บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 เปิดรายชื่อครั้งที่ 2 กับสุดยอด 30 ศิลปินชั้นนำจากทั่วโลก ปลุกกระแสวงการศิลปะไทย ด้วยผลงานภายใต้แนวคิดใหม่ “รักษา กายา (Nurture Gaia)” 24 ตุลาคมนี้ ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2568


มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) กรุงเทพมหานคร และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ และเอกชนทุกภาคส่วน เตรียมเปิดฉากสร้างความเซอร์ไพรส์ครั้งใหม่กับเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น ครั้งที่ 4 กับความยิ่งใหญ่ระดับโลก ที่กำหนดจัดขึ้นในทุก ๆ 2 ปี เพื่อปลุกกระแสและสร้างความตื่นตัวให้กับวงการศิลปะไทย และทั่วโลกอีกครั้ง ภายใต้แนวคิด “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2667 ถึง 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

ล่าสุดประกาศรายชื่อศิลปินชื่อดังเป็นครั้งที่สองเพิ่มเติม 30 ศิลปินนานาชาติจากทั่วโลก ซึ่งจากเดิมประกาศครั้งแรกจำนวน 15 ท่าน รวมศิลปินที่ประกาศแล้วทั้งสิ้น 45 ท่าน และมีกำหนดประกาศอีกครั้งในเดือนกันยายนนี้ ที่จะมาร่วมจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยบนสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร ทั้งในย่านใจกลางเมือง และในย่านเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยมากกว่า 200 ผลงาน ได้แก่  วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร / วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร / วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร / พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร / พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือ หอศิลป์เจ้าฟ้า/ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร / มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้  / วันแบงค็อก และ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ในนามประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กล่าวว่า “ตลอดการจัดงาน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ภายใต้แนวคิด “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ในช่วง 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2667 ถึง 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568  เราคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว นักศึกษา ศิลปิน และผู้สนใจรักศิลปะจำนวนมากจากทั่วโลกมาเยือนกรุงเทพฯ เพื่อร่วมงานเทศกาลศิลปะนานาชาติที่สำคัญงานหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นก็คือ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ซึ่งงานนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ยกระดับระบบนิเวศทางศิลปะ และสนับสนุนศิลปินไทยให้เข้าร่วมในเทศกาลศิลปะที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

สำหรับรายชื่อ 30 ศิลปินนานาชาติตัวแทนจากทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป ทวีปแอฟริกา และทวีปโอเชียเนีย ที่เข้าร่วมแสดงผลงานศิลปะทั่วเมืองกรุงเทพมหานคร นำโดย อเดล อับเดสเซเหม็ด (อัลจีเรีย และฝรั่งเศส) หริธร อัครพัฒน์ (ประเทศไทย) ไอดีน แบร์รี (ไอร์แลนด์) อาริ บายูอาจิ (อินโดนีเซีย แคนาดา) เจนนี บริงเอเกอร์ (นอร์เวย์) ดันเต้ บู (มอนเตเนโกร เยอรมนี) เคียร่า คาโมนี (อิตาลี)  เชว จอง ฮวา (เกาหลีใต้) ไอแซก ชอง หว่าย (เบอร์ลิน ฮ่องกง) ซูซาน คอลลินส์ (อังกฤษ) ปรียากีธา ดีอา (สิงคโปร์) เกร์เรโร โด ดิวีโน อามอร์ (สวิตเซอร์แลนด์ บราซิล) นิก ดูดคา (รัสเซีย) เอล์มกรีน & แดรกเซท (เดนมาร์ก และนอร์เวย์) เพจวาค คอลเล็คทีฟ (รัสเซีย อิหร่าน แคนาดา) จิตรา คเณศ (อเมริกา) อแมนดา เฮง (สิงคโปร์) กามีย์ อองโรต์ (ฝรั่งเศส อเมริกา) บากุส ปันเดกา & เคอิ อิมาซุ (อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น) อากิ อิโนมาตะ (ญี่ปุ่น) คีร่า โอ’ไรลี (ไอร์แลนด์ ฟินแลนด์) บุนโปน  โพทิสาน (ลาว) ราวินเดอร์ เรดดี้ (อินเดีย) ลิซ่า เรฮานา (นิวซีแลนด์) ณัฐพล สวัสดี (ประเทศไทย) เดวิด ชองโก และ ฟิลิป ฟาน ดิงเงอเนน (คองโก และเบลเยียม) ยองจุน ทัค (เกาหลีใต้) เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ (ประเทศไทย)    ศุภวิชญ์ วีสเพ็ญ (ประเทศไทย) มาอิ ยามาชิตะ+นาโอโตะ โคบายาชิ (ญี่ปุ่น)

เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 จัดแสดงในสถานที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ วัด และโบราณสถานสำคัญ ล้วนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของไทย ที่เป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยความพิเศษในปี 2024 เราเพิ่มพื้นที่จัดแสดงงานใหม่ตามเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาอย่าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือ หอศิลป์เจ้าฟ้า ซึ่งเป็นสถานที่ที่งดงามและมีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว และผู้รักงานศิลปะ”

พร้อมกันนี้ยังมีคณะภัณฑารักษ์ผู้มากประสบการณ์อีก 5 ท่าน มาร่วมทำงานกับศิลปิน และคัดเลือกผลงานศิลปะ จากนานาประเทศ อาทิ  ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่  อากิโกะ มิกิ ภัณฑารักษ์ และผู้อำนวยการศิลป์นานาชาติ Benesse Art Site เกาะนาโอชิมะ ประเทศญี่ปุ่น  ดร.ไบรอัน เคอร์ติน นักวิจารณ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย และภัณฑารักษ์อิสระ ดร.ปรมพร ศิริกุลชยานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์และ อดีตผู้อำนวยการหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พอใจ อัครธนกุล ภัณฑารักษ์ประจำ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่

ดร. ไบรอัน เคอร์ติน นักวิจารณ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย และภัณฑารักษ์อิสระ กล่าวว่า “ศิลปิน BAB ในปีนี้นำเสนอการมีส่วนร่วมอย่างอ่อนโยนกับโลก ทั้งธรรมชาติและประชากรที่ครอบครองโลก ผลงานของพวกเขากระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นของเราเกี่ยวกับจังหวะ เสียง มุมมอง และ ความสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมความรู้สึกถ่อมตัวว่าเราเป็นใครและดำรงอยู่ได้อย่างไร แต่ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 บางครั้งก็ปลุกเร้าความรู้สึกถึงความรุนแรงของปัญหาโลกที่เพิ่มมากขึ้น”

พอใจ อัครธนกุล ภัณฑารักษ์ประจำ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กล่าวถึงหัวข้อ “Nurture Gaia” ว่า “ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่คัดสรรภายใต้ธีมงาน Nurture Gaia นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้ฉุกคิดแล้ว ยังผลักดันให้เราเผชิญหน้ากับปัญหาร่วมสมัยและเรื่องราวความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน คำว่า การ “ดูแลเอาใจใส่ (care)” เป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ มีความหมายที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน ทำให้เราไตร่ตรองถึงการตอบสนองของตัวเราเองต่อสิ่งรอบตัว ความสัมพันธ์ และความเชื่อมโยงของเราต่อสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นถึงขอบเขตที่การดูแลเอาใจใส่ปรากฏในรูปแบบของการควบคุม ทั้งเหนือร่างกายสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยที่เราอาศัยอยู่”

และได้รับเกียรติจากคณะที่ปรึกษานานาชาติที่มีชื่อเสียง อาทิ มารีนา อบราโมวิช ศิลปินระดับโลก เจ้าของรางวัลสิงโตทองคำ ลิโต คามาโช ประธานกรรมการ University of the Arts Singapore (UAS) คิม คามาโช นักสะสมผลงานศิลปะ มามิ คาตาโอกะ ผู้อำนวยการ Mori Art Museum ประเทศญี่ปุ่น ดร.ยูจีน ตัน ผู้อำนวยการ National Gallery Singapore และ Singapore Art Museum ฌอง-ฮูแบร์ มาร์แตง ผู้อำนวยการกิตติมศักดิ์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งชาติ Centre Pompidou ประเทศฝรั่งเศส และชิว จือเจี่ย ศิลปิน ภัณฑารักษ์ นักเขียน และประธานอำนวยการ Tianjin Academy of Fine Arts และอาจารย์ที่ Central Academy of Fine Arts ประเทศจีน มาร่วมในการจัดงานครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสำหรับผู้ที่สนใจในศิลปะอย่าง “DEK BAB” ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาบุคลากรด้านศิลปะ เปิดโอกาสให้ผู้ที่ชื่นชอบศิลปะที่มีจิตอาสา และอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเบื้องหลังการจัดเทศกาลฯ ตั้งแต่ระดับนิสิตนักศึกษาไปจนถึงบุคคลทั่วไปได้ทำหน้าที่คล้ายกับทูตที่เชื่อมโยงระหว่างศิลปินกับผู้ชมเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ในหน้าที่ต่างๆ อาทิ ผู้ช่วยติดตั้งงานศิลปะ (Artist Crew) , ผู้ติดตามศิลปิน (Liaison) และ ผู้นำชมและดูแลชิ้นงาน (Docent) เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567

ติดตามข่าวสาร และตารางกิจกรรมของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 Bangkok Art Biennale 2024 (BAB 2024) เพิ่มเติมได้ทาง  Facebook และ Instagram : Bkkartbiennale