เปิดมุมมอง ‘ผยง ศรีวณิช’ CEO ‘กรุงไทย’ ถึงการทำ ‘Virtual Bank’ จะเป็นตัวช่วยสำคัญ ‘ต่อลมหายใจ SME’

ประเทศไทยมีจำนวน SMEs ประมาณ 2 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 99.5% ของผู้ประกอบการของไทย และ SMEs ก็รองรับการจ้างงานประมาณ 70% ของภาคการผลิตไทย แต่อย่างที่รู้กันว่าปัจจุบัน SMEs ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย ดังนั้น การที่ SMEs จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในระบบ อาจเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยให้ SMEs ลืมตาอ้าปากได้ แต่คำถามคือ จะทำอย่างไร

เศรษฐกิจนอกระบบไทยสูงถึง 50% ของ GDP

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้เล่าถึง ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการเงินของไทย ภายในงาน CEO Vision : Business Strategy 2024 ว่า ไทยเป็นประเทศที่ เศรษฐกิจนอกระบบ สูงถึง 50% ต่อ GDP ซึ่งถือเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคอาเซียนเลยทีเดียว โดยถ้าเทียบกับ เวียดนาม นั้นอยู่เพียง 14.4% เท่านั้น ส่วนเพื่อนบ้านที่มีตัวเลขสูง ๆ อาทิ ฟิลิปปินส์ ก็อยู่ที่ 39.8% หรือ มาเลเซีย ที่ 30.5%

เมื่อดูตัวเลขของ SMEs ที่ จดทะเบียนธุรกิจ มีเพียง 26% ขณะที่ ผู้ประกอบการที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารมีเพียง 17% ด้านประชากรไทยที่ไม่สามารถเข้าถึงธุรกรรมการเงินได้ก็มีตัวเลขถึง 27% นอกจากนี้ จำนวนประชากรไทยหายออกไปจากระบบแรงงานหรือไม่มีข้อมูลในระบบธนาคารพาณิชย์ยังสูงถึง 51% ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ เงินกู้นอกระบบ จึงเป็นทางเลือกเดียวที่ประชาชนหรือผู้ประกอบการต้องไปหยิบยืมเพื่อนำไปดำเนินธุรกิจต่อ

 

ปรับรูปแบบปล่อยกู้แล้ว แต่ยังไม่พอ

ที่ผ่านมา กรุงไทยยังได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการปล่อยสินเชื่อ จากที่ให้แต่ละสาขาสามารถอนุมัติเองได้มาเป็นการ อนุมัติผ่านศูนย์กลาง เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งคนทั่วไปและ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น แต่จากตัวเลขเศรษฐกิจนอกระบบก็แสดงให้เห็นว่า ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น การมาของ Virtual Bank จะเข้ามาลดช่องว่างได้

ปัจจุบัน ธนาคารกรุงไทย มีลูกค้า 40 ล้านคน และมีลูกค้าที่ไม่อยู่ในช่องทางดิจิทัลเพียง 7 ล้านคน แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่คนทุกกลุ่มที่จะใช้บริการดิจิทัลได้ โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ ดังนั้น ธนาคารกรุงไทยจึงเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐที่มี จำนวนสาขามากที่สุดในไทย เพื่อให้บริการลูกค้า

“เรามีสาขาและจุดบริการมากที่สุด 966 จุดทั่วประเทศ โดยเราพยายามทำให้ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล โดยเรามีการวัดระยะรัศมีจากสาขาหรือตู้เอทีเอ็มให้ครอบคลุมประชากรในระยะ 5-10 กิโลเมตร เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะบางคนมีมือถือ แต่ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ นี่จึงเป็นข้อจำกัด”

Virtual Bank ไม่ใช่ใครก็ทำได้

ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้อนุมัติให้มีการเปิดให้บริการ Virtual Bank โดยหนึ่งในปัจจัยหลัก ๆ คือ ต้องการแก้ปัญหาการเข้าสินเชื่อให้กลุ่มคนที่อยู่นอกระบบ อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อจำกัดเพื่อให้เป็น Virtual Bank แตกต่างจากแบงก์ก็คือ ห้ามมีสาขา ยกเว้นมีผ่านพันธมิตร เพื่อให้ต้นทุนต่ำที่สุด อีกทั้งต้องมี Economy of Scale และสุดท้ายต้อง เข้าถึงลูกค้านอกระบบ ได้จริง ดังนั้น พันธมิตรต้องมีมิติที่มาเติมเต็มในสิ่งที่กรุงไทยไม่มี โดยเฉพาะศักยภาพการเข้าถึงช่องว่างของระบบเศรษฐกิจได้ ดังนั้น พันธมิตรต้องมีส่วนช่วยในการวิเคราะห์สินเชื่อ และเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนถึงฐานรากจริง ๆ

“ปัจจุบัน เรามีการใช้เอไอช่วยวิเคราะห์สินเชื่อ แต่ต่อให้ใช้เอไอยังไงก็หนีมิติ Humanization กับ Special Data ที่สามารถอธิบายพฤติกรรมของคนที่ปล่อยกู้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น พันธมิตรที่เข้ามาทำ Virtual Bank ต้องเติมเต็มตรงนี้ เพราะธนาคารไม่มีข้อมูลของเศรษฐกิจนอกระบบ ดังนั้น การที่ได้ข้อมูลจากพันธมิตร จะช่วยให้ธนาคารมีความเข้าใจพฤติกรรมได้ดีขึ้น

เพื่อตอบโจทย์ข้อกำหนดดังกล่าว กรุงไทยจึงได้ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของไทย และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทย มาเป็น พันธมิตร ในการทำ Virtual Bank

เพราะกัลฟ์และเอไอเอสมี ฐานลูกค้าจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยให้ Virtual Bank สามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากจำนวน สาขา ที่มีด้วย และเมื่อนำดาต้ามารวมกันจะยิ่งช่วยให้มีความเข้าใจตัวลูกค้า ซึ่งประชากรไทยมี 66 ล้านราย แต่กรุงไทยมีลูกค้า 40 ล้านราย ส่วนเอไอเอสมีลูกค้า 40 ล้านราย ซึ่งมีจุดที่ทับซ้อนกันสูง ดังนั้น ก็จะสามารถนำดาต้าลูกค้ามาแมตช์กันเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรม เพื่อให้บริการได้อย่างแม่นยำและตรงจุด นอกจากนี้ ยังใช้ประโยชน์จากสาขาของเอไอเอสในการเข้าถึงลูกค้าได้ด้วย

Virtual Bank ก็เสี่ยงเจ๊ง

สุดท้าย ผยง ย้ำว่า Virtual Bank จะเข้ามาลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการเงิน แต่ไม่อยากให้มองว่าเป็น การผูกขาดของทุนใหญ่ เพราะการทำ Virtual Bank ก็มีความเสี่ยงที่จะ เจ๊ง

“ทุกคนเข้ามาโดยเชื่อว่าจะได้กำไร แต่ไม่ได้แปลว่าจะรอด อย่าง Virtual Bank ในสิงคโปร์ก็ยังร่อแร่ ดังนั้นคำว่า ผูกขาดปัญหาใหม่ แต่อยากให้ชั่งน้ำหนักปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาหนี้นอกระบบ ปัญหาหนี้ครัวเรือน”