“HACK ใจ” แฮกกาธอนด้านสุขภาพจิตครั้งแรกในไทย สร้าง 8 นวัตกรรมฮีลใจ Thai PBS และภาคีฯ เตรียมผลักดันสู่ระดับนโยบาย


ในยุคปัจจุบันนี้ “สุขภาพจิต” กลายเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลาย และถูกให้ความสำคัญไม่แพ้สุขภาพกายเลยทีเดียว การดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแรงก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนไม่ควรมองข้ามไปเลยเช่นกัน เพราะในยุคนี้คนไทยมีปัญหาด้านสุขภาพจิตกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ไม่แก้ปัญหา อาจจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยากเกินเยียวยา

สถานการณ์ด้านสุขภาพจิตในประเทศไทยถือว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ก็พบว่าคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นเรื่อยๆ มีการประเมินตัวเลขว่าในปี 2566 มีผู้ป่วยสูงถึง 4.4 ล้านราย เพิ่มขึ้นจาก 2.5 ล้านคนในปี 2565 โดยสาเหตุหลักของปัญหาสุขภาพจิตนั้นมีหลายปัจจัย ทั้งจากสภาพแวดล้อม ความเครียด ความกังวลต่างๆ

เพราะสุขภาพจิต ไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือมียารักษา เหมือนสุขภาพกาย… การจะป้องกัน หรือรักษาการป่วยทางจิตได้อย่างไร จึงเป็นประเด็นที่หลายภาคส่วนต้องพูดกันมากขึ้น

หลายคนอาจจะเคยเห็นโครงการแฮกกาธอนกันมาบ้างแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมในการระดมสมอง ระดมไอเดียใหม่ๆ สำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพ ในการต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ๆ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้คนมีไอเดียตัวเล็กๆ ได้ปล่อยของ

ล่าสุด ประเทศไทยได้มีโครงการแฮกกาธอนด้านสุขภาพจิตเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในชื่อว่าHACK ใจ – เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน”ระดมสมองหาไอเดีย สร้างนวัตกรรมตอบ 8 โจทย์ ฮีลใจ  ให้เป็นพื้นที่สร้างพลังใจ นำไปสู่การต่อยอดนโยบายขยายสู่ระดับประเทศ

งานนี้องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ได้จับมือร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP Thailand) และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “HACK ใจ – เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน” ขึ้น  เพื่อระดมสมองหาไอเดียกันแบบเข้มข้น  ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 วัน เมื่อวันที่ 29 ก.พ. – 2 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา กับโจทย์ที่ท้าทาย 8 โจทย์ จาก 8 กลุ่มผู้เข้าร่วมจากทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต

เหตุผลที่ทางไทยพีบีเอสจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมานั้น “รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท” เริ่มเล่าว่า

“ไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะ ให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาวะทางจิต และสุขภาพใจ เราไม่อยากทำหน้าที่เพียงรายงานข่าว เมื่อเกิดเหตุเศร้าสลดใจในสังคมเท่านั้น แต่เราอยากมีส่วนช่วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคม เป็นตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) ให้สังคมมีความแข็งแรง ดังนั้น การจัดกิจกรรมวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากในการสร้างความเข้มแข็งสร้างพลังใจ ไม่ใช่ประเด็นเฉพาะทางการแพทย์เมื่อเจ็บป่วยแล้วเท่านั้น เชื่อมั่นว่า การระดมสมองของเหล่านักแฮกจากหลากหลายวงการในกิจกรรมครั้งนี้  จะสามารถสร้างนวัตกรรมที่จะไปตอบโจทย์สุขภาวะทางจิตได้  เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน”

ในที่สุดก็ได้ 8 ไอเดีย 8 นวัตกรรมที่ช่วยดูแลปกป้องสุขภาพจิตคนไทย โดยส่วนใหญ่เน้นการเข้าถึงระบบส่งเสริม และป้องกันก่อนการป่วย โดยหลังจากที่เสร็จสิ้นกิจกรรมแล้ว ไทยพีบีเอสเตรียมผลักดัน 8 นวัตกรรมนี้ให้เกิดผลลัพธ์ได้จริง ต่อยอดไปสู่ระดับนโยบายให้ได้เห็นผลจริง ประกอบไปด้วย

  1. ใจฟู Community – นวัตกรรมระบบบริการสุขภาพจิตไทย (Innovation) เจ้าของโจทย์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน)

โมเดลการใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ สร้างสุขภาพใจที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมจาก NIA โดยมี ใจฟู Creator ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นสุขภาพจิตกระจายอยู่ทั่วประเทศ ดำเนินงานให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพใจ เช่น การจัดนิทรรศการให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป และระบบที่ 2 คือการดึง influencer เป็นกาวใจในการพูดเรื่องสุขภาพจิต ระบบที่ 3 ใช้บ้าน วัด โรงเรียน เป็นแกนนำสร้างชมรวมส่งเสริมสุขภาพจิต และระบบที่ 4 คือ กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่ผ่านการรักษาเป็นแรงบันดาลใจเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จนในท้ายที่สุดเกิด ecosystem ที่ดีทางสุขภาพจิต ให้เป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคมไทยให้ได้

  1. ฟังกันก๊อนนน – องค์กรส่งเสริมความสุข และสุขภาวะทางจิต (Happy Work) เจ้าของโจทย์ Food passion  

ในปัจจุบันสถานที่ทำงานก็ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยทางจิตใจได้ ในแต่ละองค์กรมีความแตกต่างที่ต่างกัน จึงจำเป็นต้องแผนงานต้องมีการสร้างแบบประเมินเกณฑ์ ความเครียดของพนักงานในองค์กร โดยในแบบสำรวจระบุว่าปัจจัยอะไรที่เข้าถึงความเครียด เช่น หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน การทำงาน ลักษณะงาน ครอบครัว การเงิน ฯลฯ และเพื่อให้ได้ข้อมูลในการช่วยแก้ปัญหา มีการสร้างหลักสูตรพื้นฐานในการดูแลสุขภาพใจกันและกัน ฟังกัน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหา และในแผนระยะยาว คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยพร้อมรับฟังด้วยหัวใจ จนออกมาเป็นนโนบายในการแก้ปัญหา เช่น ที่ปรึกษาด้านการเงินเพื่อลดปัญหาความเครียดจากภาวะทางเศรษฐกิจ

  1. ศูนย์ฝึกและอบรมแห่งการเปลี่ยนแปลง นวัตกรรมระบบสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด (Justice System) เจ้าของโจทย์กรมพินิจ และคุ้มครองเด็ก และเยาวชน

ศูนย์ฝึกและอบรมแห่งการเปลี่ยนแปลง จะขับเคลื่อนใน 3 ส่วน คือ การฝึกฝนอบรมเจ้าหน้าที่โดยใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการรับฟังเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมรุนแรง, ระยะที่ 2 มีระบบการแก้ไขที่เฉพาะเจาะจงในการดูแลเด็กที่มีความยุ่งยากซับซ้อนและรุนแรง และระยะสุดท้ายขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่ไม่ใช่แค่เชิงระบบกับบุคลากรอย่างเดียว แต่ไปถึงเชิงโครงสร้างของตัวศูนย์แห่งนี้ให้มีความมั่นคงปลอดภัย

  1. Happy Hub – Digital Economy สุขภาพใจวัยทำงานแห่งอนาคต เจ้าของโจทย์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ใช้นวัตกรรมสร้างพื้นที่ Sandbox เพื่อรวมภาคีฯ สร้าง Happy Hub ของคนทำงาน เพื่อเก็บข้อมูลผลสัมฤทธิ์จากการทดลองลดกฎ เพิ่มเกณฑ์ ที่ปิดกั้นอิสระและความสุขของคนทำงานออกไป เพิ่มเกณฑ์เพื่อการันตีมาตรฐานสุขภาพใจวัยทำงานแห่งอนาคต ผ่านการสนับสนุนจากองค์กรที่ทำงานด้านสุขภาพจิต ขยายจนเกิดเป็นเครือข่ายองค์กร แลกเปลี่ยนรูปแบบการทำงานซึ่งกันและกัน

  1. อุ่นใจ เตือนภัยมิจจี้ – พลังของเทคโนโลยีการสื่อสารต่อสุขภาพจิตสังคมไทย (Communication) เจ้าของโจทย์ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS 

นวัตกรรมป้องกันการถูกหลอกในโลกออนไลน์ จนนำมาสู่ความเครียด ฆ่าตัวตาย โดยมีแกนนำหลักอย่าง AIS ร่วมมือกับตำรวจไซเบอร์ ให้การให้ภูมิคุ้มกัน ระบบแจ้งเตือนเบอร์น่าสงสัยที่โทรเข้ามา ศูนย์กลางในการรับแจ้งคดีความถูกหลอกในออนไลน์ มีระบบให้คำปรึกษาเยียวยาจิตใจ และให้คำแนะนำเรื่องการจัดการการเงินหลังถูกหลอก

  1. Hack Jai Insurance – ระบบประกันสุขภาพจิตที่ครอบคลุมสำหรับคนไทย (Insurance) เจ้าของโจทย์ กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)

จากข้อมูลพบว่า 46.2% ของผู้เข้ารับการรักษาสุขภาพจิต เคยหยุดการรักษากลางคันเหตุเพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยกรุงเทพประกันภัยหนึ่งในธุรกิจประกันภัยที่เข้าร่วมการ Hack ในครั้งนี้ นำเสนอว่า ในอนาคตจะร่วมกับกรมสุขภาพจิตในการรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจให้คนไทยห่างไกลจากภาวะซึมเศร้าโดยมุ่งหวังให้สังคมช่วยดูแลประคับประคองอย่างยั่งยืน ขณะที่ไตรมาสที่ 2 บริษัทจะขยายความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันสุขภาพมาตรฐาน โดยเพิ่มการให้บริการตรวจรักษาของโรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะทางจิตใจหรือจิตเวช และไตรมาสที่ 4 บริษัทและภาคีฯ จะมีการให้บริการคำปรึกษาและรักษาโรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะทางจิตใจผ่านระบบ Telemedicine Service ซึ่งในระยะแรกสำคัญที่สุดคือการเข้าถึงฐานข้อมูลด้านสุขภาพจิตในธุรกิจประกันภัย รู้ความเสี่ยง ปริมาณของผู้คน เป็นฐานข้อมูลเพื่อแบ่งปันให้กับบริษัทประกันภัยอื่น ๆ ในการขยายผลครอบคลุม คุ้มครองระบบสุขภาพจิตคนไทย

  1. Hero Protecter – เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์สุขภาพจิตคนไทย (Law Enforcer) เจ้าของโจทย์ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

“ข้าราชการตำรวจมีสุขภาวะทางจิตที่ดี ดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ” ผ่านการใช้นวัตกรรมนำจิตวิทยาเชิงบวกมาปรับใช้  โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) แผนการปฏิบัติงานระยะสั้น Hero Protecter Club House ที่มีภาคีฯ ด้านสุขภาวะจิต ร่วมจัดกระบวนการเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ระบายความรู้สึก ขยายผลโมเดลไปยังตำรวจหน่วยอื่นๆ โดยตัวชี้วัดและการประเมินผล ได้แก่ ดัชนีชี้วัดความสุขก่อนและหลังการร่วมกิจกรรม และความต่อเนื่องในการเข้าร่วมกิจกรรมระยะแรก

  1. พื้นที่เมืองแห่งความสุข – Smiling Cities จากเจ้าของโจทย์ Urban Planning – Future Tales Lab by MQDC 

การพัฒนารูปแบบเมืองที่ใช้นวัตกรรมทำให้ผู้คนในเมืองรู้สึก ปลอดภัย ผ่าน Urban Data Platform ระบบการป้องกันภัยล่วงหน้า ป้องกันภัยพิบัติเหตุอาชญากรรม รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในเมืองทั้งกาย และจิต สวยงามน่าอยู่ ออกแบบหลักสูตรคำแนะนำ ในการส่งเสริมเมืองที่คำนึงถึงสุขภาพจิตต้องเป็นอย่างไร เพื่อส่งต่อให้กับ กทม.และ อปท. ปรับปรุงพื้นที่ให้สวยงาม สร้างให้เกิดเมืองที่รองรับคนทุกกลุ่ม ส่งเสริมสุขภาพจิต ร่วมกับหน่วยงานด้านสุขภาพจิตสร้างพื้นที่บริการสุขภาพจิตส่งเสริม Mental Health Literacy ให้ทุกคนเข้าถึงพื้นที่ และบริการสุขภาพจิตได้อย่างทั่วถึง โดยระยะสั้น วางแผนสร้างแพลตฟอร์มทดลองพื้นที่นำร่อง ระยะกลาง 3-5 ปี กระจายโหนดขยายเครือข่าย และระยะสุดท้าย 6-10 ปี ขยายผลทุกพื้นที่ในเมือง นำไปสู่การปรับแก้กฎหมาย

จากกิจกรรม HACK ใจ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นำไปสู่ 8 นวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนโลกได้อย่างแน่นอน ช่วยสร้างความมั่นใจว่าเรื่องของสุขภาวะทางจิต มีทางออก มีรูปธรรม เพื่อนำไปสื่อสารให้เกิดผลสะเทือนกับสังคม ซึ่งแต่ละประเด็นมีผู้เชี่ยวชาญที่นำไปสานต่อได้ในทันที ส่วนไทยพีบีเอสไม่พลาดที่จะหยิบยก 8 ประเด็นนี้ไปสื่อสารต่อแก่คนไทย เพื่อผลักดันต่อในเชิงนโยบาย และให้เห็นผลเป็นรูปธรรม สร้างสุขภาวะทางจิตในสังคมให้มีความแข็งแรง

สามารถติดตามรับชมย้อนหลังได้ทาง Facebook และ YouTube : ThaiPBS และ The Active  

สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่ 

▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X (Twitter), LINE, TikTok, Instagram

▪ Website : www.thaipbs.or.th

▪ Application : Thai PBS