‘วินด์ เอนเนอร์ยี่’ เผยคดีความระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันเริ่มนิ่งแล้ว ชี้ไม่กระทบการดำเนินงานของบริษัทแต่อย่างใด

ผู้บริหารของ ‘วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง’ ได้กล่าวถึงในช่วงที่ผ่านคดีความที่เป็นข่าวดังนั้นเป็นเรื่องระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกัน และหลายคดีเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นไม่กระทบการดำเนินงานของบริษัทแต่อย่างใด

‘วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง’ (WEH) ได้เปิดเผยโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท และบริษัทยังได้ชี้ถึงข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นบริษัทนั้นเริ่มนิ่งหมดแล้ว และไม่กระทบกับการดำเนินงานของบริษัท ขณะเดียวกันหุ้นของบริษัทที่มีการโอนหุ้นระหว่างผู้ถือหุ้นทุกฉบับถือว่าชอบด้วยกฎหมาย

ณัฏฐ์ธฤต อยู่ดี ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ได้กล่าวถึงโครงสร้างของผู้ถือหุ้น WEH นั้นแยกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน

  • ผู้ถือหุ้น WEH กลุ่มแรก มีสัดส่วน 59.46% เดิมถือครองโดยบริษัท REC ของกลุ่มนายนพพร ศุภพิพัฒน์ เปลี่ยนมือมาเป็นบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KPNET ในปี 2558 และเปลี่ยนมือมายัง นายเกษม ณรงค์เดช ในปี 2559 และปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา) ถือครองโดยบริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด (GML) สัดส่วน 37.87% นายประเดช กิตติอิสรานนท์ สัดส่วน 11.81% กลุ่มอดีตผู้บริหารของ บริษัทฯ สัดส่วน 3.75% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 36 ราย รวมเป็นสัดส่วน 6.03% ซึ่งกลุ่มนี้เราจะเห็นเป็นข่าวบนหน้าสื่อบ่อยครั้ง
  • ผู้ถือหุ้น WEH กลุ่มที่สอง มีสัดส่วน 40.54% เดิมถือครองโดยกลุ่มกิตติอิสรานนท์ มีการเปลี่ยนมือกันตามปกติ ไม่มีข้อพิพาทใดๆ ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา) ถือครองโดยบริษัท ธนา พาวเวอร์ วัน จำกัด สัดส่วน 26.65% บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 7.12% บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 3.87% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 91 ราย ถือหุ้นรวมเป็นสัดส่วน 2.90%

ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ WEH กล่าวว่า ยอมรับว่าข้อพิพาทของบุคคลภายนอก ที่พาดพิงถึงบริษัทฯ อยู่บ่อยครั้ง เป็นข่าวใหญ่มาตลอด เพราะเป็นเรื่องของบุคคลผู้มีชื่อเสียง แต่เป็นประเด็นพาดพิงเฉพาะหุ้นกลุ่มที่ 1 เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ และไม่เกี่ยวข้องการดำเนินการหรือมีผลผูกพันใดๆ กับบริษัทฯ

โดยบริษัทได้ติดตามเหตุการณ์ข้อพิพาทของบุคคลภายนอกที่พาดพิงบริษัทฯ ทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มเหตุการณ์ และประเมินผลกระทบเป็นระยะ ขณะนี้ภาพรวมทุกกลุ่มเหตุการณ์นิ่งหมดแล้ว และไม่มีผลกระทบกับบริษัทฯ มีเพียงคำสั่งศาลให้ปฏิบัติตามในฐานะนายทะเบียนบ้างเท่านั้น โดยมีรายละเอียดกลุ่มเหตุการณ์ข้อพิพาทบุคคลภายนอก ต่อหุ้นกลุ่มที่ 1 ดังนี้

  • กลุ่มเหตุการณ์ที่ 1 ข้อพิพาทบุคคลภายนอก เรื่องการชำระเงินซื้อขายบริษัท REC โดยระหว่างปี 2558 – 2560 กลุ่มนายนพพรได้ขายบริษัท REC (ถือครองหุ้น WEH 59.46%) ให้กับกลุ่มนายณพ ณรงค์เดช และเปลี่ยนชื่อจาก REC เป็น KPNET แต่เกิดข้อพิพาทการชำระเงินซื้อขาย REC นำไปสู่คดีความระหว่าง 2 ฝ่าย ในฮ่องกง สิงคโปร์ อังกฤษ และไทย
  • กลุ่มเหตุการณ์ที่ 2 ข้อพิพาทบุคคลภายนอก คดีแพ่งและคดีอาญา ที่นายเกษม ณรงค์เดช เป็นโจทก์ในคดีแพ่ง และโจทก์ร่วมในคดีอาญา ฟ้องบุคคลภายนอกอื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ
    • คดีแพ่งที่ยังมีผลอยู่ปัจจุบัน คือ คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.978/2565 ที่นายกฤษณ์ ณรงค์เดช และนายกรณ์ ณรงค์เดช เป็นโจทก์ร่วมยื่นฟ้องเรียกหุ้น WEH คืนจาก GML จำนวน 31 ล้านหุ้น สถานะปัจจุบันนั้นศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอน และให้อายัดเงินปันผลหุ้น WEH ที่ GML ถือครองอยู่ 37.87% ทั้งหมด โดยศาลสั่งให้บริษัทฯ นำเงินปันผลทั้งหมดของ GML ไปวางไว้ที่ศาลตามคำสั่งคุ้มครองจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จนถึงปัจจุบันบริษัทฯ นำเงินปันผลส่วนนี้ไปวางไว้ที่ศาลแล้วรวมประมาณ 2,700 ล้านบาท
    • คดีสุดท้ายของกลุ่มนี้ คือ คดีอาญา ที่อัยการและนายเกษม เป็นโจทก์ร่วม ฟ้องคดีความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสาร คดีหมายเลขดำที่ อ.1708/2564 (หมายเลขแดงที่ อ.1753/2566) โดยยื่นฟ้องในปี 2564
      สถานะปัจจุบันศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยทั้งหมด แต่มีคำพิพากษาว่าลายเซ็นนายเกษมในเอกสาร 5 รายการ เป็นลายเซ็นปลอม จึงมีคำสั่งให้ริบเอกสารทั้ง 5 รายการ โดยมีเอกสารรายการเดียวเท่านั้น ที่กล่าวถึงบริษัทฯ คือ สัญญาซื้อขายหุ้น WEH ระหว่างนายเกษม กับ KPNET เป็นสัญญาระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นเอกสารคนละฉบับกับตราสารการโอนหุ้น ไม่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นการโอนหุ้นระหว่างนายเกษม กับ KPNET จึงมีผลสมบูรณ์ด้วยกฎหมาย
  • กลุ่มเหตุการณ์ที่ 3 ข้อพิพาทบุคคลภายนอก โดย KPNET อาศัยคำพิพากษาคดีอาญาปลอมแปลงเอกสาร หมายเลขแดงที่ อ.1753/2566 เพื่ออ้างตัวเป็นผู้ถือหุ้น WEH สำหรับ KPNET สถานะปัจจุบันเป็นบุคคลภายนอก ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัทฯ เพราะไม่มีรายชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น และในบอจ.5 แต่หลังคำตัดสินคดีอาญาปลอมเอกสาร KPNET ได้อาศัยคำพิพากษาคดีดังกล่าว อ้างตัวเป็นผู้ถือหุ้น WEH และไปจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น WEH เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการคัดค้านต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ขณะที่กรณีของผู้ถือหุ้นกลุ่มที่ 2 สัดส่วน 40.54% ในกรณี บมจ. ณุศาศิริ หรือ NUSA ถือครองในสัดส่วน 7.12% ได้มาจากการซื้อขายชำระเงินโดยวิธีการแลกหุ้น (Share Swap) จากผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ในกลุ่มที่ 2 ซึ่งไม่ได้มีปัญหาใดๆ การทำธุรกรรมสมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมาย บริษัทฯ จึงไม่มีความหนักใจใดๆ ในคดีที่ NUSA ยื่นต่อศาลขอเพิกถอนธุรกรรมแลกหุ้นทั้งหมด เพราะ NUSA ไปอ้างคำตัดสินคดีอาญา(คดีปลอมเอกสาร) ของหุ้นกลุ่มที่ 1 ที่ไม่เกี่ยวข้องกันแม้แต่น้อย ซึ่งข้อเท็จจริง และเอกสารหลักฐานทั้งหมดมีความชัดเจนในตัวเอง พร้อมนำเสนอต่อศาลอยู่แล้ว

ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ WEH ยังกล่าวว่า สำหรับกรณีการแต่งตั้งบอร์ดบริหารของบริษัทยังสามารถแต่งตั้งได้ เนื่องจากมีเสียงของผู้ถือหุ้นในการแต่งตั้งบอร์ดรวมกันเกิน 51%

ขณะที่ ณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ WEH ได้กล่าวว่า บริษัทยังมีการดำเนินงานปกติ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาปัญหานั้นเป็นปัญหาของผู้ถือหุ้นบริษัท โดยรายได้ในปีที่ผ่านมาเขากล่าวว่าอยู่ที่ราวๆ 10,000 ล้านบาท และมีกำไรอยู่ราวๆ 5,000 ล้านบาท

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ WEH ยังกล่าวว่า ในการขยายโครงการพลังงานลม หรือแม้แต่พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติมนั้นบริษัทจะใช้กระแสเงินสด รวมถึงกำไรของบริษัทในการลงทุนต่อไป