ตำแหน่งที่ 1 ใครๆ ก็อยากเสียบ บทเรียนหลังน้ำท่วมของ “กูลิโกะ”

ปรากฏการณ์ Brand Missing ของเจ้าตลาด “บิสกิต สติ๊ก” อย่างกูลิโกะ ที่อยู่ๆ ก็เกือบจะลอยหายไปพร้อมกับน้ำท่วมเมื่อปีก่อน เมื่อบริษัทต้องเผชิญกับปัญหาการผลิตและขนส่ง จนทำให้ชั้นวางสินค้าประจำว่างลง โดยเฉพาะในเซเว่นอีเลฟเว่น จนเกือบจะต้องเสียตำแหน่งให้กับแบรนด์น้องใหม่อย่างขาดไม่ถึง

อาการโหยหากูลิโกะ ป๊อกกี้ กลายเป็นหัวข้อและกิจกรรมบนสังคมออนไลน์ตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมปลายปี 2554 เรื่อยมาจนป๊อกกี้กลับมาขายปกติเหมือนเดิม แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นคือโอกาสทางการตลาดที่ทำให้ยูไนเต็ด ผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวส่งบิสกิต สติ๊ก แบรนด์ แก๊ป (Gap) เข้าเสียบบนชั้นวางที่ว่างลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นปรากฏการณ์ซ้อนปรากฏการณ์ที่สร้างแบรนด์น้องใหม่ขึ้นมาเทียบชั้นกูลิโกะที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน 

หลังพลาดท่าด้วยเหตุบังเอิญจนแทบจะเสียแชมป์ เมื่อโรงงานผลิตและการขนส่งกลับมาเป็นปกติ จึงเป็นครั้งแรกที่ลูกค้าคนไทยมีโอกาสได้เห็นรูปแบบการสื่อสารจากเจ้าตลาดบิสกิต สติ๊กที่คุ้นเคยกลับมาทวงที่มั่นเดิม เพื่อรักษาแชมป์บิสกิต สติ๊กที่มีส่วนแบ่งอยู่ถึง 15% จากมูลค่าตลาดบิสกิตปีละกว่า 10,000 ล้านบาทให้คงไว้ดังเดิม

นี่คือที่มาของประโยคหน้าเชลฟ์ป๊อกกี้ที่ประกาศถึงผู้บริโภคว่า “รสชาติที่คุณคุ้นเคยกลับมาแล้ว” 

 

น้องใหม่ มาได้ไง?

ผู้ท้าชิงรายใหม่ที่เข้ามาทำตลาดแข่งกับ กูลิโกะ ป๊อกกี้ มีนามว่า “แก๊ป” ถึงแม้ชื่อไม่คุ้นหูผู้บริโภคระดับแมส แต่ถ้าหากบอกว่าแบรนด์แก๊ปเป็น 1 ในโปรดักต์ของยูไนเต็ด ฟูดส์ ผู้บริโภคคงไม่แปลกใจ เพราะเครือนี้เป็นผู้เล่นในตลาดขนมขบเคี้ยวรายใหญ่ของไทย 

เฉพาะแบรนด์แก๊ปเองก็มีอายุมากกว่า 10 ปี โดยจำหน่ายอยู่ในสนามเล็ก วางขายในโรงเรียนและร้านโชห่วยบางพื้นที่เท่านั้น เหตุผลที่แก๊ปเริ่มขยับพื้นที่มาสู่โมเดิร์นเทรดได้ ก็เพราะว่าขนมชนิดเดียวกันหายไปจากชั้นวาง จึงเป็นโอกาสของบริษัทผู้ผลิตขนมยักษ์ใหญ่อย่างยูไนเต็ด ฟูดส์มีขนมประเภทนี้อยู่ในพอร์ตอยู่แล้ว เข้ามาขัดตาทัพในช่วงเวลาที่กูลิโกะ เจ้าตลาดยังไม่สามารถซัพพลายสินค้าได้ โดยเริ่มจากเดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่เมื่อยอดจำหน่ายของแก๊ปเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แม้เจ้าตลาดกลับมาอีกครั้ง แก๊ปยังคงได้สิทธิ์อยู่บนชั้นวางต่อไป ซึ่งพลิกโฉมการแข่งขันขนมในประเภทบิสกิตแบบแท่ง ที่เคยมีแต่กูลิโกะรายเดียวมานาน  

 

กูลิโกะยอมขาดทุนนำเข้าจากญี่ปุ่น 

ขณะเดียวกันช่วงที่กูลิโกะ ป๊อกกี้ต้องหายไปจากชั้นวาง กูลิโกะก็แก้ไขปัญหาด้วยการนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดทดแทน ตามคำเรียกร้องของพาร์ตเนอร์ช่องทางขายของกูลิโกะที่ต้องการให้สินค้ากลับเข้ามาโดยเร็วที่สุด 

ฮิโระโนะบุ ฮาราดะ ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มงานการตลาด บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด เล่าว่า ปลายปีที่แล้วกูลิโกะจึงต้องนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น ประมาณ 7 SKUs ซึ่งตั้งราคาจำหน่ายที่ประมาณ 30 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ขาดทุน แต่หลังจากนั้น 2 เดือน ต้องเปลี่ยนไปนำเข้าสินค้าจากเซี่ยงไฮ้เข้ามา 4 SKUs ซึ่งมีต้นทุนถูกกกว่า และตัวช็อกโกแลตกับสตรอเบอร์รี่เหมาะสมที่จะวางจำหน่ายในตลาดเมืองไทยมากกว่า เพราะ Melting Point ของกูลิโกะที่มาจากญี่ปุ่นละลายง่ายไม่เหมาะกับอากาศในประเทศไทย วางจำหน่ายในราคา 21 บาท 

ปรากฏว่ากูลิโกะล็อตที่นำเข้าจากญี่ปุ่นกลายเป็นสินค้าหายาก ด้วยรสชาติที่อร่อย แพ็กเกจจิ้งแปลกตา ผู้บริโภคเองก็คิดถึงสินค้า จนเกิดปรากฏการณ์สะสมกูลิโกะเวอร์ชั่นญี่ปุ่น หลายคนซื้อแบบเหมาโหล และซื้อแล้วก็ต้องถ่ายรูปโชว์ในเฟซบุ๊ก

ฮิโระโนะบุ ฮาราดะ เล่าว่า “ไทยกูลิโกะรู้ดีว่าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ซึ่งเราเองก็ไมได้ตั้งใจให้เป็นกระแส เพราะความจริงแล้วราคาขายนั้นเป็นราคาขายที่ขาดทุน แต่มันก็ดีที่ทำให้รู้ว่าแฟนๆ ของกูลิโกะติดตามเราอยู่ ดังนั้นช่วงแรกเราคงต้องมองเรื่องการกลับมาให้เร็วที่สุด” จนกระทั่งเดือนเมษายนกูลิโกะ ป๊อกกี้ก็กลับขึ้นสู่ชั้นวางได้อีกครั้ง

 

ปรับสูตรโปรดักต์ บันไดแรกแจ้งเกิด

การเข้าสู่ตลาดสนามใหญ่ครั้งแรกของแบรนด์แก๊ปจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคู่แข่งมีแฟนคลับติดตามเหนียวแน่น 

ยูไนเต็ด ฟูดส์ เริ่มต้นผลิต บิสกิต สติ๊ก มาตั้งแต่สมัยที่ซื้อลิขสิทธิ์กบเคโระมาผลิตเป็นขนมภายใต้แบรนด์ “โคโกโร่” ต่อมาเมื่อสัญญาหมดลง ยูไนเต็ด ฟู้ดส์จึงเริ่มต้นทำแบรนด์แก๊ป โดยอาศัยการตั้งชื่อพยางค์เดียวเพื่อให้คนจดจำง่าย โดยในตอนนั้นผลิตขนาด 15 กรัม วางจำหน่ายราคา 5 บาท ตามโรงเรียน เทรดดิชันนัลเทรด และส่งออกปสู่ประเทศในเอเชีย แต่เมื่อได้รับโอกาสให้ขยายตลาดมาสู่ตลาดแมสของไทย สิ่งแรกที่แบรนด์แก๊ปทำหลังจากสำรวจความต้องการของผู้บริโภคแล้วพบว่า รสชาติของแก๊ปยังไม่เป็นที่ถูกใจนัก แก๊ปจึงปรับปรุง วิจัยและพัฒนาสูตรของตัวเองให้ “กรอบ” มากยิ่งขึ้น รวมทั้งผลิตไซส์ 40 กรัม ขายราคา 12 บาท ควบคู่ไปกับกล่องเล็กที่ยังจำหน่ายเช่นเดิมที่จับตลาดโรงเรียน  

เมื่อเป็นผู้มาใหม่ แก๊ปจึงต้องสร้างทางเลือกให้มากขึ้น โดยมี  2 รสชาติหลัก ช็อกโกแลต, สตรอเบอร์รี่ เพื่อมาประกบคู่แข่ง แพ็กเกจจิ้งที่ออกแบบใกล้เคียงกัน ยังเพิ่มความหลากหลายด้วยรส แบล็กเคอร์เรนท์, สลัด, ต้มยำ, วาซาบิ และรสนม ซึ่งเทียบกับกูลิโกะแล้วมีเพียง 4 รสชาติ คือช็อกโกแลต, สตรอเบอร์รี่, นม และช็อกโก บานาน่า ในเบื้องต้นกลับมาสู่ชั้นวางได้เพียง 2 รสหลักเท่านั้น ส่วนรสนมกับช็อกโก บานาน่าต้องใช้เวลาถึงปลายปี 

อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบความคุ้นเคยในเรื่องของความกรอบ รสชาติ และกลิ่นแล้ว กูลิโกะ ป๊อกกี้คุ้นลิ้นผู้บริโภคมากกว่า แต่เนื่องจากต้องลงทุนในส่วนของโรงงานใหม่ทั้งหมด ทำให้กูลิโกะต้องขยับราคาสินค้าขึ้นกล่องละ 3 บาท ดังนั้นลูกค้าที่กังวลกับเรื่องราคาก็อาจส่งผลกับยอดขายของกูลิโกะ เพราะมีสินค้าคู่แข่งมาเทียบให้เห็นความแตกต่างอยู่ข้างๆ  

 

กูลิโกะ กลับมาด้วยแคมเปญห้าดาว

กูลิโกะเอง นอกจากต้องแก้ปัญหาเรื่องโรงงานผลิตแล้ว คราวนี้นิ่งนอนใจไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาทำแคมเปญการตลาดใหญ่ครั้งใหญ่แบบที่ไม่เคยทำมาก่อน ผ่านกิจกรรม ”ป๊อกกี้ สตาร์ คอนเทสต์” โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 อย่าง 1.แจ้งว่ากูลิโกะกลับมาแล้ว 2.การกลับมาของกูลิโกะในครั้งนี้ต้องการเป็นเบอร์ 1 ในตลาดเหมือนเช่นเดิม 3.สร้างกระแสให้กลุ่มเป้าหมายโดยตรง 

แคมเปญ ”ป๊อกกี้ สตาร์ คอนเทสต์” เป็นกิจกรรมค้นหาเด็กสาวหน้าตาดี เข้ามาแสดงภาพยนตร์โฆษณาร่วมกับป๊อกกี้ ซึ่งปัจจุบันต้องถือว่ากิจกรรมลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่เมื่อเทียบกับกิจกรรมที่กูลิโกะ ป๊อกกี้เคยทำ ต้องถือว่ามีนัยอย่างชัดเจน จากเดิมที่กูลิโกะมักจัดการประกวด Dance Contest ซึ่งเปิดกว้างสำหรับกลุ่มวัยรุ่นทั่วไป แต่การเฟ้นหาเด็กสาวเจาะไปที่กลุ่มเป้าหมาย วัยรุ่นหญิงระดับมัธยมปลาย-มหาวิทยาลัย และการดีไซน์แคมเปญให้รอบแรกๆ เป็นการโหวตผ่านเฟซบุ๊ก นั่นหมายถึงกูลิโกะต้องการ Word of Month ในวงสนทนาของทาร์เก็ตให้พูดเรื่องกูลิโกะ 

นอกจากนี้ยังเลือก ครูรักษ์-ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ มาสร้างความน่าเชื่อถือให้โครงการนี้ดูน่าสนใจมากขึ้น ในภาพยนตร์โฆษณาของกูลิโกะ ป๊อกกี้ ก๊อบปี้แรกที่พรีเซ็นเตอร์พูด จึงบอกชัดเจนว่า “กูลิโกะ กลับมาแล้ว” หรือแม้แต่ข้อความในร้านรีเทล ก็ย้ำการกลับมาของกูลิโกะ เพื่อตอกย้ำ Key Massage สำคัญ ก่อนที่จะประชาสัมพันธ์กิจกรรมประกวดที่แบรนด์จัดขึ้น 

ฮิโระโนะบุ ฮาราดะ กล่าวถึงความคาดหวังต่อแคมเปญนี้ว่า “เราไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนมาประกวดมากมาย เพราะถ้าดูจาก Referent ของกิจกรรมในลักษณะนี้ของบริษัทใหญ่ๆ หรือเราเองก็เคยจัดกิจกรรมประกวดเต้นมาแล้ว ก็คงมีคนมาสมัครประมาณ 500-1000 คน แต่เราจัดกิจกรรมเต้นมา 4 ปีแล้ว ปีนี้ก็อยากทำอะไรที่แปลกกว่าเดิม และให้คนรู้ว่ากูลิโกะกลับมาแล้ว” 

 

พรีเซ็นเตอร์ดัง กับคนที่ใช่ 

เมื่อกูลิโกะใช้วิธีสร้าง Engagement ต่อเนื่องระยะยาวเพราะกิจกรรมต้องการระบบโหวตผ่านเฟซบุ๊ก และเชิญผู้เข้าแข่งขันมาอบรมการแสดง  ขณะเดียวกัน ก็เลือกใช้ น้องโม-มณชนก นางเอกจากค่ายเอ็กแซกท์ ซึ่งอาจจะไม่โด่งดังระดับแมส แต่มีสตอรี่เชื่อมโยงกับแคมเปญ เพราะเคยแสดงในโฆษณาของกูลิโกะ ป๊อกกี้มาก่อนที่โด่งดัง ก็ตรงกับคอนเซ็ปต์ของแคมเปญที่ต้องการหาดาวดวงใหม่ 

ทางฝั่งแก๊ป เลือกใช้วิธีสนับสนุนงานคอนเสิร์ตใหญ่ของพรีเซ็นเตอร์เป็นกิจกรรมแรกเพื่อเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ที่แรงที่สุดในกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น “เฟย์-ฟาง-แก้ว” 

อจลา สุทธิสัมพัทน์ กรรมการ บริษัท ยูไนเต็ด ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายวัย Teenager ลูกค้าหลักของ บิสกิต สติ๊ก ว่า ”ลูกค้าส่วนมากเป็นเด็ก ซึ่งต้องทำให้เขาเห็น ถ้าหากว่าได้เห็น TVC ก็อาจจะเกิดอยากทดลองซื้อ พอได้ทดลองแล้วติดใจก็จะซื้อต่อ” 

นอกจากกิจกรรมคอนเสิร์ตแล้วแก๊ปยังใช้งบประมาณ 50 ล้านบาทไปกับสื่อแมส ทั้งภาพยนตร์โฆษณา สื่อเอาต์ดอร์ โฆษณาบนรถไฟฟ้า โรดโชว์ตามโรงเรียน สื่อวิทยุ และสื่อดิจิตอล ซึ่งเมื่อเทียบกับงบประมาณการตลาดของสินค้าตัวอื่นๆ ในยูไนเต็ด ฟูดส์ก็ต้องถือว่าแก๊ปเป็นโปรดักต์ไฮไลต์ตัวหนึ่งของบริษัทในปีนี้เลยทีเดียว โปรดักต์หลักอีกตัว “เซี่ยงไฮ้” ที่อยู่คู่ตลาดขนมมายาวนาน ก็ใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท 

เนื้อหาในภาพยนตร์โฆษณาของแก๊ป เน้นหน้าที่สร้าง Brand Awareness ชูความสดใส Key Message ชื่อแบรนด์ชัดเจนด้วยการสะกด G-A-P “GAP” กันแบบตรงๆ เพื่อสร้างการจดจำแบรนด์ แก๊ปมั่นใจว่า บิสกิต สติ๊กเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนแบรนด์ได้ ถ้าหากได้ทดลองชิมสินค้าใหม่ๆ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคในโมเดิร์นเทรดไม่เคยมีมาก่อน บวกกับระดับราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งก็น่าจะทำให้กลุ่มเป้าหมายสนใจแก๊ปมากยิ่งขึ้น

หากเทียบพรีเซ็นเตอร์แล้วแก๊ปดูจะทุ่มงบประมาณมากกว่า แต่นั่นก็น่าจะเป็นวิธีคิดของแบรนด์น้องใหม่ที่ยังต้องเอาชื่อสินค้าไป Associate กับนักร้องซึ่งมีฐานแฟนคลับอยู่แล้ว ขณะที่กูลิโกะเลือกชูเมสเสจเรื่องการกลับมาของแบรนด์ให้เด่นกว่าตัวบุคคล 

 

กูลิโกะกลับมาขอแค่เท่าเดิม

กูลิโกะในฐานะของเจ้าตลาดเดิมซึ่งมีเงินทุนจากบริษัทแม่ กูลิโกะเน้นเรื่องแบรนด์เป็นหลัก ซึ่งฮิโระโนะบุ ฮาราดะ กล่าวถึงความคาดหวังว่า สถานการณ์ของกูลิโกะกลับมาเหมือนเมื่อก่อนน้ำท่วม  ซึ่งเคยตอบว่า ภายใน 3 เดือนจะซื้อกูลิโกะถึง 90%

ส่วนเรื่องของการแข่งขันผู้บริหารญี่ปุ่นมองว่า “การที่มีคู่แข่งโดยตรงเข้ามาก็ทำให้เราพัฒนามากขึ้น เราจะดร็อปลงมาไมได้ เรายังมองว่าผู้บริโภคคงมองเรื่องแบรนด์เป็นหลัก และต้องรักษาภาพลักษณ์ต่อไป ที่ประเทศญี่ปุ่นเราคุ้นเคยกับการแข่งขันอยู่แล้ว เพราะเราเองคู่แข่งมากมาย จึงต้องมีทางเลือกที่หลากหลายให้ผู้บริโภค” 

ส่วนของโรงงานกูลิโกะก็มีมาตรการป้องกันโรงงานมากขึ้น แต่ยืนยันว่าจะไม่ย้ายฐานการผลิตไปไหน เพราะกระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ง่าย โดยรายได้ในภาพรวมของบริษัทปีนี้ กูลิโกะคาดหวังไว้ที่ 2,400 ล้านบาท เท่ากับปี 2010  ขณะที่ปี 2011 ขายได้เพียง 85% เพราะติดปัญหาน้ำท่วม 

ส่วนสถานการณ์ของแก๊ปตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนกระทั่งถึงต้นปีนี้ก่อนที่กูลิโกะจะกลับมา แก๊ปมีอัตราเติบโตอย่างสวยหรู ประมาณ 120-150% เป้าหมายของแก๊ปในปีนี้ คือ พยายามรักษาอัตราการเติบโตให้ใกล้เคียงกับอัตราเดิม ส่วนภาพรวมของบริษัทยูไนเต็ด ฟูดส์ก็คาดหวังที่การเติบโต 15-20% จากปีที่แล้วที่มีรายได้ 1,600 ล้านบาท 

“แก๊ป” คนกับขนม ชื่อเดียวกัน 

แก๊ป-อจลา สุทธิสัมพัทน์ กรรมการ บริษัท ยูไนเต็ด ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารรุ่นที่สามของตระกูล ที่มีชื่อเล่นชื่อเดียวกับผลิตภัณฑ์ เล่าถึงที่มาของชื่อขนมบิสกิต สติ๊ก ว่า แบรนด์ “แก๊ป” มาจากชื่อเล่นของเธอเอง โดยที่เธอเองก็ไม่รู้ตัวมาก่อนจนกระทั่งเห็นชื่อไปปรากฏบนลังขนมที่ตั้งเรียงราย “ตอนนั้นอยู่ ม.6 พอเข้าไปหาคุณพ่อที่บริษัทก็งงว่าทำไมชื่อแก๊ปไปอยู่บนกล่องขนม พอไปถามคุณพ่อท่านก็บอกว่า จะทำขนมแบรนด์ใหม่แต่คิดไม่ออกว่าจะใช้ชื่ออะไรดี ก็เอาชื่อลูกสาวนี่แหละ ง่ายๆ พยางค์เดียว เอาให้คนในบริษัทจำได้ก่อน” 

พลิกตำนาน 90 ปี กูลิโกะ 

“กูลิโกะ” ถือกำเนิดจาก ริอิชิ เอซะกิ ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1919 ซึ่งเขานำเอาหอยนางรมมาต้มเพื่อกลั่นเอาไกลโคเจนมาผสมกับคาราเมลให้เด็กญี่ปุ่นได้กินเนื่องจากตอนนั้นประเทศญี่ปุ่นอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร 

แต่กูลิโกะสร้างแบรนด์และวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1922 ในห้างสรรพสินค้าในเมืองโอซาก้า เปรียบเสมือนเมืองต้นกำเนิดของกูลิโกะ จนกระทั่งใครที่ไปโอซาก้า ต้องไปถ่ายรูปกับป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ของกูลิโกะ ซึ่งเป็นรูปนักวิ่งชูแขน ที่มาของโลโก้กูลิโกะก็มาจากสโลกแกนที่พยายามจะบอกว่า การคำนวณลูกอมที่ผสมไกลโคเจนของหอยนางรม ให้พลังงานเพียงพอกับการวิ่ง 300 เมตร ส่วนผลิตภัณฑ์กูลิโกะ ป๊อกกี้ เดิมชื่อ “ป๊อกกิ้น” ตามสำเนียงภาษาญี่ปุ่น เลียนเสียงที่เกิดขึ้นของการกัดแท่งขนมปังกรอบ

ในประเทศไทย กูลิโกะตั้งโรงงานมาแล้ว 42 ปี เพื่อเป็นฐานการส่งออกไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด วางขายครั้งแรกในราคา 4 บาท กูลิโกะ ป๊อกกี้ รสแรกที่ผลิตแล้ววางจำหน่าย คือช็อกโกแลต ต่อมาจึงผลิตรสสตรอเบอร์รี่ออกวางจำหน่ายเพื่อจับกลุ่มเด็กผู้หญิงโดยเฉพาะ ปรากฏการณ์ล่าสุดที่บ่งบอกชัดเจนว่ากูลิโกะ ป๊อกกี้ผูกพันกับผู้บริโภคคนไทยก็คือการเหมาซื้อกูลิโกะ ป๊อกกี้สารพัดรสชาติที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นเพื่อทดแทนสินค้าที่หายไปจากชั้นวาง และนำมาโพสต์โชว์เป็นกระทู้ในพันทิป ห้องก้นครัว หรือว่าเอาโชว์ให้กลุ่มเพื่อนในโซเชี่ยลมีเดียในกลุ่มเพื่อน  

cellpadding=”2″ cellspacing=”2″>

style=”vertical-align: top; font-weight: bold; text-align: center;”>แบรนด์

จุดเด่น จุดอ่อน พรีเซ็นเตอร์ ราคา

style=”vertical-align: top; font-weight: bold;”>

กูลิโกะ

เป็นแบรนด์ที่อยู่คู่คนไทยมานาน
Brand Awareness สูงถึง 97% ช่องทางการจัดจำหน่ายในเทรดดิชันนัลเทรด

โม-มณชนก นางเอกค่ายเอ็กแซกท์ มีสตอรี่ผูกพันกับแบรนด์กูลิโกะ
เพราะเคยเล่นโฆษณาให้กูลิโกะก่อนที่จะเล่นละครหลังข่าว
จึงเหมาะสมกับกิจกรรมการตลาดของกูลิโกะ รสช็อกโกแลตขนาด 47 กรัม ราคา 18
บาท ปัจจุบันกำลังการผลิตของกูลิโกะก็ยังกลับมาไม่ครบ รสสตรอเบอร์รี่ ขนาด 45 กรัม ราคา
18 บาท

style=”vertical-align: top; font-weight: bold;”>

แก๊ป

แบรนด์คนไทยที่เชี่ยวชาญในธุรกิจขนม

แบรนด์น้องใหม่ที่การรับรู้ยังห่างชั้นกับเจ้าตลาดอย่างมาก

เฟย์-ฟาง-แก้ว Girl Gang ที่กลุ่มเป้าหมายชื่นชอบที่สุดในยุคนี้ ขนาด 15 กรัม ราคา 5 บาท มีรสชาติให้เลือกหลากหลายถึง 6 รส

ขนาด 40 กรัม ราคา 12 บาท