ใครที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว เรียกได้ว่าเป็นวัยที่ทำงานมาสักระยะหนึ่ง ไปจนถึงอายุกลางคน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคน Gen Y คนกลุ่มนี้ขึ้นชื่อว่ากำลัง “เดอะแบก” ของทุกสิ่ง แบกทั้งภาระครอบครัว รวมไปถึงแบกเศรษฐกิจของประเทศ จนเกิดเป็นคำจำกัดความว่า Sandwich Generation จากการที่ต้องแบกรับภาระไว้ทั้งสองทาง คล้ายกับลักษณะของแซนด์วิช
ใครที่อยู่ในช่วงวัยนี้จะมีความเข้าใจเป็นอย่างดี เพราะอยู่ในช่วงที่กำลังตั้งตัว สร้างครอบครัวเป็นของตัวเอง มีบ้านเป็นของตัวเอง แยกออกมาอยู่จากครอบครัวใหญ่ แต่ในขณะเดียวก็ยังต้องดูแลครอบครัวพ่อ แม่ ผู้สูงวัย เรียกว่ามีภาระที่ต้องดูแลคนรุ่นก่อน และคนรุ่นใหม่ที่เป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว
ปัญหาของคนกลุ่มนี้อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้กว่าที่คิด ภายในงาน KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ โดยความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กับ Thairath Money ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา จึงมีเวทีสนทนาที่เน้นถึงปัญหาและคำแนะนำให้กับ Sandwich Generation ผู้แบกภาระการดูแลทั้งคนรุ่นก่อนและรุ่นหลังไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไม่เกื้อหนุนให้พวกเขาแบกได้สบายขึ้น
หนึ่งในแขกที่ร่วมพูดคุยบนเวทีคือ ดร.ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Research ได้กล่าวถึงปัญหาของเดอะแบกที่ต้องรับภาระหนักหน่วงว่ามักเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยาก แต่ทางออกนั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนควบคุมได้ เพียงต้องเข้าใจถึงปัญหาด้านต่างๆ และวิธีรับมือ พร้อม ‘เริ่มต้น’ ให้เร็วที่สุด
เหตุใด ‘เดอะแบก’ ยุคปัจจุบันจึงดูเหนื่อยกว่ายุคก่อน?
ในยุคที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างเช่นปัจจุบัน การแบกภาระของครอบครัวก็ชวนรู้สึกเหนื่อยเป็นพิเศษ จนหลายคนอาจเคยสงสัยว่าเหตุใดการที่ทุ่มเททำงานอย่างหนักแล้วก็ยังไม่สามารถดูแลคนรอบข้างได้ดี แถมยังไม่มีเงินเหลือเก็บ
น่าเสียดายที่เรื่องโอกาสในการสร้างฐานะในยุคนี้เป็นเรื่องยากขึ้น จากการศึกษาในอเมริกาพบว่า โอกาสที่รุ่นลูกจะรวยกว่ารุ่นพ่อแม่ในปัจจุบันได้นั้นลดลงเรื่อยๆ และจากงานศึกษาหนึ่งของไทยก็พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โอกาสที่คนไทยจะสามารถเลื่อนขั้นรายได้หรือขยับสถานะทางสังคมเป็นไปได้ยากขึ้น โดยสถานะทางการเงินของคนรุ่นปัจจุบันขึ้นอยู่กับฐานะของทางครอบครัวค่อนข้างมาก แม้เราอาจได้ยินเรื่องราวของคนอายุน้อยที่ร่ำรวยขึ้นได้อย่างรวดเร็วอยู่บ่อยครั้ง แต่นั่นยังเป็นคนกลุ่มเล็กมากในสังคม
นอกจากโอกาสด้านการขยับฐานะที่ยากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียและการตลาดเชิงรุกในยุคใหม่ โดยเฉพาะการ ‘ใช้ก่อน จ่ายทีหลัง’ ได้กระตุ้นความอยากได้อยากมีสิ่งของที่ไม่จำเป็นจนเกิดเป็นหนี้สินจากการใช้จ่ายเกินตัวหรือไม่มีเงินเก็บออม ซึ่งอาจเป็นภาระต่อตัวเองในระยะยาว หรืออาจเพิ่มปัญหาให้ว่าที่ “เดอะแบก” ได้ด้วยเช่นกัน
Sandwich Generation คนตรงกลาง แบกทั้งที่บ้านและเศรษฐกิจ
จริงๆ แล้ว ไม่ว่าคนในวัยไหนก็เป็นอาจตกเป็นเดอะแบกได้จากสถานการณ์ของครอบครัวแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่มักอยู่ใน Sandwich Generation ซึ่งเป็นคนตรงกลางระหว่างการดูแลผู้ใหญ่และลูกหลาน เนื่องจากคนมีลูกกันช้าลง ในวันที่ลูกกำลังเริ่มเติบโต เดอะแบกมีหน้าที่การงานที่ก้าวหน้า แต่พ่อแม่ก็แก่ลงจนต้องแบ่งเวลาและเงินทองเพื่อดูแลเพิ่มขึ้น เดอะแบกจึงต้องรับทั้งภาระทางการเงินและยังต้องมอบเวลาให้คนรอบข้างขณะที่ต้องทำงานอย่างหนัก จนเกิดเป็นความเครียดสะสมอีกด้วย
ดร.ณชาได้กล่าวถึงปัญหาของประเทศไทยว่านอกจากเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำ ทำให้การหาเงินไม่ง่ายเหมือนในอดีต โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างเต็มรูปแบบ ไทยกลายเป็นประเทศที่มีคนสูงวัยมากที่สุดในอาเซียน ส่งผลให้รัฐมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสวัสดิการดังกล่าวสูงขึ้น
ในขณะที่ฐานคนเสียภาษีมีน้อยลง ส่งผลให้คนในระบบแบกภาระมากขึ้น โดยคนไทย 70 ล้านคน มีคนอยู่ในระบบงานราว 40 ล้านคน แต่อยู่ในระบบภาษีแค่ 10 ล้านคน และเหลือคนจ่ายภาษี (รายได้) จริงๆ เพียง 4 ล้านคนเท่านั้น
หากคนไทยยังขาดความรู้ทางการเงิน ภาระเดอะแบกจะยิ่งทับถมหนักขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาเพียงส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย เพราะพวกเขาก็เป็นเดอะแบกของเศรษฐกิจในขณะที่ยังมีเรี่ยวแรงทำงาน และรัฐต้องใช้เงินดูแลพวกเขาในยามเกษียณ
เพราะไม่มีลูก ภาระจึงลดลง…จริงหรือ?
จากภาระที่ต้องเลี้ยงดูผู้ใหญ่ และตัวเอง ซึ่งใช้ทั้งเงินและเวลามากมายอยู่แล้ว การมีลูกจึงไม่ใช่เป้าหมายหลักของชีวิตคนยุคใหม่อีกต่อไป เพราะการเลี้ยงลูกให้เติบใหญ่ในสังคมที่ดีนั้นก็ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย
จากผลสำรวจนิด้าโพล คนไทย 44% ไม่อยากมีลูกด้วยเหตุผลหลักๆ คือ ไม่ต้องการมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระ ผู้คนจึงเลือกวิถีชีวิตการครองตัวเป็นโสดหรือใช้ชีวิตคู่แบบไม่มีลูกมากขึ้น
โดยจากข้อมูลทางสถิติของ UN ESCAP พบว่า ปัจจุบันผู้หญิงไทยหนึ่งคนจะมีลูกเฉลี่ย 1.3 คนเท่านั้น
แต่การไม่มีลูกนั้นอาจไม่ได้แปลว่าจะสามารถจับจ่ายใช้สอยได้ตามใจโดยไม่ต้องคิดถึงอนาคต และการที่คนไทยมีลูกน้อยลงอาจส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจในอนาคตด้วยเช่นกัน ทั้งในแง่ขนาดเศรษฐกิจที่มีคนใช้จ่ายน้อยลง จำนวนแรงงานหนุ่มสาวที่จะไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจลดลง รวมถึงการที่จะมีคนจ่ายภาษีลดลงอีกด้วย
ในระดับบุคคล กลุ่มคนที่ไม่มีลูกจำเป็นต้องพร้อมดูแลตัวเองไปตลอดชีวิต และควรพึงรำลึกเสมอว่าวันหนึ่งเราอาจไม่มีรายได้ดังเดิม และสามารถเผชิญกับปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อน โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ นอกจากนี้ สวัสดิการจากทางรัฐฯ ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถช่วยดูแลได้ดีนัก
ดังนั้น ไม่ว่าจะมีแผนการมีทายาทสืบสกุลต่อหรือไม่ ก็ควรเพิ่มพูนความรู้ทางการเงินและวางแผนการเงินไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่เสียดายทีหลัง
ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งเจอ ‘ทางรอด’ เร็ว
การวางแผนทางการเงินไม่ใช่เรื่องของแค่คนที่อยากรวยระดับเศรษฐี แต่เป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตที่จะบรรเทาภาระและหยุดวงจรเดอะแบกได้ ดร.ณชาได้อธิบายถึงสถานการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยยังขาดความรู้ด้านการเงิน กับความสำคัญของการวางแผนการเงินว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจและภาระส่วนบุคคล การวางแผนทางการเงินมันสำคัญขึ้นมากๆ แต่คนไทยยังมีความรู้น้อย อย่างเรื่องหนี้ครัวเรือน เมื่อก่อนยังอยู่ที่ 40-50% ของจีดีพี แต่ตอนนี้กลายเป็น 90% แล้ว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับวิกฤตโควิด-19 ทั้งหมด เพราะก่อนโควิดก็สูงประมาณ 80% อยู่แล้ว โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ไปสำรวจเรื่องการเป็นหนี้ของคนไทยแล้วพบปัญหาสำคัญว่า คนเป็นหนี้กันเร็ว เป็นหนี้เกินตัวโดยไม่ได้ประเมินว่าแบกรับไหวหรือไม่ก่อนตัดสินใจสร้างหนี้ กับเป็นหนี้นาน หลายคนเกษียณก็ยังเป็นหนี้ แถมเฉลี่ยอยู่ที่ 400,000 บาทต่อคน
นอกจากนี้ จากผลสำรวจของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณเลย และ 60% มีเงินเก็บแต่ไม่ถึง 200,000 บาท ซึ่งชัดเจนว่าไม่พอใช้ ดังนั้น ไม่ว่าวางแผนจะมีลูกหรือไม่มีลูก เราก็ต้องดูแลตัวเองให้ได้ ความรู้ทางการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ
นอกจากวินัยทางการออมแล้ว การหาความรู้ให้เงินออมงอกเงยก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของเดอะแบกได้ แต่ต่างคนก็อาจต้องใช้เครื่องมือทางการเงินต่างกันตามความเหมาะสม สิ่งสำคัญคือพื้นฐานความรู้ทั้งเรื่องการเงินส่วนบุคคลอย่างเรื่องดอกเบี้ยต่างๆ, การวางแผนภาษี, ความรู้ด้านการลงทุนที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินเฉยๆ, การบริหารจัดการหนี้, การบริหารความเสี่ยง ทั้งจากการลงทุน ไปจนถึงบริหารความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เป็นภาระคนข้างหลัง และการป้องกันตัวเองจากภัยทางการเงิน ที่ไม่ว่าจะร่ำเรียนสูงแค่ไหนก็อาจตกเป็นเหยื่อได้เสมอ
แม้จะเป็นจำนวนเงินที่ไม่เยอะมาก แต่ต้องวัดที่อัตราการออมว่าเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ และไม่ว่าตัวเลขจะมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเริ่มออมอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายก็จะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน หรืออาจมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการลงทุนอีกด้วย เพราะ ‘พลังของดอกเบี้ยทบต้น’ คือพลังที่สำคัญมากในการสร้างความมั่งคั่ง ดังนั้น เวลาที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนคือตอนนี้ ยิ่งลังเลหรือรอให้พร้อมกว่านี้ยิ่งเสียโอกาส เป็นโอกาสเก็บประสบการณ์ ลองผิดลองถูก จนถึงวันหนึ่งเราก็จะตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น
การเก็บออมและการเพิ่มพูนความรู้ด้านการเงินก็เป็นสิ่งที่ทุกคนเริ่มทำได้ทันที เพื่อบรรเทาภาระที่ตัวเองต้องแบกในอนาคต และลดภาระให้เดอะแบกในรุ่นต่อไปด้วยเช่นกัน จะได้ไม่ต้องมองย้อนหลังแล้วเสียได้ว่า ‘รู้งี้’ เริ่มเก็บออมและบริหารเงินตั้งแต่ตอนที่ยังมีเรี่ยวแรง