตุผลรองลงมาที่ทำให้คนซื้อเพราะ “อยากลองใช้ดูก่อน” มุมคิดของ Gen Z ในเรื่องนี้คือการซื้อ #dupe เป็นการเสียเงินน้อยกว่าเพื่อซื้อของมาลองก่อนว่าจะชอบสินค้าตัวนี้ไหม ใช้ไปนานๆ จะเบื่อไหม ถ้าชอบจริงต่อไปก็มีโอกาสขยับไปซื้อของแท้ได้

 

แบรนด์ (ยัง) ไม่เครียด เพราะลูกค้าคนละกลุ่มเป้าหมาย

  • จากผลสำรวจข้างต้นบอกได้ว่า คนซื้อของเลียนแบบส่วนใหญ่มักจะ ‘ไม่ใช่เป้าหมาย’ ของแบรนด์อยู่แล้ว เพราะพวกเขาไม่ต้องการจ่ายมากกว่าเพื่อให้ได้แบรนด์มาครอบครอง
  • ในทางกลับกัน Morning Consult กลับมองเรื่องนี้เป็นเรื่องดีต่อแบรนด์ด้วย เพราะยิ่งมีคนพยายาม #dupe แบรนด์หนึ่งเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการโฆษณาว่ายี่ห้อนี้หรือสินค้านี้เป็นตัวดังที่คนอยากจะเลียนแบบ
  • รวมถึงบางแบรนด์ยังเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส แทนที่จะไล่ฟ้องของเลียนแบบ แบรนด์เหล่านี้เลือกเล่นกับกระแส โฆษณาแบรนด์เพื่อให้คนมาลองใช้ของแท้ดีกว่า
  • ตัวอย่างเช่น “Lululemon” แบรนด์ขายเสื้อผ้าโยคะที่ถูกเลียนแบบสินค้าหนักมาก จนออกไอเดียทำอีเวนต์ “Dupe Swap” 2 วันในลอสแอนเจลิส ให้คนนำกางเกงเลกกิ้งที่เลียนแบบแบรนด์มา “แลกฟรี” เลกกิ้งของแท้จาก Lululemon ไปได้เลย เป้าหมายเพื่อให้คนที่เคยซื้อของปลอมได้ “สัมผัสความแตกต่าง” จากของแท้
แคมเปญของ Lululemon ให้นำเลกกิ้งของปลอมมาแลกรับของจริงไปใช้ฟรี
  • อีกหนึ่งตัวอย่างคือ “Olaplex” เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์เส้นผมชื่อดังที่เจอของเลียนแบบมามาก แบรนด์จึงแอบทำแคมเปญส่งสินค้าชื่อ “Oladupé” ไปให้อินฟลูฯ รีวิวลง TikTok ว่าเป็นของ #dupe ที่เหมือน Olaplex มาก ก่อนจะเฉลยทีหลังว่าของในขวดก็คือ Olaplex นั่นแหละ แค่เปลี่ยนฉลากมา ‘อำเล่น’ เฉยๆ ผลจากแคมเปญนี้คือ Olaplex ตัวจริงได้ยอดรีชไปสูงมาก
แคมเปญอำเล่น สร้างของเลียนแบบตัวเองขึ้นมาของแบรนด์ Olaplex
  • สรุปคือ กระแสในหมู่ Gen Z ที่ชอบซื้อของเลียนแบบอาจจะยังไม่ใช่เรื่องน่ากังวลต่อแบรนด์มากนัก แต่แบรนด์ก็ต้องหาทางโฆษณาให้คนรุ่นนี้เปลี่ยนใจมาซื้อของแท้ในอนาคต…เมื่อพวกเขามีกำลังซื้อสูงขึ้น

 

ที่มา: Business Insider

อ่านบทความอื่นๆ