-
SCGD บุกตลาด “แผ่นปูพื้น SPC” เต็มตัว เริ่มเดินเครื่องโรงงานหินกอง จ.สระบุรี กำลังผลิต 1.8 ล้านตารางเมตร ส่งออกทั่วอาเซียน คาดมูลค่าตลาดมีกว่า 8,000 ล้านบาท
-
ด้านตลาดกระเบื้องเซรามิกส์ สนใจลงทุนโรงงานเพิ่มใน “เวียดนามใต้” ซุ่มเจรจาควบรวมกิจการ
“นำพล มลิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดของ “โรงงานแผ่นปูพื้น SPC LT by COTTO” ของบริษัทที่ อ.หินกอง จ.สระบุรี ปัจจุบันเดินเครื่องแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยโรงงานนี้ใช้เงินลงทุนไปทั้งหมด 138 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี
SCGD มีการทำตลาด “แผ่นปูพื้น SPC” มานาน แต่เดิมใช้วิธีการสั่งผลิตจากซัพพลายเออร์ในต่างประเทศ แต่หลังจากพบว่าตลาดเติบโตเร็วขึ้น โดยเมื่อปี 2566 ทำยอดขายมากกว่า 350 ล้านบาท โต 2 เท่าจากปี 2564 และคาดการณ์ว่าปี 2567 จะทำยอดขายทะลุ 500 ล้านบาท
บริษัทจึงตัดสินใจลงทุนสร้างไลน์ผลิตแผ่นปูพื้น SPC LT by COTTO ของตนเอง และถือเป็นโรงงานผลิตแผ่นปูพื้น SPC/LT แห่งแรกและแห่งเดียวในไทย จึงน่าจะใช้จุดแข็งนี้เป็นข้อได้เปรียบในการบริหารซัพพลายเชน สามารถผลิตและจัดส่งสินค้าได้เร็วกว่าการสั่งผลิต ลูกค้ารอสินค้าสั้นลง และบริษัทสามารถควบคุมคุณภาพได้ดีกว่า
นอกจากการตอบสนองตลาดในประเทศแล้ว นำพลคาดว่าตลาดสินค้าแผ่นปูพื้น SPC ในประเทศอาเซียนก็จะเติบโตมากขึ้นในอนาคต คาดมูลค่าตลาดแผ่นปูพื้นไวนิล SPC นี้ทั้งในไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์จะมีมูลค่ารวมกันกว่า 8,000 ล้านบาท
แผ่นปูพื้น SPC ถือเป็นหนึ่งใน “สินค้ากลุ่มนวัตกรรมเพิ่มมูลค่า” ของ SCGD ร่วมกับสินค้าอื่นๆ เช่น กระเบื้องฟอกอากาศ กระเบื้องสำหรับสัตว์เลี้ยง แผ่นหินวีเนียร์ดัดโค้งได้ สินค้าเหล่านี้ถือเป็นสินค้าที่สร้างกำไรมากกว่าสินค้าปกติประมาณ 10% ทำให้บริษัทจะมุ่งเน้นผลักดันมากขึ้น
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากกลุ่มสินค้านวัตกรรมมีประมาณ 20-25% ในรายได้รวมของ SCGD นำพลกล่าวว่าในอนาคตจะรักษาระดับสัดส่วนให้อยู่ที่ 25-30% ส่วนใหญ่น่าจะได้ยอดขายจากตลาดไทยมากกว่า แต่มีสินค้าบางตัวที่เริ่มนำไปทำตลาดอาเซียนแล้วเช่นกัน
เล็งลงทุนโรงงานกระเบื้องเซรามิกส์เพิ่มใน “เวียดนามใต้”
ในแง่การลงทุนของบริษัท นำพลมองตลาดที่จะมาแรงในอนาคตคือ “เวียดนาม” เนื่องจากจำนวนประชากรที่เติบโตทะลุ 100 ล้านคน และโครงสร้างประชากรส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว จะมีความต้องการซื้อบ้านเพิ่มขึ้นอีกในระยะยาว ทำให้ SCGD ให้น้ำหนักการลงทุนไปที่เวียดนามมากขึ้น
ปัจจุบันเฉพาะโรงงานผลิตกระเบื้องและวัสดุปิดผิวจากเซรามิกส์ของ SCGD ในไทยมีกำลังผลิต 80 ล้านตารางเมตรต่อปี ในเวียดนามมีกำลังผลิต 83 ล้านตารางเมตรต่อปี ฟิลิปปินส์มีกำลังผลิต 12.6 ล้านตารางเมตรต่อปี และอินโดนีเซียมีกำลังผลิต 11.6 ล้านตารางเมตรต่อปี
เห็นได้ว่ากำลังผลิตวัสดุปิดผิวเซรามิกส์ของบริษัทในเวียดนามโตแซงประเทศไทยแล้ว และนำพลระบุว่าบริษัทยังสนใจจะลงทุนเพิ่มอีกด้วย เนื่องจากขณะนี้บริษัทมีโรงงานใหญ่ในภาคเหนือและภาคกลางของเวียดนาม แต่ด้วยภูมิประเทศของเวียดนามเป็นเส้นยาว การขนส่งข้ามภาคมีค่าใช้จ่ายสูง จึงต้องการจะตั้งโรงงานเพิ่มในเขต “เวียดนามใต้” ด้วยเพื่อให้ครอบคลุมและแข่งขันได้ทั่วประเทศ
ในตลาดเวียดนามใต้นั้นมีกำลังซื้อกระเบื้องเซรามิกส์ราว 60 ล้านตารางเมตรต่อปี ทำให้ SCGD วางแผนจะลงโรงงานกำลังผลิตอย่างน้อย 10 ล้านตารางเมตรต่อปีในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้บริษัทจะใช้วิธีควบรวมกิจการ (M&A) มากกว่าการลงทุนสร้างใหม่เพราะจะได้เดินเครื่องได้เร็วกว่า ขณะนี้กำลังเจรจาดีลโดยตั้งงบไว้ 1,000-2,000 ล้านบาท
แผนการเติบโตของ SCGD ในระยะยาวนั้นต้องการจะโต 2 เท่าภายในปี 2573 มุ่งสู่รายได้ 58,000 ล้านบาทต่อปี และเมื่อถึงเวลานั้นตลาดจะแตกต่างจากปัจจุบันที่แหล่งรายได้ใหญ่ 65% ยังคงอยู่ในไทย แต่ในอีก 6 ปีคาดว่าสัดส่วนรายได้จะพลิกกลายเป็นจากในประเทศไทย 45% และจากต่างประเทศ 55%