เจาะวิสัยทัศน์บริษัทนิติบุคคล “LPP” ก่อนเข้าตลาดปี’67 ขยายธุรกิจรีโนเวตตึกเก่า-บริหารหอพัก

LPP เข้าตลาด
  • “LPP” บริษัทลูกของ LPN” ที่ทำธุรกิจด้านบริหาร “นิติบุคคล” เพื่อสนับสนุนบริษัทแม่มานาน ล่าสุดมีการขยับแยกบ้านออกมาเติบโตด้วยตนเองเพื่อเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ภายในปี 2567
  • วางกลยุทธ์ขยายธุรกิจเพิ่ม “รปภ.แม่บ้าน” ไปจนถึง “บริการทางวิศวกรรม” เจาะกลุ่มตึกเก่าที่ต้องการรีโนเวต
  • แตกธุรกิจใหม่ “สัมปทานลงทุนและรับบริหารหอพัก” เริ่มแห่งแรกแล้วที่หอพัก U-Center ของจุฬาฯ

“บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด” หรือ LPP เป็นบริษัทลูกที่ถือกำเนิดมาแทบจะพร้อมกับบริษัทแม่ คือ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN ด้วยวิสัยทัศน์ของบริษัทแม่สมัยนั้นต้องการสร้าง “ชุมชนน่าอยู่” จึงต้องมีบริษัทบริหารจัดการอาคารหรือ “นิติบุคคล” ของตัวเอง เพื่อดูแลโครงการสร้างเสร็จให้เป็นไปตามแนวคิดที่วางไว้

จนกระทั่งเมื่อปี 2564 บริษัท LPP มีการ ‘สปินออฟ’ แยกตัวออกมาจากบริษัทแม่ เพราะต้องการให้เป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ธุรกิจ ขยายไปรับบริหารอาคารนอกเครือ LPN และขยายธุรกิจด้านอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai

LPP นิติบุคคล
“สุรวุฒิ สุขเจริญสิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ LPP

“สุรวุฒิ สุขเจริญสิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ LPP อัปเดตแผนการเตรียมตัวเข้าตลาดฯ mai ว่าขณะนี้บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 150 ล้านบาทแล้ว พร้อมยื่นไฟลิ่งภายในเดือนเมษายน 2567 และคาดว่าจะเริ่มเปิด IPO ได้ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567

ส่วนการทำธุรกิจที่ ‘ขยายให้มากกว่า LPN’ ก็ลุยงานไปแล้วหลายด้าน เชื่อว่าจะเป็นฐานเติบโตในอนาคตได้

 

ยึดหัวหาดบริษัท “นิติบุคคล” อันดับ 1

ธุรกิจแต่ดั้งเดิมของ LPP คือรับบริหารอาคารหรือ “นิติบุคคล” ทั้งอาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรร โดยสุรวุฒิระบุว่า บริษัทบริหารอาคารชุดอยู่ 250 โครงการ และบริหารหมู่บ้านจัดสรรอยู่ 50 โครงการ รวมทั้งหมด 300 โครงการ หากวัดจากจำนวนโครงการที่บริหาร เชื่อว่า LPP คือบริษัทนิติบุคคลที่มีโครงการในมือเป็นอันดับ 1 ของประเทศ

ฐานเดิมของ LPP คือการผูกอยู่กับโครงการของ LPN แต่ในระยะหลังเมื่อสปินออฟออกมาทำให้มีการรับบริหารให้ดีเวลลอปเปอร์เจ้าอื่นด้วย

LPP

โดยปัจจุบันโครงการที่รับบริหาร 60% ยังเป็นโครงการของ LPN และมี 40% ที่เป็นโครงการของนักพัฒนาจัดสรรอื่น (Non-LPN) ซึ่งมีบริษัทที่ผูกกันในลักษณะ ‘สัญญาใจ’ อยู่ 3 บริษัท คือ ค่ายอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN), ค่ายแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) และ ค่ายแอสเซทไวส์ (ASW) ทั้งหมดนี้ LPP จะมีโอกาสได้เสนอราคาก่อนเมื่อมีโครงการสร้างเสร็จใหม่

ในธุรกิจนี้ LPP จะรักษาฐานที่มั่นไว้ แต่การจะเติบโตให้เร็วได้ต้องมีธุรกิจอื่นเข้ามาเสริม ทำให้เกิดกลุ่มธุรกิจใหม่อีก 2 กลุ่ม คือ “รปภ. และ แม่บ้าน” และ “บริการทางวิศวกรรม”

 

เติม “รปภ. – แม่บ้าน” ให้ครบวงจร

ธุรกิจที่เพิ่มเข้ามาใน LPP คือการตั้งบริษัทรักษาความปลอดภัยและแม่บ้านทำความสะอาด  ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับงานบริหารอาคารอยู่แล้ว การเพิ่มธุรกิจเหล่านี้จึงเป็นการสร้างโอกาสเสนอ ‘แพ็กเกจ’ รวมทุกบริการในราคาที่ถูกกว่าการจ้างแยกเป็นรายบริษัท

รวมถึงมีโอกาสรับงานเฉพาะการรักษาความปลอดภัยและแม่บ้านได้มากขึ้นด้วย ซึ่งธุรกิจกลุ่มนี้สุรวุฒิกล่าวว่ามีโอกาสขยายตัวได้เร็วกว่าบริษัทนิติบุคคล เพราะการเทรนนิ่ง รปภ. และ แม่บ้าน ใช้เวลาไม่มาก เมื่อมีโอกาสสัญญาใหม่เข้ามาสามารถป้อนกำลังคนเข้าไปรับงานได้เร็ว ต่างจากงานนิติบุคคลที่ต้องใกล้ชิดกับลูกบ้านสูงและมีรายละเอียดมาก การฝึกฝนเพื่อให้ได้บุคลากรตำแหน่งผู้จัดการอาคารสักคนหนึ่งจะใช้เวลานาน ทำให้การขยายธุรกิจจะทำได้ช้า

 

บริการทางวิศวกรรม – รับรีโนเวตตึกเก่า

อีกธุรกิจที่เติมเข้ามาคือ “บริการทางวิศวกรรม” หมายถึงบริการซ่อมบำรุงตึกในเชิงกายภาพ เช่น ทาสี ปรับปรุงท่อประปา ระบบไฟฟ้า

นอกจากนี้ LPP ยังหาบริการและสินค้าใหม่ๆ จากพาร์ทเนอร์เข้าไปเสนอลูกค้าเพื่อปรับองค์ประกอบในอาคารให้สอดรับกับการอยู่อาศัยในโลกยุคใหม่ด้วย เช่น ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า, ติดตั้งเครื่องลดค่าไฟฟ้าเครื่องปรับอากาศเก่า, ติดตั้งสถานี EV Charger ภายในโครงการ

LPP ร่วมกับพาร์ทเนอร์ “ZLEEPCHARGE” ในการติดตั้ง EV Charger ในโครงการที่พักอาศัย

สุรวุฒิฉายภาพว่าธุรกิจนี้จะเป็น “อนาคต” ของ LPP เพราะตลาดคอนโดมิเนียมที่เติบโตชัดเจนเริ่มตั้งแต่ 10 ปีก่อน เรียกว่าโตตามเส้นทางรถไฟฟ้าไปตลอดแนว ทำให้มีพื้นที่อาคารสร้างเสร็จใหม่ในกรุงเทพฯ เข้าสู่ตลาดปีละหลักล้านตารางเมตร

อาคารเหล่านี้เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปีมักจะเริ่มมีการซ่อมแซม และผ่านไป 10 ปีจะต้องรีโนเวตใหญ่สักครั้งหนึ่ง เพราะอาคารเริ่มเสื่อมโทรมทั้งระบบสาธารณูปโภคภายในอาคารและสภาพภายนอกอาคาร เป็นโอกาสของบริษัทรับจ้างรีโนเวตปรับปรุงอาคาร

ทำให้ปีนี้ LPP เข้าซื้อหุ้น 60% ใน บริษัท พี ดับบลิว กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (PW Group) เพื่อมาดูแลงานด้านนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากบริษัทนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงอาคาร มีฐานลูกค้าเดิมทั้งกลุ่มห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม และโรงพยาบาล

ปัจจุบันรายได้ของ LPP มาจากธุรกิจนิติบุคคลราว 60% จากธุรกิจรปภ.และแม่บ้าน 20% และจากธุรกิจบริการทางวิศวกรรม 20% แต่สุรวุฒิเชื่อว่าจากการเติบโตที่เร็วกว่าของธุรกิจใหม่ อนาคตธุรกิจนิติบุคคลน่าจะมีสัดส่วน 50% ในบริษัท และกลุ่มรปภ. แม่บ้าน และบริการวิศวกรรม จะมีรายได้รวมคิดเป็น 50% ของบริษัท

 

ดาวรุ่งดวงใหม่ “สัมปทานลงทุนและบริหารหอพัก”

สุรวุฒิยังกล่าวถึงธุรกิจใหม่ล่าสุดที่น่าจะเป็นดาวรุ่งให้บริษัทได้คือการ “สัมปทานลงทุนและบริหารหอพัก”

ลักษณะธุรกิจไม่ใช่เข้าไปรับจ้างบริหารหอพักเท่านั้น แต่เป็นการเข้าไปเสนอโครงการลงทุนรีโนเวตปรับปรุงตึกและรับบริหารหอพักให้ โดยจะแบ่งส่วนรายได้ (revenue sharing) กับเจ้าของหอพักตามแต่ตกลง

หอพัก U-Center หลัง LPP ได้รับสัมปทานรีโนเวตใหม่

ธุรกิจนี้ LPP เริ่มชิมลางแล้วที่ “หอพัก U-Center” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 468 ห้อง ลงเงินลงทุน 150 ล้านบาทในการปรับปรุงหอพักทั้งด้านนอก ด้านใน ส่วนกลาง และในห้องพัก โดยได้สัมปทาน 8 ปี (2566-2574) ในการบริหารจัดการหอพักทั้งหมดและหารายได้

“งานบริหารหอพักหรืออะพาร์ตเมนต์เป็นเรื่องจุกจิกจนทำให้เจ้าของบางคนไม่ต้องการดูแลเองต่อ เราจะเข้าไปดูแลตรงนี้ให้ทั้งการปรับปรุงตึก ดูแล และหาผู้เช่า โดยแบ่งรายได้กันระหว่างเรากับเจ้าของ” สุรวุฒิกล่าว “ขณะนี้เปิดรับทุกดีลที่น่าสนใจ โดยจุดคุ้มทุนของโครงการที่จะรับสัมปทานน่าจะต้องเป็นหอพักที่มีมากกว่า 100 ห้อง และเป็นหอพักระดับกลางขึ้นไป จึงจะได้กำไรกันทั้งสองฝ่าย”

ด้านรายได้คาดการณ์ของ LPP ในปี 2566 น่าจะทำได้แตะ 1,550 ล้านบาท เติบโต 30% จากปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิยังอยู่ระหว่างยื่นไฟลิ่ง แต่คาดว่าจะโต 10% จากปีก่อนหน้า

ขณะที่เป้าหมายรายได้ปี 2567 หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว ต้องการปั้นรายได้โต 20% และกำไรสุทธิโต 20% จากปีนี้