แก้แค้นแบบใด? วัยรุ่นจีนหันมา ‘ออมเงิน’ เพื่อแก้แค้น แทนการซื้อของตามอารมณ์

ช่วงหลังจากการระบาดของโควิด เราน่าจะเคยได้ยินเทรนด์ เที่ยวแก้แค้น หรือ ช้อปแก้แค้น เพื่อระบายความอัดอั้นที่ต้องอยู่แต่บ้านในช่วงเวลานั้น แต่จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก โดยเฉพาะในจีน ทำให้วัยรุ่นชาวจีนหันมาแก้แค้นแบบใหม่ด้วยการ ออมเงิน

แทนที่จะฟุ่มเฟือยในการ ซื้อของตามอารมณ์ แต่คนรุ่นใหม่ของจีนกลับ ออมเงินอย่างบ้าคลั่ง โดยจะเริ่มเห็นได้จากบนโซเชียลมีเดียในจีน ที่เหล่าวัยรุ่นได้ตั้งเป้าหมายการออมเงินในแต่ละเดือนไว้สูงลิ่ว หลังจากที่ เศรษฐกิจของ จีน ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกยังคงอยู่ในภาวะถดถอย

อาทิ Little Zhai สาวจีนวัย 26 ปี ที่พยายามคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ที่เพียง 300 หยวน/เดือน (ราว 1,500 บาท) โดยผู้ใช้โซเชียลฯ หลายรายก็จะช่วยกันแชร์พิกัดร้านที่ขายสินค้าราคาถูก เช่น การรับประทานอาหารที่โรงอาหารของชุมชน เป็นต้น

“วัยรุ่นจีนในช่วงทศวรรษ 2010 มักจะใช้เงินมากกว่าที่หาได้และกู้เงินมาซื้อของหรูหรา เช่น กระเป๋า Gucci และ iPhone ของ Apple แต่ตอนนี้ วัยรุ่นจีนกลับเริ่มออมเงินมากขึ้น ออมเงินเพื่อแก้แค้น” ชอน เรน กรรมการผู้จัดการของ China Market Research Group กล่าว

สัญญาณอื่น ๆ ที่บ่งบอกว่าชาวจีนรุ่นใหม่กำลังรัดเข็มขัดทางการเงิน ได้แก่ คำศัพท์ที่กำลังเป็นกระแส เช่น ลดการบริโภคลง และ เศรษฐกิจที่ประหยัด ซึ่งหมายถึง การพยายาม ลดการใช้จ่ายอย่างมีสติ มากขึ้น และการ แสวงหาส่วนลด และข้อเสนอพิเศษเมื่อจับจ่ายซื้อของ 

อีกข้อมูลที่บ่งชี้ว่าวัยรุ่นจีนหันมาออมเงินมากขึ้นก็คือ จำนวนเงินฝากรวมที่เพิ่มขึ้น โดยรายงานล่าสุดของ ธนาคารประชาชนจีน ระบุว่า เงินฝากหยวนรวมของครัวเรือนในไตรมาสแรกของปี 2024 เติบโตขึ้น +11.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี 

อย่างไรก็ตาม เทรนด์ดังกล่าวนั้นอาจพูดไม่ได้เต็มปากว่าเกิดจากความต้องการของเหล่าวัยรุ่น เพราะ ตลาดแรงงานจีน อยู่ในภาวะตึงตัว ซึ่งส่งผลเสียต่อคนรุ่นใหม่เป็นพิเศษ ดังนั้น วัยรุ่นบางคนที่หันมาออมเงินมากขึ้นเป็นเพราะ หางานไม่ได้ หรือพบว่า การหารายได้เพิ่มเป็นเรื่องยาก 

“การที่คนไม่ยอมใช้เงินเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่จีน โดยกับบางคนเป็นเพราะพวกเขาหางานไม่ได้ หรือพวกเขาพบว่าการเพิ่มรายได้เป็นเรื่องยากขึ้น พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้เงินน้อยลง” เจีย เมียว ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กเซี่ยงไฮ้ กล่าว 

โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อัตราการว่างงานของเยาวชนอายุ 16-24 ปี ของจีนอยู่ที่ 14.2% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 5% ขณะที่เงินเดือนเฉลี่ยของนักศึกษาปริญญาตรีที่ได้รับอยู่ที่ 6,050 หยวน (30,000 บาท) เพิ่มขึ้น 1%

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมขอวัยรุ่นจีนนั้นตรงกันข้ามกับแนวโน้มที่กว้างขึ้นในกลุ่มคน Gen Z ทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ Gen Z ถึง 73% กล่าวว่า พวกเขาอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมากกว่ามีเงินในธนาคารมากขึ้น 

Source