สายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” ตั้งเป้าปี 2567 รายได้ผู้โดยสารแตะ 17,800 ล้านบาท เติบโต 20% จากปีก่อนหน้า ราคาตั๋วคาดปรับขึ้นได้อีก 4% หลังดีมานด์การท่องเที่ยวยังเติบโตจนใกล้เคียงระดับก่อนโควิด-19 เตรียมผนึกสายการบินโค้ดแชร์เพิ่มอีก 2 สาย เพิ่มเครื่องบินเข้าฝูงบินอีก 2 ลำ
“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “บางกอกแอร์เวย์ส” ประกาศผลการดำเนินงานปี 2566 ทำรายได้รวม 21,732 ล้านบาท EBITDA ของบริษัทฯ เท่ากับ 4,782 ล้านบาท คิดเป็น EBITDA Margin เท่ากับ 23% และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 3,108 ล้านบาท
ทั้งนี้ เฉพาะรายได้ผู้โดยสาร (Passenger Revenue) อยู่ที่ 14,913 ล้านบาท เติบโต 76.5% จากปีก่อนหน้า สะท้อนภาพการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในปี 2566
รายละเอียดธุรกิจการบินของบางกอกแอร์เวย์สเมื่อปี 2566 มีผู้โดยสารสายการบิน 3.97 ล้านคน จำนวนเที่ยวบิน 44,774 เที่ยวบิน อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (%Load Factor) แตะ 79% และ Passenger Yield แตะ 6.00 บาท
ตัวเลขเหล่านี้เทียบกับปี 2562 (ก่อนโควิด-19) ยังต่ำกว่าในแง่ของจำนวนผู้โดยสารที่เคยทำได้ 5.86 ล้านคน และในแง่จำนวนเที่ยวบินที่เคยมี 70,810 เที่ยวบิน อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ปรับสูงกว่าคือ %Load Factor ที่เมื่อปี 2562 เคยมีเพียง 68% รวมถึง Passenger Yield เคยอยู่ที่ 4.30 บาท
เป้าหมายปี 2567 รายได้ผู้โดยสารเติบโต 20%
สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานของสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” ปี 2567 ตั้งเป้าการดำเนินงาน ดังนี้
- เพิ่มจำนวนเที่ยวบินเป็น 48,000 เที่ยวบิน (+7% YoY)
- อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (%Load Factor) เพิ่มเป็น 85%
- จำนวนผู้โดยสารแตะ 4.50 ล้านคน (+13% YoY)
- ราคาบัตรโดยสารเฉลี่ย 3,900 บาทต่อเที่ยวบิน (+4% YoY)
- รวมรายได้ผู้โดยสาร 17,800 ล้านบาท (+20% YoY)
ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สมีการให้บริการเที่ยวบินใน 20 จุดหมายปลายทาง แบ่งเป็นในประเทศ 12 จุดหมาย เช่น กรุงเทพฯ เกาะสมุย เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ และต่างประเทศ 8 จุดหมาย เช่น มัลดีฟส์ สิงคโปร์ เสียมเรียบ พนมเปญ หลวงพระบาง ในจำนวนนี้มี 2 เส้นทางบินล่าสุดที่บางกอกแอร์เวย์สเพิ่งกลับมาเปิดเส้นทางอีกครั้ง คือ “สมุย-ฉงชิ่ง” และ “สมุย-เฉิงตู” ทั้งนี้ ปี 2567 ยังไม่มีแผนที่จะเพิ่มเส้นทางบินใหม่ แต่จะเน้นการเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่มีดีมานด์สูง
พุฒิพงศ์กล่าวด้วยว่า ภาพรวมการจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าในไตรมาส 2 ปีนี้ถือว่าสูงกว่าปีก่อน 14% เป็นสัญญาณแนวโน้มที่ดี โดยมีเส้นทางบินที่มีการจองล่วงหน้าสูงขึ้นมาก คือ เส้นทางบินเกาะสมุย เส้นทางไปกลับกัมพูชา และเส้นทางหลวงพระบาง
เพิ่มโค้ดแชร์อีก 2 สายการบิน เพิ่มเครื่องบินอีก 2 ลำ
ในแง่กลยุทธ์การเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้ได้ตามเป้า พุฒิพงศ์กล่าวถึงกลยุทธ์สำคัญคือ “ความร่วมมือกับพันธมิตรสายการบิน” โดยปัจจุบันมีสายการบินโค้ดแชร์อยู่ 28 สายการบิน มีสายการบิน Top 5 ที่สร้างรายได้ให้บางกอกแอร์เวย์สมากที่สุด คือ การบินไทย, เอมิเรตส์, กาตาร์, อีวีเอ แอร์ และแควนตัส
ในปี 2567 บางกอกแอร์เวย์สมีแผนจะเพิ่มสายการบินพันธมิตรโค้ดแชร์อีก 2 สายการบิน (*ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด) ซึ่งจะช่วยเพิ่มผู้โดยสารได้
ด้านการเพิ่มจำนวนเครื่องบินในฝูงบิน ณ สิ้นปี 2566 บางกอกแอร์เวย์สมีเครื่องบินในฝูงบิน 24 ลำ ขณะที่ปี 2567 บริษัทคืนเครื่อง Airbus A320 ไป 1 ลำ และจะได้รับมอบเครื่องบินรุ่น Airbus A319 มาอีก 2 ลำในช่วงไตรมาส 3-4 นี้ ทำให้จนถึงสิ้นปี 2567 คาดฝูงบินจะมีเครื่องบินรวม 25 ลำ
ส่วนการขยายช่องทางการขาย “อมรรัตน์ คงสวัสดิ์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขายและรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นอกจากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Online Travel Agency (OTA), BSP Agent และสายการบินโค้ดแชร์ต่างๆ แล้ว ปีนี้บริษัทฯ ยังจะเพิ่มสำนักงานขาย GSA Office อีก 2 แห่งใน “ซาอุดิอาระเบีย” และ “ตุรกี” ด้วย หลังพบว่ามีดีมานด์สูงขึ้นในตลาดดังกล่าว
ด้านการตลาดก็ยังคงทำงานร่วมกับแบรนด์ แอมบาสเดอร์ “ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 และจะมีการจัดกิจกรรม Pop-up Lounge ในปีนี้เพื่อโชว์งานบริการของบางกอกแอร์เวย์ส และโชว์เคสผลิตภัณฑ์ที่สายการบินได้ทำร่วมกับชุมชนด้วย
ธุรกิจ “คาร์โก้” โตแซงก่อนโควิด-19
ด้านธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับสนามบินของบางกอกแอร์เวย์สในปี 2566 “อนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีรายละเอียดการดำเนินการ ดังนี้
- บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด (BAC) – จำนวนลูกค้า 23 สายการบิน ซึ่งยังน้อยกว่าปี 2562 อยู่ 3 สายการบิน และทำรายได้คิดเป็นสัดส่วน 80% ของปี 2562 โดยยังมีผลขาดทุนอยู่ 60 ล้านบาท
- บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด (BFS Ground) – ให้บริการลูกค้า 90 สายการบิน รวมกว่า 65,000 กว่าเที่ยวบิน คิดเป็นสัดส่วน 82% ของที่เคยทำได้ในปี 2562 แต่เนื่องจากบริษัทฯ สามารถปรับค่าบริการได้ ทำให้มีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 93% ของปี 2562 แล้ว และได้กำไรกว่า 500 ล้านบาท
- บริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด (BFS Cargo) – ให้บริการลูกค้า 86 สายการบิน ปริมาณสินค้ารวม 4.37 แสนตัน มากกว่าปี 2562 อยู่ 7% และทำรายได้ 2,300 ล้านบาท เติบโต 10% จากปี 2562 ถือเป็นธุรกิจที่เติบโตมากขึ้น เพราะการขนส่งทางอากาศได้รับความนิยมมาตั้งแต่ยุคโควิด-19
อนวัชยังกล่าวถึงรายได้ต่อหน่วยจากการผลิตด้านผู้โดยสาร (Revenue per ASK: RASK) อยู่ที่ 5.41 บาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ 5.14 บาท จึงมีสัดส่วนกำไร เท่ากับ 0.27 บาท โดยฝั่งค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนถือว่าสูงจากปี 2562 ที่เคยอยู่ที่ 3.33 บาทมาก เนื่องจากการปรับขึ้นของค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นถึง 30% ค่าอะไหล่ซ่อมแซมที่เพิ่มขึ้นราว 15% รวมถึงต้นทุนด้านอื่นๆ ล้วนปรับขึ้นทั้งหมด
- ตั๋วแพงยังคงอยู่! ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินมองว่า “ปัญหา Supply Chain ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปีถึงจะคลี่คลาย”
- “ANA” อันดับ 1 สายการบิน “ตรงเวลา” ที่สุดในเอเชีย ปี 2023 “ไทยแอร์เอเชีย” ติดอันดับ 3
ทิศทางการเติบโตของธุรกิจสายการบินในปี 2567 พุฒิพงศ์เชื่อว่าจะเติบโตได้ใกล้เคียงกับก่อนโควิด-19 โดยคาดว่าจะมีผู้โดยสารบินภายในประเทศ (Domestic) ราว 205 ล้านคน และผู้โดยสารที่บินระหว่างประเทศ (International) ราว 35 ล้านคน โดย 4 อันดับแรกต่างชาติที่จะเข้าไทยมากที่สุดผ่านท่าอากาศยาน คือ จีน เกาหลีใต้ รัสเซีย และอินเดีย (*ไม่รวมมาเลเซีย เนื่องจากชาวมาเลย์นิยมเดินทางผ่านชายแดนทางรถยนต์มากกว่า)