โทรศัพท์มือถือเป็นสินค้าล่าสุดที่รุกเจาะกลุ่มเป้าหมายชาวพม่าในไทยที่คาดว่าจะมีถึง 3 ล้านคน มีทั้งกำลังซื้อ และความต้องการมีสูงพอให้คาดหวังว่า มือถือ “อาหม่อง” จะทำยอดขายได้ทะลุ “หลักแสนเครื่อง” ในปีนี้
“สุรินทร์ อมรชัชวาลกุล” กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง บริษัท มีเดีย-อินฟินิตี้ จำกัด บริษัทผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือที่วาง Positioning ธุรกิจเน้นทำตลาดกลุ่ม Niche Market บอกว่าได้เจอเซกเมนต์ใหม่อีกครั้ง คือกลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวพม่าที่อยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพและสมุทรสาคร หลังจากเจาะตลาดผู้สูงอายุด้วยรุ่น “อาม่า” มานานประมาณ 3 ปี
“ผมเชื่อว่าตามหมู่บ้านในกรุงเทพ ส่วนใหญ่มีแม่บ้านเป็นลูกจ้างชาวพม่า นอกจากชาวพม่าส่วนใหญ่ยังเข้ามาเป็นลูกจ้างโรงงานอุตสาหกรรมย่านสมุทรสาครและจังหวัดต่าง ๆ รวม แล้วน่าจะถึง 3 ล้านคน จึงเชื่อว่าตลาดนี้ใหญ่พอที่จะทำยอดขายได้หลักแสนเครื่อง”
“อาหม่อง” ( “หม่อง” เป็นศัพท์พม่าที่ใช้เรียกเด็กผู้ชายและหนุ่มโสด) มีชื่อจริงว่ารุ่น”อินฟินิตี้ เอเชียน” เพราะนอกจากมีภาษาบอกการใช้งานและให้ส่ง SMS เป็นภาษาพม่าแล้ว ยังมีภาษากัมพูชา และลาวอีกด้วย แต่แน่นอนว่าประชากรพม่าในไทยมีมากที่สุด “สุรินทร์” จึงเลือกการสื่อสารที่ชัดเจนเพื่อเจาะตลาดใหญ่อย่างลูกค้าชาวพม่า จึงเรียกอีกชื่อว่ารุ่น”อาหม่อง” มี 2 รุ่นให้เลือกต่างกันที่รูปลักษณ์ภายนอก ราคาอยู่ที่ 900-1,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่กลุ่มเป้าหมายนี้พร้อมจ่าย
“สุรินทร์” เปิดเผยว่าหลังจากเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ของบริษัทและมีสื่อลงข่าวเกี่ยวกับมือถืออาหม่องเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รุ่งขึ้นหลังข่าวเผยแพร่ ก็มีผู้โทรมาสั่งซื้อเกือบ 10,000 เครื่อง เพื่อนำไปจำหน่ายต่อให้ชาวพม่าที่อยู่ในกรุงเทพทันที
ทั้งแบงก์-คอนเสิร์ตจัดกันมานาน
ก่อนหน้านี้มีธุรกิจต่าง ๆ ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายชาวพม่าในไทยโดยเฉพาะมาแล้ว อย่างเช่น ซิมโทรศัพท์มือถือ พรีเพด ที่จัดบริการค่าโทรแบบเหมาจ่ายหรือบุฟเฟต์ เพราะกลุ่มนี้ใช้โทรศัพท์พูดคุยกันนานและบ่อย มีบริการธนาคารตู้เอทีเอ็มที่มีภาษาพม่าให้เลือก เช่นของธนาคารกสิกรไทย และกรุงไทย
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจการจัดคอนเสิร์ต ที่บางคอนเสิร์ตดำเนินงานโดยมีหน่วยงานรัฐประสานงานให้ แต่ก็มีเงื่อนไขและขั้นตอนยุ่งยาก รวมทั้งต้นทุนเรื่องการรักษาความปลอดภัยสูง อีกรูปแบบเป็นเอกชนรับจ้างจัดเอง โดยจัดตามแนวชายแดนพม่าและชาวพม่าในไทยก็ข้ามฝั่งไปชม สามารถลดความยุ่งยากเรื่องประสานงานความมั่นคง โดยมีการขายบัตรประมาณ 500-600 บาท
สำหรับศิลปินที่ได้รับความนิยมของชาวพม่าระดับเบอร์ใหญ่ เช่น อาซานี่ (R Zarni) แนวป็อปร็อค มีค่าตัวศิลปินอยู่ในหลักประมาณ 3 แสนบาทต่อโชว์ ส่วนเบอร์รอง ๆ อยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาท
จากสถิติของกระทรวงแรงงานระบุว่ามีจำนวนของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยรวม 1.3 ล้านคน เป็นแรงงานพม่ามากที่สุด คือ 82.1% รองลงมาคือ กัมพูชา 9.5%และลาว 8.4%
ขณะเดียวกันสำนักข่าวไทย ได้รายงานเมื่อเดือนเมษายน 2555 ว่าหนังสือพิมพ์ 7 เดย์นิวส์ในพม่าเปิดเผยว่าพม่าออกหนังสือเดินทางชั่วคราวให้แรงงานพม่าในไทยแล้ว 700,000 คน จากทั้งหมด 2 ล้านคน และมีแรงงานอีก 500,000 คนที่ยังไม่มีหนังสือเดินทางชั่วคราว โดยแรงงานพม่าที่มีหนังสือเดินทางชั่วคราวมีสิทธิได้รับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทเช่นเดียวกับแรงงานไทย แต่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานพม่าจากวันละ 250 บาทเป็น 300 บาทหรือได้ไม่