น่าเป็นห่วง! ‘โรงงาน’ ในไทย ‘ปิดตัว’ กว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงาน 42,000 ตำแหน่ง

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา น่าจะเห็นข่าวคราวการปิดโรงงานผลิตรถยนต์ชื่อดัง ได้แก่ ซูบารุ และ ซูซูกิ แต่หากนับตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงไตรมาสแรกปี 2567 จะเห็นว่าปัญหาภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีจำนวนโรงงานที่ปิดตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่อัตราการเปิดโรงงานใหม่กลับต่ำลง

โรงงานปิดตัวกว่า 1,700 แห่ง

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ ซึ่งสะท้อนจากทั้งดัชนีการผลิตที่หดตัวลงติดต่อกันเกินกว่า 1 ปี ยอดปิดโรงงานที่เพิ่มขึ้น และหนี้เสียในภาคการผลิตที่กำลังเร่งตัว โดยจากการสำรวจผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยเผยแพร่โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่า มีการหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2565 จนถึงเดือน มี.ค. 2567 หรือต่อเนื่องกันกว่า 1 ปี 3 เดือน ซึ่งนับเป็นการ โตติดลบติดต่อกันที่ยาวนานมากที่สุด ครั้งหนึ่ง แม้ว่าวัฏจักรการค้าโลกจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2566 แล้วก็ตาม

ข้อมูลการ ปิดโรงงาน ในภาคอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นชัดเจนตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 โดยค่าเฉลี่ยการปิดโรงงานของไทยอยู่ที่ 57 โรงงานต่อเดือนในปี 2564 และ 83 โรงงานต่อเดือนในปี 2565 ในขณะที่พุ่งสูงขึ้นถึง 159 โรงงานต่อเดือน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ส่งผลให้หากนับรวมตั้งแต่ต้นปี 2566 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2567 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง

ยอดเปิดโรงงานใหม่ก็ลดลง

แม้ว่าในภาพรวมยอดเปิดโรงงานจะยังเยอะกว่ายอดปิดโรงงาน แต่ตัวเลขการ เปิดตัวโรงงานใหม่ที่ลดลงกว่าในอดีต ย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมไทยที่ไม่ดีนัก โดยยอดการเปิดโรงงานสุทธิ (จำนวนโรงงานเปิดหักลบด้วยโรงงานปิด) ในภาพรวมชะลอตัวลงอย่างมาก ลดลงเหลือเพียง 50 โรงงานต่อเดือน จากค่าเฉลี่ยที่เป็นบวกสุทธิประมาณ 150 โรงงานต่อเดือน

อุตสาหกรรมที่มีทิศทางน่ากังวลเนื่องจากมีการหดตัวของการผลิตและโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นมาก คือ กลุ่มการผลิตเครื่องหนัง การผลิตยาง อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมไม้ และการผลิตเครื่องจักร ในขณะที่โรงงานเปิดใหม่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก ส่วนการปิดตัวที่เกิดขึ้นจากโรงงานขนาดใหญ่เป็นหลักเป็นภาพสะท้อนว่าปัญหาการปิดตัวโรงงานเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในภาพใหญ่ที่กระทบกับอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรม

ข้อมูลอีกหนึ่งชุดที่ตอกย้ำความน่ากังวลของสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรม คือ การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในภาคการผลิต ที่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนและสะท้อนปัญหาที่รุนแรงในภาคอุตสาหกรรมไทย มากกว่าเป็นการชะลอตัวชั่วคราว ซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นต้องปิดโรงงานและกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

3 ปัจจัยลบน่ากังวล 

ข้อมูลการเปิด-ปิดโรงงานของอุตสาหกรรมไทยในมุมมองของ KKP Research นับเป็นภาพสะท้อนและผลลัพธ์ของการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่พึ่งพามูลค่าเพิ่มจากภาคอุตสาหกรรมกว่า 35% ของมูลค่าเศรษฐกิจ โดยตั้งแต่หลังช่วงโควิดมากลับกลายเป็นภาคบริการที่ขยายตัวได้ดี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าข้อมูลเดือนล่าสุดของการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยกลับมาเป็นบวกในรอบมากกว่า 1 ปี และหลายฝ่ายยังหวังว่าจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ปรับดีขึ้นจะกลับมาช่วยภาคอุตสาหกรรมไทยกลับมาขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม KKP Research กลับมีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมไทยในระยะยาว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  • การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในบางกลุ่มสินค้าหลัก เช่น การเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นรถยนต์ EV โดยในช่วงที่ผ่านมามีการส่งออกรถยนต์ EV ราคาถูกจากจีนมายังไทยและส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งยอดขายและราคารถยนต์ ICE ในไทย หรือ การเปลี่ยนจากการใช้ HDD เป็น SSD ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อราคา EV และ SSD มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้เข้ามาทดแทนเทคโนโลยีเก่าได้เร็วและกว้างขึ้น
  • การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีน โดยในปัจจุบันไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่เพียงแต่เฉพาะสินค้าในกลุ่มยานยนต์ที่เข้ามายังไทย แต่ไทยมีการนำเข้าจากจีนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายกลุ่มสินค้าเมื่อเทียบกับการนำเข้าทั้งหมด รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในไทย
  • มาตรการกีดกันการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งในกรณีที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง มีแนวโน้มที่จะมีมาตรการกีดกันทางการค้าจากจีนและโลกเพิ่มเติม ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้การค้าโลกในภาพรวมชะลอตัวลง และมีโอกาสที่สินค้าจากจีนจะทะลักมายัง ASEAN รวมถึงไทยเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการระบายสินค้าของจีนไปยังตลาดส่งออกอื่น

Source