มวยไชยา เสน่ห์อยู่ที่การป้องกันตัว

มวยไชยาถือเป็นอีกหนึ่งแขนงของศิลปะมวยไทย กำลัง “เทรนดี้” ไม่แพ้กัน เสน่ห์ของมวยไชยา คือ ลูกไม้ ที่แนวทางการป้องกันตัวที่กลายเป็นการรุกคู่ต่อสู้ไปในตัว เรียกได้ว่ามีทั้งรุกและรับในเวลาเดียวกัน ส่วนมวยทั่วไปเมื่อถึงลูกไม้ที่ใช้รับก็รับเน้นการป้องกันตัวอย่างเดียว แต่ข้อเด่นก็คือ เวลารุกก็จะรุนแรงหนักหน่วงกว่ามวยไชยา ปัจจุบันมวยไชยามีค่ายที่เปิดสอนมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ ค่าย “บ้านช่างไทย” ของ ครูเล็ก-กฤดากร สดประเสิรฐ ที่เน้นการฝึกสอนมวยไชยาแบบดั้งเดิม ที่นอกจากมีค่ายมวยแล้ว ยังมีสื่อในมือทั้งทีวี เว็บไซต์ และ App ไว้รองรับคนรุ่นใหม่  

 

“มวยไชายา” ฟื้นอีกครั้งด้วยสื่อ

ปัจจุบัน “บ้านช่างไทย” มีคนดังหลายคนเข้ามาร่ำเรียนศิลปะมวยไชยาจากที่นี่ เช่น เป้-อารักษ์, ตั๊ก-นภัสสกร, มาริโอ่ เมาเร่อ, อนันดา เอเวอริ่งแฮม หรือถ้าทางฝั่งดาราผู้หญิงก็มี นีน่า-กุลนัดดา ปัจฉิมสวัสดิ์ รวมแล้วครูเล็กมีลูกศิษย์ทั้งสิ้นหลักพันคน ตลอดระยะเวลาที่ครูเล็กเปิดสอนมวยมาแล้ว 16 ปี แม้แต่ดารา นักร้องวัยรุ่น ที่เริ่มต้นจากเรียนมวยไทยก็หันมาสนใจ “ต่อยอด” มาเรียนมวยไชยา เพราะมองว่า มีลูกเล่นในการชกเพิ่มขึ้น 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ชื่อของ “บ้านช่างไทย” เป็นที่รู้จักมาจากรายการโทรทัศน์ ไอทีวี วาไรตี้ เมื่อหลายปีก่อน และพบว่า นอกจากทักษะด้านศิลปะของครูเล็ก ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ครูเล็กใช้ทำมาหากินในตอนนั้นยังพบว่า ครูเล็ก มีทักษะมวยไชยาที่ร่ำเรียนมาถึง 27 ปี เรื่องราวของครูเล็ก มวยไชยา จึงถูกนำเสนอ แล้วทำให้ “บ้านช่างไทย” กลายเป็นสถานที่สอนมวยไชยานับตั้งแต่นั้น 

ดูหมือนว่าทุกวันนี้จะสอนมวยมากกว่าศิลปะตามความตั้งใจเดิม ต่อมาก็มีรายการบันเทิงอีกหลายแห่งที่เข้ามานำเสนอเรื่องราวของมวยไชยา จนกระทั่งครูเล็กเองได้โอกาสทำรายการ “เปิดกรุมวยไชยา” ทุกวันอาทิตย์ ช่อง 11 จึงถือเป็นการประชาสัมพันธ์มวยแขนงนี้อย่างต่อเนื่องจากผู้รู้จริง และเป็นรายการที่ทำให้มวยไชยาเป็นที่รู้จักอย่างเต็มตัวในวงกว้าง อีกสื่อที่ทำให้ชื่อของมวยไชยาเป็นที่รู้จัก็คือ ภาพยนตร์เรื่อง “ไชยา” ที่ออกฉายในปี 2550 แล้วเล่าเรื่องมวยแขนงนี้แบบเต็มๆ ซึ่งครั้งนั้นครูเล็กเป็นที่ปรึกษาและหนึ่งในคนที่ออกแบบคิวบู๊ให้กับหนังเรื่องนี้   

 

สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ มวยก็ออนไลน์ได้

นอกเหนือจากสื่อโทรทัศน์ ที่ทำให้ชื่อของมวยไชยาเป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว ช่องทางสื่อสารต่อจากการดูรายการเบื้องต้นทางโทรทัศน์ ต่อมาคือการเสิร์ชหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ดังนั้นค่ายมวยแห่งนี้จึงต้องปรับตัวให้ทันสมัยด้วยช่องทางการสื่อสารเว็บไซต์ www.samkhum.com เนื้อหาข้างในอธิบายหลักการพื้นฐานของมวยไชยา ซึ่งครูเล็กจะเขียนบทความ และตอบคำถามด้วยตัวเอง ทำให้ตอนนี้มีผู้ที่สนใจเข้ามาอ่านหรือมวยไชยาในเว็บไซต์ของบ้านช่างไทยประมาณ 50,000 คน 

สิ่งที่โชว์ให้เห็นว่าค่ายมวยแห่งนี้อินเทรนด์จริงๆ คงจะเป็นแอพพลิเคชั่น Muay Chaiya ที่ใส่ลูกไม้มวยไชยา 20 กว่าท่า ให้โหลดบน App Store สนนราคาอยู่ที่ 2.99 เหรียญ ซึ่งขณะนี้ทำเงินแล้ว ประมาณ 8,000-10,000 บาท ในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งเจ้าของแอพฯ ไมได้หวังสร้างรายได้โดยตรง แต่เน้นที่การเผยแพร่มวยไชยาให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง กับอีกช่องทางที่ได้รับความนิยมผ่าน E-Coupon ทั้ง Ensogo และ Groupon ซึ่งราคาส่วนลดต่ำกว่าราคาเรียนจริงกว่าครึ่ง แต่ก็หวังให้เป็นที่รู้จักและทำให้ผู้เรียนติดใจแล้วกลับมาเรียนต่อเนื่อง  

กลุ่มผู้มาเรียนมวยไชยาที่นี่ มีตั้งแต่เด็ก 4 ขวบ ไปจนถึงคนสูงอายุ 60 ปี ขอแค่มีกำลังยกแข้งยกขาได้ ก็ถือว่ามีคุณสมบัติของผู้เรียนมวยไชยาแล้ว และปัจจุบันลูกศิษย์ของครูเล็กกว่า 40% ในแต่ละคลาส เป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สังคมในปัจจุบันไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ทำให้ผู้หญิงหันมาเรียนมวยไชยามากขึ้น นัยตั้งแต่มีผู้หญิงมาเรียนคนแรกเมื่อปี 2540-2541 ครูเล็กบอกว่ากระแสที่ผู้หญิงหันมาเรียนมวยไชยาไม่ใช่เพิ่งมี แต่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป 

ด้านทำเล “บ้านช่างไทย” ตั้งอยู่ที่ย่านเอกมัย ครูเล็กกล่าวว่าเพื่อให้เดินทางได้สะดวก แต่ไม่จำกัดว่าต้องเป็นไฮโซมีเงินเท่านั้นที่มาเรียนได้ ด้วยอัตราค่าเล่าเรียนของบ้านช่างไทย อยู่ที่คอร์สละ 800 บาท ต่อการเรียน 4 ครั้ง โดยการสมัครครั้งแรกต้องลงเรียน 3 คอร์ส หรือสนนราคาอยู่ที่ 2,400 บาท ช่วงเวลาเรียน มีช่วงเวลาให้เลือกในช่วงเย็นของทุกวัน สำหรับเสาร์-อาทิตย์ก้จะมีรอบบ่ายให้เลือก แต่ละรอบจะมีผู้เรียนประมาณ 20 คน หรือจะเลือกคอร์สพิเศษที่ค่าเล่าเรียน 10,000 บาทต่อการเรียน 12 ครั้งแบบเลือกเวลาได้เอง 

ตอนนี้ที่บ้านช่างไทยมีครูอยู่ประมาณ 7-8 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นลูกศิษย์ของครูเล็กที่ผูกพันจนบางคนก็อาศัยอยู่กินที่ค่ายแห่งนี้เลย หรือบางคนก็มีงานประจำอยู่แล้วแต่ก็กลับมาสอนมวย นอกจากนี้ยังมีชาวต่างชาติอีก 2 คน ที่เรียนมานานจนอยู่ที่ค่ายทำงานเป็นครูสอนมวย หรือบางครั้งครูมวยของที่นี่ก็ขึ้นชกแข่งขันด้วย สำหรับระยะเวลาหรือว่าจำนวนครั้งที่เรียนจนกระทั่งเป็นมวย ครูเล็กบอกว่า ขึ้นอยู่กับทักษะของแต่ละคน ไม่สามารถบอกได้ว่าเรียนกี่ครั้งแล้วถึงจะเป็น 

ความโด่งดังของมวยไชยา ทำให้มีชาวต่างชาติเคยขอซื้อวิชาจากครูเล็ก โดยให้ครูเปิดโดรงเรียนสอนที่ประเทศจีนแลกกับเงินประมาณ 10 ล้านบาท แต่เมื่อคิดอย่างถี่ถ้วนแล้ว ครูเล็กเล่าให้ฟังว่าอยากให้ชีวิตเพื่อถ่ายทอดศิลปะแขนงนี้ให้คนไทยดีกว่า ส่วนชาวต่างชาติถ้าอยกามาเรียนด้วยก็ไม่ขัดข้อง แต่ต้องมาเรียนที่เมืองไทยเท่านั้น  

 

ประวัติมวยไชยา 

แต่ละพื้นที่ของประเทศไทยมักมีมวยที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง สำหรับมวยไชยา มีจุดกำเนิดที่สืบย้อนหลังได้จาก “พ่อท่านมา” พระผู้ใหญ่ที่ไปจำพรรษอยู่ที่วัดทุ่งจับช้าง อำเภอไชยา และได้สอนผู้คนแถวนั้นให้เป็นมวย รวมทั้งสอนทหารในสังกัดของเจ้าเมืองไชยา พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) ในสมัยรัชกาลที่ 5 จนกลายเป็นที่แพร่หลาย แต่เหตุการณ์ที่ทำให้มวยไชยาเป็นที่รู้จักมากที่สุด ก็ตอนที่ นายปล่อง จำนงทอง ชกหน้าพระที่นั่งแล้วชนะ จนได้รับแต่งตั้งให้เป็น “หมื่นมวยมีชื่อ” 

 

บ้านช่างไทย ศิลปะบนกำปั้น

บ้านช่างไทย เป็นค่ายมวยที่นอกจากจะสอนมวยแล้วยังเปิดสอนวาดสีน้ำกับวาดลายไทย เพราะ ครูเล็ก-กฤดากร สดประเสิรฐ เป็นผู้สืบทอดของตระกูล หมื่นช่างชำนาญกิจ อีกทั้งยังจบการศึกษาจากโรงเรียนช่างศิลป์ 

ครูเล็กเริ่มต้นหัดมวยตั้งแต่วัยเด็กๆ ช่วงอาศัยอยู่แถวๆ สี่แยกบ้านแขก แล้วโดนจิ๊กโก๋รังแกอยู่เรื่อยๆ จึงเริ่มหัดมวยจากพี่ชายคนโตตั้งแต่ตอนอายุ 12 ถึงแม้ว่าจะสู้เอาตัวรอดได้ แต่ก็เจ็บตัวอยู่ดี จนกระทั่งอายุ 16 ปี ได้มีโอกาสอ่านหนังสือเกี่ยวกับหมัดมวยที่เขียนโดยอาจารย์เขตร ศรียาภัย แล้วประทับใจ จึงศึกษาประวัติแล้วฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ในตอนที่ตัวเองยังวัยรุ่น แต่อาจารย์เริ่มมีอายุมาก จนกระทั่งครูเล็กอายุ 21 ปี อาจารย์เขตรก็เสียชีวิตลง ทั้งๆ ที่ ครูเล็กยังรู้สึกว่ามีความรู้ทางมวยที่ยังไม่กระจ่างนัก ต่อมามีโอกาสได้พบกับอาจารย์ทองหล่อ ยาและ ซึ่งเป็นลูกศิษย์เอกคนหนึ่งของอาจารย์เขตร ครูเล็กจึงต่อยอดความรู้ที่คั่งค้างอยู่จนหมดสิ้น รวมเวลาที่ครูเล็กเรียนมวยไชยาตั้งแต่อายุ 12-39 ปี รวมเป็นเวลา 27 ปี จึงเริ่มต้นเปิดโรงเรียนสอนมวย ด้วยหวังว่าอยากจะอนุรักษ์ลมหายใจของชาติ