Stripe มอง 3 เทรนด์ธุรกรรมข้ามพรมแดน ชี้เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก

Stripe แพลตฟอร์มให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน มอง 3 เทรนด์ธุรกรรมข้ามพรมแดน นอกจากนี้ยังมองถึงศักยภาพของเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนยังเติบโตได้อีกมาก และมีแผนขยายบริการอื่นๆ ในประเทศต่างๆ ของทวีปเอเชียเพิ่ม

Positioning พูดคุยกับ ศริตา ซิงห์ กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และ จีน ของ Stripe และ ธีย์ ฉายากุล ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของ Stripe ถึงเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล โอกาสของอาเซียน หรือแม้แต่เรื่องการเจาะตลาดของ Stripe หลังจากนี้

ศริตา กล่าวถึงเศรษฐกิจโลกยังเติบโตได้ดีแม้ว่าจะพบเจอกับเรื่องต่างๆ มากมาย ขณะเดียวกันเธอได้กล่าวถึงทวีปเอเชียมีหลายประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จากการเติบโตของ GDP ที่สูง นอกจากนี้เธอยังได้ชี้ว่าสิ่งที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากนี้ก็คือเศรษฐกิจดิจิทัล

กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และ จีน ของ Stripe ยังกล่าวเสริมว่า “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในตลาดอินเทอร์เน็ตที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกปัจจุบัน”

Stripe ได้มองถึงแนวโน้มสำคัญ 3 ประการที่ขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคตภายในทศวรรษหน้า ได้แก่

  • การค้าข้ามพรมแดน รายงานล่าสุดของ Stripe เกี่ยวกับการค้าดิจิทัลทั่วโลกพบว่า 84% ของธุรกิจที่ทำการสำรวจได้ขายสินค้าและบริการในหลายตลาด และโลกออนไลน์ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลก ทำให้หารายได้มากกว่าเดิม ปัจจุบันการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนมีมากถึง 1 ใน 3 ของธุรกรรมทั่วโลก
  • การเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม แม้ว่าแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ข้อสังเกตล่าสุดแสดงให้เห็นว่าแพลตฟอร์มและตลาดดิจิทัลกำลังกลายเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น ผู้บริหารของ Stripe ได้ชี้ให้เห็นจากบริการแพลตฟอร์มที่เติบโตขึ้น
  • ความเป็นผู้ประกอบการในภูมิภาคนี้ ผู้บริหารของ Stripe ได้ชี้ถึงหลายบริษัทเริ่มปลุกปั้นผู้ประกอบการภายในบริษัทตัวเอง ให้พนักงานสร้างธุรกิจได้

ผู้บริหารหญิงจาก Stripe ยังกล่าวเสริมว่า “เชื่อว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจดิจิทัลนั้นจะมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจในโลกทั่วไปมากถึง 2.5 เท่า”

ไม่เพียงเท่านี้ เธอยังชี้ถึงคนทั่วไปได้เข้าถึงโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น 125,000 คนต่อวันในอาเซียน ถือว่าเป็นปริมาณที่สูง ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาส โดยประเทศไทยนั้น Stripe ได้ให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี 2022 เป็นต้นมา

ศริตา ซิงห์ – กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และ และอินเดีย ของ Stripe / ภาพจากบริษัท

Stripe แตกต่างกับผู้ให้บริการรายอื่นอย่างไร

กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และ จีน ของ Stripe ได้กล่าวถึงแพลตฟอร์มของบริษัทนั้นถือว่าเป็นโครงสร้างทางพื้นฐานทางการเงิน และมองว่าบริการรับชำระเงินหรือ Payment Gateway นั้นถือว่าเป็นบริการส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยบริษัทมีบริการอื่นไม่ว่าจะเป็น Banking As A Service บริการที่เกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติ การจัดตั้งบริษัท เป็นต้น

ขณะที่ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของ Stripe ได้กล่าวเสริมว่า การสร้างความไว้ใจของ Stripe คือการที่ลูกค้าได้พบกับประสบการณ์ผ่านการใช้งานจริง และถ้าลูกค้าเห็นว่า Stripe ได้ช่วยบริษัททั่วโลกได้มากแค่ไหน ก็สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาด้านการเงิน เช่น ระบบชำระเงินให้ลูกค้าหลายราย ไม่ว่าจะเป็น Toyota ไปจนถึง Spotify เป็นต้น

กรณีศึกษาในประเทศไทย

ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของ Stripe ได้ยกกรณีศึกษาของ จิม ทอมป์สัน แบรนด์ค้าปลีกแฟชั่นของไทยที่ต้องการธุรกิจไปยังตลาดทั่วโลก ธีย์ ได้กล่าวถึงทางแบรนด์ได้ติดต่อว่าทำอย่างไรให้ลูกค้าชาวต่างชาตินั้นสามารถสั่งซื้อสินค้าและทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกมากกว่าผู้บริการเจ้าเดิม หรือแม้แต่การขยายธุรกิจไปยังประเทศสิงคโปร์ ทำยังไงให้ลูกค้ามีประสบการณ์ในการใช้งานระบบจ่ายเงินได้ดีสุด

ธีย์ ยังได้กล่าวถึงลูกค้าในประเทศไทยได้หันมาใช้ Stripe เยอะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังมีทีมพัฒนาในไทยเพื่อรับฟังความเห็นหรือหาวิธีการในการแก้ปัญหาให้กับลูกค้าชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ารายย่อยหรือรายใหญ่ รวมถึงการพูดคุยกับหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อพัฒนาวิธีการต่างๆ ให้ดีขึ้น

ขยายตลาดไปยังทวีปเอเชีย

ศริตา ได้กล่าวถึงการขยายธุรกิจของ Stripe ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วเอเชียแปซิฟิกว่าในการขยายธุรกิจไปนั้นแต่ละประเทศต้องการผลิตภัณฑ์หรือบริการไม่เหมือนกัน อย่างเช่นในกรณีของประเทศไทยนั้นอาจไม่ได้ต้องการระบบการคิดภาษี ซึ่งของไทยนั้นใช้อัตราภาษีเดียวกัน แตกต่างกับบางประเทศ ฉะนั้นในการขยายบริการนั้นแต่ละประเทศก็จะได้รับบริการไม่เหมือนกัน

ขณะเดียวกันการเข้ามาของเทคโนโลยี AI นั้นบริษัทได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้โดยใช้ข้อมูลธุรกรรมไปวิเคราะห์พฤติกรรมที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติ หรือแม้แต่การตรวจสอบเรื่องการฉ้อโกง

นอกจากนี้ Stripe เองยังเตรียมที่จะพัฒนาบริการหรือผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานของประเทศนั้นๆ ด้วย