“LPP” พัฒนานวัตกรรมลดจำนวนพนักงาน “นิติบุคคล” ต่อโครงการ แก้ปัญหาคอนโดฯ เล็กค่าส่วนกลางบวม

LPP
“สมศรี เตชะไกรศรี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด หรือ LPP
“LPP” ผู้ทำธุรกิจหลักรับจ้างบริหาร “นิติบุคคล” วางเป้าเติบโตแตะ 350 โครงการภายในปี 2569 ล่าสุดอยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อทำให้จำนวนพนักงานนิติฯ ต่อหนึ่งโครงการลดลง แก้ปัญหาค่าส่วนกลางคอนโดฯ ไซส์เล็ก

บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด หรือ LPP บริษัทลูกของ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอป    เมนท์ จ่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เร็วๆ นี้ โดยวางแผนจะยื่นไฟลิ่งภายในเดือนเมษายน 2567 ทำให้ช่วงนี้ LPP ต้องเปิดตัวต่อสาธารณะมากขึ้นถึงแผนงานที่บริษัทวางไว้ว่าจะเติบโตอย่างไรในอนาคต

“สมศรี เตชะไกรศรี” กรรมการผู้จัดการของ LPP แจกแจงโครงสร้างรายได้ปัจจุบันของ LPP สัดส่วน 65% มาจากธุรกิจบริหารชุมชนหรือก็คือ “นิติบุคคล” ที่เป็นฐานธุรกิจหลักของบริษัท อีก 20% มาจากธุรกิจบริการวิศวกรรม และ 15% มาจากธุรกิจบริการ รปภ. และแม่บ้าน

นอกจากนี้ บริษัทยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่เริ่มกรุยทางเมื่อปี 2566 เช่น รับสัมปทานบริหารหอพัก บริหารงานขายและการตลาด (sole agent) เพื่อสร้างฐานรายได้ให้หลากหลาย

LPP
เป้าหมายการเติบโตรายได้ LPP

สมศรีเปิดเผยเป้าหมายรายได้ของบริษัทในปี 2567 ตั้งเป้าไว้ที่ 1,880 ล้านบาท เติบโต 20% จากปีก่อนหน้า และต้องการผลักดันรายได้ LPP ให้โตต่อเนื่อง จนถึงปี 2569 คาดจะทำรายได้แตะ 2,545 ล้านบาท

โดยธุรกิจหลักของบริษัทคือการบริหารนิติบุคคล ณ สิ้นปี 2566 รับบริหารอยู่ 261 โครงการ รวมลูกบ้านกว่า 4 แสนคน ธุรกิจนี้วางเป้าจะเติบโตอีกปีละประมาณ 30 โครงการ รวมแล้ว ณ สิ้นปี 2569 เชื่อว่าจะมีโครงการที่บริหารชุมชนไม่ต่ำกว่า 350 โครงการ

 

พัฒนานวัตกรรมเพื่อลดจำนวนพนักงานต่อไซต์ ลดค่าใช้จ่ายส่วนกลาง

ปัจจุบันสัดส่วนโครงการที่ LPP รับบริหารนิติบุคคล แบ่ง 60% เป็นโครงการของ แอล.พี.เอ็น. และ 40% เป็นโครงการนอกเครือ (Non-LPN) ที่ได้รับความไว้วางใจให้บริหาร เช่น อนันดาฯ, พฤกษา, แลนด์แอนด์เฮ้าส์, แอส เซทไวส์, โนเบิล

ในกลุ่มโครงการ Non-LPN คือส่วนสำคัญมากที่ LPP จะต้องเจาะตลาดให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้บริหารตั้งแต่เริ่มส่งมอบโครงการ หรือการเข้าไปรับช่วงต่อเมื่อมีโครงการต้องการเปลี่ยนบริษัทบริหารนิติบุคคล

สมศรีระบุว่า จากประวัติที่รับบริหารมา 80% ของโครงการที่ LPP เข้าบริหารจะได้ต่อสัญญาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี แน่นอนว่าส่วนที่เหลืออาจจะ ‘หลุดมือ’ ไปบ้าง เพราะลูกบ้านอาจเกิดความไม่ประทับใจใน LPP หรือต้องการราคาที่ถูกลง

LPP

ในด้านราคานี่เองที่สมศรีระบุว่า LPP ไม่เน้นการแข่งขันกดราคาให้ถูกที่สุด แต่แน่นอนว่าปัญหาเรื่อง “ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง” ของลูกบ้านเป็นโจทย์ที่ LPP ต้องการแก้

“ลูกบ้านในโครงการขนาดเล็กที่มีไม่เกิน 300 ยูนิตจะประสบปัญหามากที่สุดด้านค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เพราะตัวหารน้อยกว่าโครงการใหญ่ที่มีหลักพันยูนิต แต่จำนวนพนักงานนิติบุคคลไม่ได้ต่างกันมาก โครงการใหญ่อาจจะใช้พนักงาน 7-8 คน แต่โครงการเล็กก็ยังต้องมีขั้นต่ำ 5 คนในการบริหาร” สมศรีกล่าว

LPP

โจทย์นี้ทำให้ LPP ไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง พบว่าในต่างประเทศมีการใช้ระบบ “แพลตฟอร์มกลาง” เพื่อบริหาร จนทำให้ลดพนักงานดูแลอาคารเหลือแค่ 1 คนต่ออาคารได้

ภาพคร่าวๆ ของการใช้ “แพลตฟอร์มกลาง” คือการรวมศูนย์บางบริการให้เป็นการใช้ร่วมกันหลายโครงการในหนึ่งพื้นที่ เช่น การซ่อมบำรุง/ตรวจสอบอาคารตามรอบใช้ทีมช่างส่วนกลาง การรับแจ้งซ่อม/คอมเพลนจากลูกบ้านใช้ระบบออนไลน์ในการแจ้ง จะเหลือเพียงงานบางอย่างที่ต้องมีพนักงานประจำตึก เช่น หน้าที่รับพัสดุ/จดหมาย

เมื่อตัดบริการบางอย่างให้รวมศูนย์กันได้หลายโครงการ ก็จะทำให้พนักงานนิติบุคคลต่อหนึ่งโครงการลดลงได้ โดยสมศรีระบุว่าปีนี้ LPP จะเริ่มทดลองใช้ระบบนี้ในบางโครงการก่อน และจะเน้นที่โครงการขนาดเล็กซึ่งมีปัญหาแบกรับค่าส่วนกลางมากที่สุด

 

“คน” ยังเป็นหัวใจธุรกิจ เตรียมสวัสดิการดูแลจิตใจพนักงาน

สมศรีกล่าวว่า แม้จะหานวัตกรรมลดจำนวนพนักงานต่อไซต์ แต่ในธุรกิจนิติบุคคล “คน” คือสิ่งที่สำคัญที่สุด การสร้างความไว้วางใจในงานบริการจะต้องผ่านการอบรมตามมาตรฐานของ LPP โดยบริษัทมีกุญแจหลักที่มอบเป็นข้อปฏิบัติให้พนักงานทุกคน คือ “ใส่ใจ” และ “อดทน”

ความอดทนเป็นเรื่องสำคัญมากของพนักงานนิติบุคคล เพราะเนื้องานเป็นงานบริการที่ต้องเจอผู้คนหลากหลายและส่วนใหญ่มาติดต่อเมื่อมีเรื่องเดือดร้อนใจ

“ปีนี้เราจึงเตรียมเพิ่มสวัสดิการใหม่ให้กับพนักงานของเราด้วย คือ ที่ปรึกษาจิตวิทยาออนไลน์ ช่วยให้เขาได้ตรวจสุขภาพจิตของตนเองเป็นประจำ และได้ปรึกษาปัญหาหนักใจจากการทำงานที่ต้องอดทนสูง” สมศรีกล่าวปิดท้าย