ไม่รอแล้ว! “BA” วอนรัฐขอเข้าพื้นที่เตรียมก่อสร้าง “เมืองการบิน” หลังลงทุนแล้ว 4,000 ล้านโปรเจ็กต์ยังไม่คืบ

“BA” หนึ่งในกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ผู้ชนะประมูลโครงการ “เมืองการบิน” สนามบินอู่ตะเภา วอนรัฐเปิดทางให้เข้าพื้นที่เตรียมก่อสร้าง เนื่องจากลงทุนไปแล้ว 4,000 ล้านบาทหลังชนะประมูล 5 ปีแต่โปรเจ็กต์ไม่คืบหน้า กังวลปัญหาฟาก “ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน” ที่ต้องลงทุนคู่กัน แต่เชื่อว่ารัฐจัดการได้ และกลุ่มบีบีเอสขอไม่รอเคลียร์ ต้องการเดินหน้าลุยโครงการเมืองการบินไปก่อน

“โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” เป็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลดำริขึ้นเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อสร้างเสร็จแล้วสนามบินอู่ตะเภาจะกลายเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ และเป็น “เมืองการบิน” ของไทย โดยจะมีการเชื่อม 3 สนามบินหลักของกรุงเทพฯ เข้าด้วยกันด้วย “รถไฟความเร็วสูง ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา”

รัฐบาลแยกสัมปทานโครงการนี้ออกเป็น 2 ขา คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ซึ่ง “กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส” เป็นผู้ชนะประมูล (*กลุ่มนี้ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA, บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น) ส่วนอีกขาหนึ่งคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ผู้ชนะประมูลคือ “บริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด” ในเครือเจริญโภคภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านไป 5 ปีโครงการสนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินดูจะยังไม่คืบหน้ามากนัก ส่วนไฮสปีดเทรน 3 สนามบินก็ยังนิ่ง ติดปัญหาหลายประการที่ทำให้โครงการไม่เริ่มก่อสร้าง

ฟากฝั่งโครงการสนามบินอู่ตะเภาเมืองการบิน “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในพาร์ทเนอร์กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ออกมายืนยันว่าโครงการนี้ทางกลุ่มฯ พร้อมเดินหน้าลงทุนต่อเต็มที่ แม้จะมีปัจจัยเรื่องฝั่งไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินส่อแววปัญหาล่าช้า แต่ฝั่งเมืองการบินจะ “ไม่รอ” ให้ปัญหาคลี่คลาย เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องหาทางผลักดันให้โครงการไฮสปีดเทรนไปต่อได้ในที่สุด เนื่องจากถ้าไม่มีไฮสปีดเทรนเป็นตัวเชื่อมก็จะส่งผลต่อภาพรวมของโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินทั้งหมด

“คิดว่าคงไม่ต้องรอให้เกิดความชัดเจนเรื่องไฮสปีดเทรน เพราะถ้ารอเราอาจจะไม่ได้สร้าง ตอนนี้เราก็ดำเนินการเรื่องทางการเงินกับพาร์ทเนอร์ของเราไปได้เลย เจรจากับพาร์ทเนอร์ว่าเราจะเริ่มเลยไหม ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากเริ่มก่อสร้างเลยในปีนี้” พุฒิพงศ์กล่าว

 

ลงเม็ดเงินแล้ว 4,000 ล้าน ต้องการลุยต่อให้เร็วที่สุด

ด้าน “อนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ทางกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสมีการลงทุนใส่เม็ดเงินไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท สะสมตั้งแต่ 5 ปีก่อนที่ชนะการประมูล โดยเป็นค่าที่ปรึกษาและค่าออกแบบโครงการ ทำแผนแม่บทมาสเตอร์แพลน ทำให้ทางกลุ่มฯ เองก็ต้องการจะเริ่มลงพื้นที่ก่อสร้างจริงให้ได้เร็วที่สุด

ภาพจาก Unsplash

อย่างไรก็ตาม เหตุที่ยังเข้าพื้นที่ไม่ได้เพราะตามข้อตกลงทางภาครัฐจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขให้เสร็จสิ้นก่อนหลายประการ เช่น เมื่อต้นปี 2567 กองทัพเรือเริ่มดำเนินการเปิดประมูลก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 และยังมีอีกหลายเงื่อนไขที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อน

แต่จากความล่าช้าที่ผ่านมาทำให้กลุ่มฯ มีการเจรจากับภาครัฐว่าถ้าหากจะขอให้เอกชนได้เข้าพื้นที่เพื่อเข้าไปเตรียมงานก่อนจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะโครงการมีขนาดใหญ่มาก หากรัฐอนุญาตให้เอกชนเข้าพื้นที่เพื่อไปเตรียมงานก่อสร้าง น่าจะทำให้ประหยัดเวลาได้มากขึ้น

“เรามีการเตรียมตัวอยู่ตลอดเวลา และอยากจะเข้าไปทำเต็มที่แล้ว” อนวัชกล่าว “ถ้าเราย้อนไปดูที่มาของโปรเจ็กต์นี้คือ ต้องการจะเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ และจะเป็นฮับทางการบิน เราเองที่ไปซื้อซองประมูลมาก็เพราะต้องการจะพัฒนาโครงการให้ตอบโจทย์ทั้ง 2 อย่างนี้ เอกชนอยากทำเต็มที่ และเพื่อให้เอกชนทำงานได้อย่างที่ตั้งใจไว้จริงๆ ภาครัฐก็ควรสนับสนุนตามสมควร เราไม่ได้ขออะไรที่เกินเลยเลย”

 

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม