“โดม” The Star 8 ครบรส “ดราม่า” คลุกเคล้า “CSR”

 

“…คุณเลือกเขามาแล้ว อย่าทิ้งเขานะครับ ช่วยกันสนับสนุนเขาต่อไป ไม่ใช่แค่ในฐานะนักร้อง แต่ให้เขาได้เป็น…แบบอย่างและแรงบันดาลใจ…”  

สาระคำพูดของ บอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ ผู้ให้กำเนิดรายการ The Star การประกวดเพื่อค้นหานักร้องที่เพิ่งจบปีที่ 8 ไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน 2555 

คืนเดียวกับที่เขาพูดประโยคนี้เพื่อแสดงความยินดีกับ โดม – จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม หลังจากมอบถ้วยรางวัล The Star ให้กับ “โดม” ในฐานะผู้ชนะบนเวที 

รายการเดอะสตาร์ เป็นความฝันของคนรุ่นใหม่ คนที่จะกล้าก้าวเข้ามาหาโอกาสให้กับตัวเองซึ่งต้องมีความมั่นใจและมุ่งมั่นที่จะทำตามฝันอย่างจริงจัง จึงไม่แปลกที่ 8 คนสุดท้าย รวมทั้งคนที่ได้ตำแหน่งเดอะสตาร์หลายคน เป็นประเภท “แพ้แล้วไม่ท้อ” แต่พร้อมที่จะกลับเข้าสู่การคัดเลือกซ้ำอีก แม้บางคนจะเคยถูกคัดออกตั้งแต่รอบคัดเลือกก็ตาม  

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าประเด็นแพ้แล้วไม่ท้อ แต่ยังคงมุ่งมั่นก้าวตามฝัน คือเรื่องราวที่รายการเดอะสตาร์พยายามเสนอมาตลอดระยะเวลา 8 ปี แม้จะถูกจิกกัดว่าเป็น “ดราม่า” หรือ “มาม่า” ศัพท์แสลงที่ใช้กันมากโดยเฉพาะในเว็บพันทิป  

เช่นเดียวกับโดม หรือ “โดมเรมอน” ฉายาใหม่ของ จารุวัฒน์ ที่พี่โจ้ สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา หนึ่งในคอมเมนเตเตอร์เรียกขานเป็นคนแรกในฐานะที่โดมสามารถแสดงความสามารถได้หลากหลายเกินคาด ความสามารถของโดมที่พัฒนาและค่อยๆ แสดงให้เห็นนอกเหนือจากเสียงร้องโดดเด่น ความแม่นโน้ต และเทคนิคการร้องที่ทำให้ทุกเพลงที่ร้องเหมือนเป็นเพลงของตัวเอง เป็นสิ่งเติมเต็มที่ทำให้โดมเพิ่มระดับแฟนคลับและเสียงโหวตมากขึ้นๆ ในทุกๆ สัปดาห์ของการแข่งขัน  

“แฟนคลับแรกๆ จะเป็นเพื่อนๆ กัน จากโต๊ะที่คณะ ชื่อโต๊ะหางนกยูงเป็นโต๊ะของนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ช่วงหลังจะเริ่มเห็นคนที่เราไม่เคยรู้จัก คนใต้ก็เยอะ บางคนก็ติดตามเรื่องครอบครัวด้วย ตอนหลังมีถึงขนาดมาช่วยเหลือที่บ้าน คอยมารับมาส่งคุณพ่อคุณแม่ที่ขึ้นมาดูการแข่งขัน” โดมให้ข้อมูลกับ POSITIONING 2 วันหลังชนะการประกวด

ถ้าย้อนถามถึงความรู้สึกตอนได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็น 8 คนสุดท้ายของเดอะสตาร์ปี 8 โดมบอกว่า ถือเป็นความสำเร็จขั้นแรก และลบสิ่งที่ค้างคาใจไปได้ว่าทักษะด้านการร้องเพลงที่เขาพัฒนาตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง สามารถเอาชนะรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตอบรับของสังคมที่ยอมรับเรื่องของคุณภาพเสียงร้องมากขึ้น

หากจะให้ถ่ายทอดความรู้สึกนี้ออกมา ก็คงไม่ต่างจากประโยคที่เขาพูดในระหว่างคอนเสิร์ตรอบ 3 คนสุดท้ายที่ว่า

“จริง ๆ แล้ว ผมเป็นคนหนึ่งที่มีความฝันนะครับ แต่ว่าผมไม่เคยกล้าที่จะเดินตามฝัน ด้วยความคิดที่คิดอยู่เสมอครับว่า เด็กอ้วนๆ ดำๆ คนหนึ่งฝันที่จะเป็นนักร้องและก็อยากจะให้ทุกคนยอมรับ มันคงเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าวันนี้ ผมมายืนอยู่ตรงนี้ มันเป็นความรู้สึกที่เกินฝันมากๆ ครับ”

โดมเล่าว่า เขาเคยเข้าร่วมคัดเลือกกับเดอะสตาร์ครั้งแรกประมาณ 4-5 ปีก่อน 

“ตอนนั้นเรียนอยู่มัธยม เด็กมากๆ ไม่เคยฝึก จนเข้ามหาวิทยาลัย ได้ลองหาประสบการณ์ทำงานร้องเพลงกลางคืน มีประสบการณ์กับดนตรี มีคนช่วยดูแล ช่วยเหลือ ช่วยสอน คิดว่าน่าจะพร้อมเลยมาสมัคร” 

ปัจจุบันโดมมีสถานะเป็นนักศึกษาปี 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเดิมเขาเคยคิดที่จะเลือกเรียนนิเทศศาสตร์ แต่ด้วยความรู้สึกอยากทำในสิ่งที่คุณพ่อชอบ เลยตัดสินใจสอบเข้านิติศาสตร์เพื่อเป็นกำลังใจให้คุณพ่อซึ่งเคยเป็นกำลังหลักของครอบครัวที่ล้มป่วยลงได้รับความรู้สึกดีๆ 

เรื่องราวดราม่าในเดอะสตาร์ จะมาจากข้อมูลที่ผู้เข้าแข่งขันกรอกไว้ในใบสมัคร ซึ่งนอกจากข้อมูลประวัติส่วนตัวจะมีคำถามที่เกี่ยวกับความรู้สึกด้วย เช่น เหตุการณ์ที่เศร้า หรือสุขที่สุดในชีวิต เป็นต้น ซึ่งกลายเป็นสตอรี่ในการดำเนินรายการสำหรับผู้สมัครแต่ละคนที่จะถูกหยิบมาพูดถึงในโอกาสต่อๆ ไป 

“รายการเราไม่ได้วางเรื่องดราม่า เรื่องราวพวกนี้ผู้สมัครวางของเขากันเองเพราะชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน ในแบบสอบถามเรามีให้ทุกคนกรอก แต่การคัดเลือกเสียงต้องมาก่อน หน้าตาอาจจะมีบ้าง พอเข้ารอบมาแล้วอาจจะเอาข้อมูลในใบสมัครมาเป็นส่วนประกอบบ้าง” ทีมงานเอ็กแซ็กท์ให้ข้อมูลเสริม 

 นอกจากประกวดเพื่อหานักร้องเสียงคุณภาพ อีกมุมหนึ่งของเดอะสตาร์ จึงมักจะได้รับการพูดถึงแทบทุกปีว่า เป็นรายการที่ “ดราม่าเด่น” ด้วย 

เดอะสตาร์เป็นรายการที่ไม่มีเงินรางวัลก้อนโตให้กับผู้ชนะ สิ่งที่ให้เป็นเพียงโอกาสสำหรับผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนักร้อง นั่นคือการได้ออกอัลบั้มเพลงเป็นของตัวเองเต็มๆ หนึ่งอัลบั้มภายในระยะเวลา 1 ปี และงานโชว์ต่างๆ  ซึ่งทีมงานเอ็กแซ็กท์ให้ข้อมูลว่าอย่างน้อยๆ ผู้ชนะจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเลข 7 หลักในช่วง 1 ปีที่ครองตำแหน่ง

“ตอนนี้เรื่องอัลบั้มยังไม่ได้เริ่ม โปรแกรมงานของผมจะเหมือนกับเพื่อนๆ เพราะอยู่ในช่วงทำอัลบั้มรวมเดอะสตาร์ 8 การทำอัลบั้มเดี่ยวเป็นความใฝ่ฝัน เป็นโอกาสที่ได้มาแล้ว และต้องทำ ส่วนเรื่องอื่นๆ ต้องดูว่าจะมีโอกาสอะไรเข้ามา ซึ่งผมอยากทำทุกอย่างที่มีคนเปิดโอกาสให้ลองทำ”

นี่คือการตั้งรับสำหรับโอกาสใหม่ๆ ของโดมหลังรับตำแหน่ง แต่สิ่งที่เขาเขียนในใบสมัครว่าอยากทำมากที่สุดหากเลือกได้คือ “อยากร้องเพลงละคร”

แม้หลายคนจะมองว่าโดมมีความสามารถในการร้องเพลงระดับนักร้องอาชีพ แต่คำแนะนำจากคุณบอยที่เขาได้รับ ยังเน้นให้ปรับปรุงเรื่องการร้อง โดยเฉพาะการสื่อสารในสิ่งที่ร้องออกไป 

“คุณบอยแนะนำว่า เข้าเพลงแล้วร้องโดยไม่รู้สึก อย่างไรมันก็ไม่เพราะ แต่ถ้าส่วนตัวผม สิ่งที่อยากปรับปรุงมากที่สุดคือเรื่องของบุคลิกภาพ การจัดระเบียบร่างกาย เพราะเวลาออกทีวี รูปร่าง ลักษณะท่าทางที่คนเห็นเป็นส่วนสำคัญ ไม่ต้องทำให้หล่อ แต่ทำอย่างไรให้มันน่าดู และให้คนดูแล้ว รู้สึกสบายใจ” 

ใครที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย…กับคำแนะนำของคุณบอยและสิ่งที่โดมต้องการปรับปรุงตัวเอง แนะนำให้กลับไปดูเทปประกวดในเพลง “คำอธิษฐานด้วยน้ำตา” เพลงแรกในชีวิตของโดม ที่แต่งไว้แล้วใกล้เคียงกับชีวิตจริง และตีความได้ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตทางบ้าน ความรู้สึกของตัวเอง และความรู้สึกของคนที่มีคนรักแล้วคนรักจากไป 

นอกจากดูลักษณะท่าทางภายนอก ดูแล้วให้ลองทายว่า โดมต้องการสื่ออะไรระหว่างร้องเพลงนี้ แล้วมาดูว่าตรงกับความรู้สึกที่โดมบอกไว้นี้ไหม 

“เวลาร้องก็คิดถึงที่บ้านในแง่บวก มันเป็นเพลงเศร้า เนื้อหาพูดถึงความสุขที่ดีมาตลอด วันหนึ่งมันหายไป อยากให้มันกลับมา นึกถึงมันเราก็คงต้องยิ้ม ยิ้มด้วยน้ำตา ก็คงไม่ได้เศร้า ออกมาเป็นความรู้สึกในแง่บวกมากกว่า”