แมเนเจอร์เป็นเว็บไซต์ที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ของ สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ ที่มองทะลุสู่โลกดิจิตอลตั้งแต่ 20 ปีก่อน และเชื่อว่าชีวิตดิจิตอลจะเป็นสิ่งที่เข้าถึงผู้คนทั่วไป ไม่ได้จำกัดเฉพาะองค์กรระดับใหญ่เท่านั้น แม้ว่า ณ วันนั้น ยังเป็นยุคที่การส่งแฟกซ์ระหว่างกรุงเทพฯ นิวยอร์กแค่ทำได้ภายใน 1 นาทียังเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอยู่ด้วยซ้ำ
วันนี้เว็บไซต์ข่าวกลายเป็นรากฐานของการพัฒนานิวมีเดียในโลกดิจิตอล เว็บผู้จัดการนอกจากมาจากวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งยังเกิดจากแรงบันดาลใจที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมากและหลากหลายไปสู่ผู้อ่านในวงกว้าง ซึ่งกว่าเทคโนโลยีจะมาเติมเต็มให้คนเข้าถึงโลกออนไลน์ได้มากขึ้นก็เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเริ่มต้นเดินหน้าเว็บไซต์ข่าวก่อนเทคโนโลยีจะพร้อมเต็มที่ของเครือผู้จัดการ ทำให้เว็บไซต์แมเนเจอร์กลายเป็นเว็บข่าวยอดนิยมอันดับหนึ่งต่อเนื่องมานับแต่ตอนนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 10 ปี
“เราก็เป็นคนแรกที่ก้าวสู่ข่าวดิจิตอล เป็นคนแรกที่ได้เรียนรู้ รวมถึงค้นพบปัญหาและแก้ปัญหา” วริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการ เว็บไซต์ manager.co.th กล่าว
เครือผู้จัดการเริ่มต้นจากนิตยสารผู้จัดการรายเดือนเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ขยายสู่หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ รายวัน นิตยสารการตลาด POSITIONING และนิตยสารวัยรุ่นและไลฟ์สไตล์อีกหลายหัว ทั้งหมดล้วนแต่ซินเนอยี่กับเว็บไซต์เมเนเจอร์ซึ่งเปรียบเหมือนถังข้อมูลขนาดใหญ่ หรืออาจจะเทียบได้กับรากฐานที่มั่นคงพอจะสร้างอาคารสูง 100 ชั้น แต่ค่อยๆ พัฒนามาอย่างมั่นคงเพียงไม่กี่ชั้น และกำลังต่อยอดอย่างรวดเร็วเมื่อสังคมก้าวสู่ชีวิตดิจิตอลมากขึ้น โดยเฉพาะการก้าวสู่ยุคของแอปพลิเคชั่นหรือสิ่งพิมพ์ดิจิตอลเต็มรูปแบบ
“คอนเทนต์ของข่าวในเครือทั้งหมด เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราเป็นเจ้าตลาดคอนเทนต์ข่าวและกลายเป็นผู้นำสื่อออนลน์ ไม่ว่าคุณจะเข้าระบบสืบค้นไหนก็จะมีลิงค์เข้าสู่ฐานข้อมูลในเครือทั้งสิ้น พูดได้ว่าเครือผู้จัดการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่โดมิเนทข้อมูลข่าวของเมืองไทยไว้ครบทุกด้าน”
แนวคิดเกี่ยวกับชีวิตในโลกดิจิตอลภายใต้วิสัยทัศน์ของ สนธิ ลิ้มทองกุล ถูกบรรยายไว้ในหนังสือเรื่อง โลกานุวัตร ที่เขียนขึ้นตั้งแต่ปี 2536 พูดถึงโลกที่ทุกคนทำงานอยู่ที่บ้าน มีเทเลคอมมูนิเคชั่น เทเลมาร์เก็ตติ้ง ซัพพอร์ตการทำงาน เป็นภาพที่เกิดขึ้นเป็นปกติในสังคมทุกวันนี้
นักข่าวในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ คุ้นเคยกับการทำงานลักษณะนี้มานับสิบปี นักเขียนและนักข่าวที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ หรือนอกออฟฟิศ ใช้ช่องทางดิจิตอลผ่านระบบออนไลน์ ส่งเรื่องและรูปถ่ายของตัวเองมาตีพิมพ์ ตั้งแต่เริ่มมีอินเทอร์เน็ตบนโลกใบนี้ใหม่ๆ ภายใต้ความเชื่อว่าระบบดิจิตอลจะเป็นรูปแบบและวิถีการทำงานในอนาคต
ย้อนถึงวันที่เริ่มต้นก้าวสู่ดิจิตอล เอเอสทีวีผู้จัดการเริ่มขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจากการทำงานภายใน ด้วยการใช้ทีมข่าวรุ่นใหม่เข้าไปทำงานผสมอยู่กับทีมข่าวอาวุโสเดิมที่มีประสบการณ์ เพื่อถ่ายทอดและสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยวิถีการทำงานของข่าวสำหรับสื่อดิจิตอลที่ต้องนำเสนอให้ไวด้วยองค์ประกอบครบทั้งข้อมูล ภาพประกอบ รวมถึงคลิปวิดีโอในยุคหลังๆ ไม่ต้องรอการตีพิมพ์แบบเดิม แต่สามารถนำข่าวขึ้นเว็บสู่สาธารณะได้ทันที ทำให้ข่าวปรับตัวไวขึ้น
“ส่วนสำคัญที่ต้องยอมรับว่าทุกคนในผู้จัดการมาได้ขนาดนี้ เพราะความเชื่อและการผลักดันระดับผู้นำอย่างคุณสนธิที่ลงมาลุยเอง ตอนนั้นผมเข้ามาใหม่ๆ พร้อมกับเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งอายุ 20 ต้นๆ ทุกคนถูกลงไปเกาะกับสายข่าว เพื่อเบรนด์กับคนเก่าให้กองบรรณาธิการรองรับกับออนไลน์ ข่าวถูกสั่งให้ลงเว็บก่อนแล้วค่อยพิมพ์ แม้ว่าตอนนั้นสิ่งพิมพ์จะยังดีไม่มีปัญหาอะไร เป็นการลงทุนในออนไลน์ที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่มีอนาคตลงให้อ่านฟรีจะมีรายได้จากอะไร แต่วันนี้เว็บผู้จัดการเป็นทั้งแหล่งรวมคอนเทนต์และแหล่งรายได้ ซึ่งมาจากการปรับการทำงานขององค์กรตั้งแต่ 12 ปีก่อน ขณะที่วันนี้สื่อบางแหล่งยังไม่มีแนวทางที่จะปรับตัวสู่การเป็นสื่อดิจิตอลด้วยซ้ำ” วริษฐ์เป็นหนึ่งในทีมดิจิตอลรุ่นบุกเบิก เล่าประสบการณ์ให้ และผลสำเร็จของการพัฒนาเว็บผู้จัดการ
เพราะฉะนั้น ในวันที่สื่อหลายสำนักอาจจะเพิ่งเริ่มคิดถึงคำว่า “ดิจิตอล” แม้จะมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้ก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอลได้เร็วเพียงใด ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จได้ทุกราย เพราะการทำเว็บไซต์ให้ดังไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องมีพร้อมถึง 3 องค์ประกอบที่สำคัญ ทั้งด้านคอนเทนต์ การตลาด และไอที
เอเอสทีวีผู้จัดการ-เจ้าตลาด “คอนเทนต์” ภายใต้หลักการ “สื่อสารมวลชน” ที่แท้จริง
“การที่เราดึงคอนเทนต์ไว้ที่สื่อของเราเท่านั้น เป็นผลให้เราคุมทั้ง 3 เรื่องหลักได้ครบทั้งคอนเทนต์ เทคโนโลยี และการตลาด แต่ถ้าให้นักข่าวทุกคนกระจายสร้างคอนเทนต์ในสื่ออื่นๆ โดยเฉพาะในเว็บโซเชี่ยลมีเดียแล้วเอาชื่อองค์กรไปต่อท้าย นอกจากคุมไม่ได้ ในแง่ของหลักการสื่อสารมวลชนก็จะขาดขั้นตอนของ Editorial ที่ดี เราต่างจากค่ายอื่นชัดเจน นักข่าวทุกคนยังมีบรรณาธิการช่วยกรอง ป้องกันปัญหาความผิดพลาดในการเสนอข่าวและ Bias ของตัวนักข่าว และมีบรรณาธิการรับผิดชอบชัดเจน” วริษฐ์พูดถึงการจัดการคอนเทนต์ของเว็บแมเนเจอร์
วริษฐ์ยืนยันว่า การเป็นคอนเทนต์โพรไวเดอร์ของผู้จัดการเป็นการโพรไวด์คอนเทนต์คุณภาพที่น่าเชื่อถืออย่างสม่ำเสมอ มีคนรับผิดชอบชัดเจนอย่างที่สื่อรายอื่นไม่กล้าแม้กระทั่งการเปิดให้แสดงความคิดเห็นเพราะหวั่นเกรงความผิดทางกฎหมาย
“นอกจากเสนอข่าวเรากล้ารับคอมเมนต์ที่มีต่อคอนเทนต์ที่หลากหลายมาก ขนาดเว็บข่าวหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ก็ยังไม่กล้าเปิดให้แสดงความคิดเห็น แต่เราพร้อมมาตั้งนาน ผมบอกผมไม่กลัวหรอกว่าคนอื่นจะตามเราทันอย่างไร ผมยินดีให้มีเว็บเยอะๆ ดีกว่าแทนที่จะมีน้อยเจ้า เพราะคอนเทนต์จะพิสูจน์เองว่า คอนเทนต์นั้นเป็นของดีหรือไม่ดี เว็บผู้จัดการใช้เวลาตั้ง 5-6 ปี กว่าจะมีโฆษณาเข้ามา โดยเอเยนซี่วิ่งมาเอง เราลงทุนเป็นร้อยล้าน พอสื่ออื่นเริ่มคิดจะก้าวสู่ดิจิตอล ก็เจอเราเป็นเบอร์หนึ่งรออยู่แล้ว”
วริษฐ์บอกว่า รอบนี้จะเห็นผลเร็วกว่ารอบของการสร้างเว็บในเฟสแรก “สมัยผมเริ่มทำเว็บผู้จัดการคนดู 3 พันไอพีก็เทพแล้ว ตอนนี้คนเข้าเว็บต่อวัน 2 ล้านกว่าไอพี เว็บผู้จัดการวันละ 4 แสนไอพี โตจากเดือนละ 1 ล้านเพจวิวเป็น 100 ล้านเพจวิวใน 10 ปี แล้วคัฟเวอร์คนชั้นกลาง พอมีเว็บออนโมบายล์ตัวเลขก็โตจากแสนเป็นสิบล้านเพจวิวภายใน 3 ปี เคยมีคนเข้าสูงถึง 3 แสนไอพีจนเว็บล่มในช่วงมีม็อบ แต่ทุกวันนี้มีคนเข้าเฉลี่ยถึง 3.5-4 แสนไอพีเติบโตแบบเร็วแบบน่าตกใจเพราะภายในปีเดียวเพิ่มขึ้นถึง 25%”
นี่คือส่วนหนึ่งของผู้เริ่มต้นก่อน และทำได้ประสบความสำเร็จแบบวัดผลและพิสูจน์ได้ ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์ที่สำคัญของประเทศนี้ และทำให้คนไทยที่เข้าเว็บประจำอย่างน้อย 1 ใน 5 ของผู้ใช้ทั้งหมด มีพฤติกรรมติดกับแบรนด์แมเนเจอร์ไปแล้ว
มาร์เก็ตติ้งออนไลน์-ทาร์เก็ตและผลตอบรับชัดเจน
เป็นที่รู้กันดีว่า สื่อสิ่งพิมพ์เมืองไทยเกือบ 100% อาศัยรายได้จากค่าโฆษณา เพราะค่าผลิตสิ่งพิมพ์ต้นทุนสูงกว่าราคาขาย แต่โมเดลของสื่อใหม่มีความหลากหลายไม่ต้องยึดติดกับรายได้จากโฆษณาแต่เพียงอย่างเดียว
จากปรากฏการณ์ของเว็บผู้จัดการถือว่าในแง่ของผู้อ่าน พฤติกรรมคนเสพข่าวปรับไปแล้ว แต่เรื่องการตลาด หรือช่องทางหารายได้ของสื่อดิจิตอล ปัจจุบันเจ้าของแบรนด์และเอเยนซี่ยังอยู่ในช่วงปรับพฤติกรรม สินค้าบางรายก็ตอบรับเต็มที่แล้วเพราะมีโอกาสทดลองแล้วเห็นผล ขณะที่เอเยนซี่ยังรอดูท่าที
“คีย์สำคัญไม่ใช่เอเยนซี่รับไม่รับ เพราะสุดท้ายก็ต้องรับ มีหลายอย่างที่ยืนยันว่าเทรนด์มาทางดิจิตอลเต็มตัว ผมเข้าใจว่าหลายคนยังขายของได้ ทำรายได้จากที่เขาทำอยู่เดิมได้ ก็เหมือนกับสื่อหลายที่ที่ยังสนุกกับการขายสิ่งพิมพ์ แต่เมื่อไรที่เขาพร้อมผมก็มีข้อมูลพร้อม”
นีลเส็น รีเสิร์ชเมืองไทย บอกว่าออนไลน์เหมือนปรากฏการณ์โทรทัศน์ในยุคแรก เห็นชัดว่าเป็นสื่อที่คนจะใช้บริโภคเป็นหลักในอนาคต และต้องหาเครื่องมือวัดเรตติ้ง ถ้าดูจากตัวเลขงบโฆษณาก็เห็นเทรนด์ชัดเจน โฆษณาโทรทัศน์รายได้ 6 หมื่นล้านต่อปีแต่ไม่โต ส่วนของสิ่งพิมพ์แค่หลักพันล้านแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ออนไลน์ตัวเลขล่าสุดปี 2554 มี 2 พันล้าน ซึ่งเอ็มอินเตอร์แอคทีฟ ของกรุ๊ปเอ็ม เอเยนซี่วางแผนสื่อโฆษณารายใหญ่เชื่อว่าอาจจะถึง 3 พันล้าน ถ้าไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วม แต่ที่น่าสนใจคือโฆษณาออนไลน์เป็นตัวเลขที่โตอย่างน้อยปีละ 50-100% ทุกปี
“แล้วถ้ามีการเคลื่อนไหวอะไรในสื่อดิจิตอลคนจะมองมาที่ผู้จัดการก่อน ถ้าผู้จัดการไม่มูฟสำนักพิมพ์อื่นก็ไม่กล้ามูฟ เพราะกลัวจะโดดเดี่ยว เหมือนกรณี EM (Effective Measure) บริษัทวัดเรตติ้งเชิงคุณภาพออนไลน์เข้ามา ก็ต้องมาคุยกับเราก่อน เพื่อใช้ไปอ้างอิงกับรายอื่นถ้าเราเอาด้วย เพราะฉะนั้นสำหรับสื่อดิจิตอล เครือผู้จัดการจึงมีเพาเวอร์ในตลาดที่ไม่สามารถปฏิเสธได้”
โดยสถานภาพของผู้จัดการตอนนี้ สื่อดิจิตอลในมือมีทั้ง เว็บผู้จัดการที่เป็นเบอร์หนึ่งของประเทศไทย นิตยสารมาร์ส มีประสบการณ์ทำสื่อดิจิตอลหลายรูปแบบโดยเฉพาะความโดดเด่นในเรื่องของแอปพลิเคชั่นนิตยสารที่ผู้อ่านยอมรับ มีเอสเอสทีวีที่เริ่มต้นเข้าสู่การทำทีวีก่อนสำนักพิมพ์อื่น และเว็บไซต์ของนิตยสารทุกหัว อาทิ นิตยสาร POSITIONING นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา (รายเดือน) Celeb Online Taste เอเอสทีวีสุดสัปดาห์ และเริ่มพัฒนาสู่แอปพลิเคชั่นนิตยสารเพื่อรองรับผู้อ่านยุคเทคโนโลยีแท็บเล็ต
“เรามองเว็บเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อน เพราะฉะนั้น เมื่อถึงเวลาต้องปรับจากสิ่งพิมพ์ไปดิจิตอลก็ ไม่ต้องกลัวว่าทีมงานจะปรับตัวอย่างไร เพราะเราเตรียมพร้อมกันมานาน แต่คนที่เพิ่งคิดจะเปลี่ยน ต่อให้มีเงินก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้สำเร็จ นอกจากต้องมีวิสัยทัศน์แล้ว สามารถคอนวินซ์คนในองค์กรให้มองเห็นอนาคตร่วมกันได้ไหม”
POSITIONING ของแต่ละสื่อในโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่พิสูจน์วัดผลได้จริง ไม่ว่าจำนวนผู้ชมหรือสถิติใดๆ ข้อมูลด้านการตลาดของเว็บไซต์ผู้จัดการก็มีสถิติที่พิสูจน์ได้ชัดเจนว่า คนอ่านส่วนใหญ่เป็น Premium Mass ซึ่งมีกำลังซื้อสูง สินค้าที่ลงโฆษณาแล้วได้รับการตอบรับดี ล้วนเป็นสินค้ามูลค่าสูง อย่างโฆษณาบ้าน คอนโด รถยนต์ กระเป๋าเดินทาง มือถือ สินค้าเทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่ทุกเว็บจะตอบสนองลูกค้าได้หมด แต่เว็บผู้จัดการมีผลตอบรับของกลุ่มที่มีกำลังซื้อในระดับพรีเมียมอย่างเห็นได้ชัด
วริษฐ์ ชี้ให้เห็นว่า การหารายได้ยุคดิจิตอลหัวใจอยู่ที่สิ่งที่ผู้ซื้อเห็นประโยชน์โดยตรง ไม่ได้ขึ้นกับเทคโนโลยีว่าต้องทันสมัยเท่านั้น
ความยากของการบริหารสื่อนิวมีเดียก็คือ พฤติกรรมคนเปลี่ยน โมเดลธุรกิจก็เปลี่ยน เทคโนโลยีก็เปลี่ยน เปลี่ยนแบบทุก 3 เดือน 6เดือน สำนักพิมพ์ที่แม้จะอยู่มานานและอยู่มาด้วยดีแต่ถ้าตอบไม่ได้ว่าจะเดินต่อไปอย่างไร จึงแสดงถึงปัญหาของการปรับตัวที่ไม่ทันยุคสมัย
นีลเส็น ซึ่งเป็นเจ้าตลาดการวัดเรตติ้งของสื่อเก่าอย่างโทรทัศน์ ซึ่งเจอข้อกังขาตลอดมาว่ารูปแบบการสุ่มตัวอย่างที่ใช้ พอมายุคออนไลน์ นีลเส็นจะพยายามปรับเข้าสู่เส้นทางนี้ แต่ก็ยังเป็นเรื่องท้าทายเพราะครั้งนี้ไม่ใช่นีลเส็นเท่านั้นที่จะเป็นตัวเลือกรายเดียวเหมือนในสื่อยุคเก่า
ออนไลน์ไทยมีทรูฮิต (truehit) ทำหน้าที่เป็นวัดความนิยมของเว็บไซต์ในเมืองไทย โดยเริ่มทำเป็นโครงการนำร่องร่วมกับเนคเทคก่อนจะแยกตัวออกมา ทำมาแล้ว 10 กว่าปี จัดเป็นเว็บที่เชื่อถือได้มากที่สุดในการวัดความนิยมของเว็บไซต์สัญชาติไทย แต่ปัจจุบันก็มีหน่วยงานที่เข้ามาเป็นผู้จัดเรตติ้งรวมถึงผลด้านอื่นๆ ของออนไลน์มากขึ้น เช่น Google Analytics, Alexa (ต้องใช้ร่วมกับทูลบาร์ในการวัด) แต่ทรูฮิตยังจัดเป็นเสาหลักของการวัดความนิยมของเว็บไทย
ส่วนการวัดผลเชิงคุณภาพก็เริ่มมีผู้เล่นในตลาดหลายราย รายที่เข้ามาแรกๆ คือ EM (Effective Measure) วัดรายละเอียดตั้งแต่อายุ อาชีพ รายได้ รสนิยมในการซื้อสินค้า พฤติกรรมการใช้งานออนไลน์
“EM เข้ามาก่อน 2 ปีที่แล้ว กลุ่มตัวอย่างเป็นหมื่นพิสูจน์ว่าออนไลน์วัดเชิงคุณภาพได้ละเอียด ปีนี้นีลเส็นก็ต้องเข้ามาเพราะปฏิเสธไม่ได้ ทุกวันนี้คนอายุ 20-35 ปี ใช้ออนไลน์มากกว่าดูทีวีหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเทรนด์พิสูจน์ชัดว่าคนชั้นกลาง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศชิฟท์มาทางดิจิตอลหมด”
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ถ้าลงโฆษณาผงซักฟอกในสื่อเก่า นอกจากวัดว่าช่วงเวลาที่ลงมีคนดูเท่าไรจากการสุมตัวอย่าง อยากรู้ว่าแคมเปญโฆษณาประสบความสำเร็จแค่ไหนก็ต้องจ้างคนทำสำรวจกับอีกรอบ แต่ออนไลน์รู้จำนวนคลิกทันที ข้อมูลที่ได้นำปรับปรุงแคมเปญได้รวดเร็วด้วย ที่สำคัญคนดูโฆษณาออนไลน์ส่วนใหญ่เต็มใจเข้าไปดูด้วยตัวเองไม่ได้ถูกบังคับ
“สมมติคุณเป็นเครื่องดื่มอาหารเช้าก็ลงเฉพาะตอนเช้า แล้วก็สามารถนับได้ว่าลงไปกี่ครั้ง แต่ทีวีทำไม่ได้ เพราะเขาเคลมแล้วว่าวิวเวอร์เขาอยู่ที่สิบล้านคนเช้านี้ เพราะฉะนั้นคุณยิง 30 วินาที จบก็คือจบ ไม่มีอินเตอร์แอคทีฟ ไม่สามารถเอาไปทำอะไรต่อได้ แล้วตกลงดูจริงไหมสิบล้าน”
ฉะนั้นในแง่ของการตลาดในสื่อดิจิตอล สามารถตอบสนองสินค้าและบริการได้ด้วยการแสดงข้อมูลและการวัดผลทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ และความสำเร็จของแคมเปญ อย่างชัดเจนและรวดเร็ว
เทคโนโลยีเสริมเขี้ยวเล็บสื่อดิจิตอล
การนำเสนอข่าวของเครือผู้จัดการทุกๆ ข่าว ผู้อ่านสามารถ โยงไปสู่พื้นฐานข้อมูลเดิมได้ หรือที่เรียกว่าเรื่องเกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะอ่านจากสื่อไหน ในสิ่งพิมพ์อย่างนิตยสารโพสิชันนิ่งหรือผู้จัดการ 360 องศา ก็มีพิมพ์ฐานข้อมูลเก่าไว้ให้ แต่โอกาสน้อยมากที่ผู้อ่านจะกลับไปพลิกดู แต่สำหรับสื่อดิจิตอลกำจัดอุปสรรคนี้ไปทันที และเบื้องหลังภาพที่ทำให้ผู้อ่านเชื่อมโยงข้อมูลได้ง่ายขึ้น คือหน้าที่ของเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง
“ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ใช้ที่ต้องมาเข้าใจเรื่องพวกนี้ ผู้ใช้จะรับรู้แค่ว่าโปรดักส์ที่ใช้ต้องทำมาให้พร้อม เขาคิดแค่ว่าเขาจ่ายตังค์ซื้อแล้วแอพพลิเคชั่นตัวนี้ต้องดีที่สุด ตอบโจทย์เขาได้” กมลวรรณ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทอลล ประเทศไทย จำกัด กล่าวในฐานะผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นให้กับสื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ และไทยเดย์ด็อทคอม
องค์กรสื่ออื่นๆ ไอทีอาจจะเป็นปัจจัยภายนอก แต่ที่ผู้จัดการถือเป็นปัจจัยภายใน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการวางแผนด้านไอทีก็ถือเป็นกลยุทธ์องค์กรด้วยส่วนหนึ่ง
“สื่อใหญ่ค่ายอื่นเขาเลือกเอาต์ซอร์ส แต่กลยุทธ์ของทำทุกอย่างเอง เรามีดูแลด้านไอทีตั้งแต่ปี 2543 โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องทำเองหมด เว็บเราก็ทำเองทั้งหมด จนมายุคหลังความยากของเทคโนโลยียุคถัดไปบวกกับแนวโน้มความหลากหลายของดีไวซ์และพฤติกรรมผู้บริโภค อาจจะมีบ้างที่เราต้องเอาต์ซอร์สบางอย่างเป็นชิ้นงาน เพื่อไม่ให้เป็นการลงทุนมากเกินไป” วริษฐ์ เล่าถึงแนวคิดการจัดการไอทีขององค์กร
ปัญหาของเทคโนโลยีที่ทีมงานหลังบ้านต้องจัดการให้สมูท เช่น กรณีพัฒนาเว็บ ยังปรับระดับความเร็วอินเทอร์เน็ตกันได้ แต่ในยุคของแอพพลิเคชั่นเมื่อออกแบบให้แอพสวยจำนวนข้อมูลอาจจะสูงถึง 500 เมกะไบต์ ผู้บริโภคจะยอมใช้เวลาดาวน์โหลดนานแค่ไหน เป็นโจทย์ที่ผู้ใช้ไม่รู้ แต่คนทำงานต้องคิดให้ละเอียด
สำหรับกมลวรรณ นอกจากดูเทคโนโลยีอยู่เบื้องหลัง แต่ด้วยความเข้าใจคอนเทนต์และการตลาดด้วย ทำให้เธอเลือกนำเสนอจุดขายของแอพพลิเคชั่นของนิตยสารมาร์ส ซึ่งถือเคยเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการอยู่ที่นั่นก่อนจะผันตัวมาจับธุรกิจพัฒนาแอปที่เป็นดิจิตอล แมกกาซีนเป็นรายแรกๆ ของสื่อเมืองไทย
เธอบอกว่า แนวคิดที่เธอใช้ในการสร้างแอปมาร์สออนไอแพด แอปชิ้นแรกของเครือผู้จัดการคือ “เป็นการให้บริการความพอใจกับลูกค้า ไม่ว่าระหว่างทางผู้ใช้จะเจอปัญหาแต่สุดท้ายต้องทำให้เขาได้รับความพอใจกลับไป”
วริษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สื่อดิจิตอลคือความครบถ้วนและการเชื่อมโยงถึงกัน การพัฒนาสื่อสิ่งพิมพ์เดิมให้เป็นแอปพลิเคชั่นของเครือผู้จัดการ จะเป็นการคอนเวอเจนซ์คอนเทนต์ทั้งหมดของเครือและในทุกแพลตฟอร์ม ทั้งแอปพลิเคชั่น เว็บไซต์ มือถือ รวมถึงทีวีก็ไม่ได้ถูกแยกออกไป
“วันหนึ่งมีคำสั่งให้ทำแมเนเจอร์ทีวี เราก็เริ่มได้ทันที เพราะฐานรองรับไว้หมดแล้ว มีเอเอสทีวีเป็นพี่เลี้ยง ด้านเทคนิครู้ว่าอุปกรณ์ตัวไหนดีไม่ดี ใช้กับไอโฟนได้ไหม ต้องแปลงไฟล์อย่างไร เรื่องพวกนี้ไม่มีฟอร์แมตจากอุตสาหกรรมสื่อ หรือทีวีที่มีทีมงานเป็นร้อยจะเปลี่ยนมาทำแล้วทำได้เลย แม้แต่ในเมืองนอกก็ยังอยู่ในช่วงทดลอง แต่เครือผู้จัดการเกาะอยู่ในอุตสาหกรรมและเรียนรู้มาตลอด เป็นจุดแข็งที่ทำให้เรากล้าที่จะปรับและพร้อมที่เดินไปข้างหน้า”
การปรับตัวสู่ดิจิตอลแมกกาซีนของนิตยสาร POSITIONING และสื่ออื่นๆ ก็เช่นกัน แอปพลิเคชั่นเป็นเพียงเอ็นด์โปรดักส์ที่ส่งถึงผู้ใช้ แต่เบื้องหลังคือเทคโนโลยี และเบื้องหลังที่เหนือกว่าเทคโนโลยีของการทำงานของทีมงานที่ต้องคิดแบบคนรุ่นใหม่ ปรับระบบคิดในการทำคอนเทนต์หรือข่าวใหม่
รายละเอียดเบื้องหลังการ Go Digital ของเครือผู้จัดการซึ่งมีการขยับใหญ่อีกครั้ง โดยยกสื่อในเครือทั้งหมดเข้าสู่แพลตฟอร์มของดิจิตอลอย่างเต็มร้อยครั้งนี้ จึงไม่เพียงแค่การนำเสนอสื่อรูปแบบใหม่ภายใต้คอนเทนต์คุณภาพชั้นนำของเมืองไทย แต่เป็นการเดินทางสายดิจิตอลมาตลอดเกือบ 20 ปี ยังเป็นการการเอ็ดดูเคทตลาด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสื่อเมืองไทย ซึ่งยังไม่มีตำราในมหาวิทยาลัยเปิดสอน และเป็นการเริ่มต้นแบบเรียนใหม่ของวิชาสื่อสารมวลชนให้กับสังคมไทย…อีกครั้ง