หลังจากที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุมัติใบอนุญาตให้บริการธนาคารเสมือนจริง หรือ Virtual Bank ในประเทศไทย โดยมีทั้งหมด 5 กลุ่มทุนที่ยื่นขอใบอนุญาต โดย 4 กลุ่มแรกถ้าได้เห็นชื่อ เชื่อว่าคนไทยจะต้องรู้จัก แต่ถ้าพูดถึงชื่อ Lightnet – WeLab มั่นใจว่าคนไทยส่วนน้อยจะรู้จัก ดังนั้น Positioning จะพาไปรู้จักกับผู้เล่นรายสุดท้ายกัน
รู้จัก Lightnet
กว่าจะรู้ว่ามีผู้เล่นกี่รายที่ได้รับคัดเลือกดำเนิน Virtual Bank ก็ต้องรอไปถึงช่วงกลางปี 2568 แต่ที่แน่ ๆ เคาะแล้วว่ามีผู้ยื่นขอใบอนุญาตทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่ม SCBX จับมือกับ KakaoBank และ WeBank
- กลุ่ม GULF ร่วมกับ AIS, ธนาคารกรุงไทย และ OR
- กลุ่ม BTS ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ, Sea Group, เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย
- กลุ่ม Ascend Money (TrueMoney) และ Ant Group
- กลุ่ม Lightnet Group ร่วมกับ WeLab
จะเห็นว่า 4 กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่คนไทยคุ้นเคย มีเพียง Lightnet Group x WeLab ที่คนไทยอาจไม่คุ้น แต่ถ้าเป็นในระดับภูมิภาค ถือเป็น Fintech ที่น่าจับตามองอย่างมาก โดย Lighthub Asset และ Lightnet Group ก่อตั้งโดย หิรัญกฤษฎิ์ อรุณานนท์ชัย และ ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ซึ่งชัชวาลย์ถือว่ามีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการเงินกว่า 30 ปี โดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอิออน ธนสินทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส
Lightnet มีจุดเด่นที่บริการ โอนเงินข้ามประเทศผ่านระบบบล็อกเชน โดยนับตั้งแต่ปี 2018 ที่ก่อตั้ง บริษัทมีธุรกรรมทางการเงินมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแต่ละปี ครอบคลุม 95% ของธุรกิจการเงินทั่วโลก รองรับ 150 สกุลเงิน และมีเครือข่ายดิจิทัลวอลเล็ตกว่า 20 ล้านราย และมีใบอนุญาตด้านการเงินกว่า 20 ใบทั่วโลก
WeLab ผู้ให้บริการ Virtual Bank
ในส่วนของ WeLab ถือเป็นบริษัท Virtual Bank ที่มีผู้ใช้กว่า 65 ล้านรายในเอเชียแปซิฟิก ภายใต้แบรนด์ WeLab Bank ใน ฮ่องกง และแบรนด์ Bank Saqu ใน อินโดนีเซีย ที่ผ่านมา ได้อนุมัติสินเชื่อดิจิทัลแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท ทางบริษัทฯ ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลแบงก์กิ้งที่ครอบคลุม ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อยและลูกค้าองค์กร และโซลูชันทางเทคโนโลยีสำหรับลูกค้าสถาบัน
ซึ่งจุดเด่นของทั้ง Lightnet และ WeLab คือ เทคโนโลยี AI และโซลูชัน Edge Computing ที่จะมาช่วยบริหารความเสี่ยง โดยในช่วงช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา WeLab มีหนี้เสียลดลงจาก 0.59% มาเป็น 0.50% ต่ำกว่าหนี้เสียของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นจาก 1.92% มาเป็น 2.89%
นอกจากนี้ เทคโนโลยีของ WeLab ยังสามารถปล่อยสินเชื่อได้ภายใน 2 นาที จากการคำนวณข้อมูลจากโซเชียล, การทำธุรกรรม, พฤติกรรม หรือการวิเคราะห์เครดิตในหลายมิติ ต่างจากธนาคารดั้งเดิมที่วิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อจากข้อมูลเครดิต, มูลค่าทรัพย์สิน โดย ไซมอน หลุง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WeLab อธิบายว่า Virtual Bank ของ WeLab ยังเป็นผู้ช่วยแนะนำด้านการเงินส่วนตัวของผู้ใช้จริง ๆ ไม่ใช่เป็นเหมือน Mobile Banking
“Mobile Banking เราต้องรู้ก่อนว่าจะทำอะไรถึงเข้าไปใช้ แต่ Virtual Bank ของเราจะแนะนำบริการทางการเงิน เหมือนมีโค้ชทางการเงิน และมีความ Personal มากขึ้น ซึ่งคนไทยเข้าถึงน้อยมาก ๆ” ไซมอน หลุง กล่าว
มั่นใจเข้าถึงคนไทยทุกกลุ่ม
แม้ว่าชื่อเสียงของ Lightnet และ WeLab จะไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนไทยนัก ซึ่ง หิรัญกฤษฎิ์ อรุณานนท์ชัย ก็ ยอมรับในจุดนี้ และมองว่า การทำธุรกิจเกี่ยวกับการเงิน ความเชื่อมั่น (Trust) เป็นสิ่งสำคัญและต้องใช้เวลาสร้าง แต่ก็มั่นใจว่าจะเข้าถึงคนไทยได้ทั่วถึงกว่า 46 ล้านรายได้ตั้งแต่วันแรก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร ทรานสปอร์ต มีเดีย ร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ฯลฯ และมีจุดให้บริการกว่า 150,000 แห่งทั่วประเทศ
แม้ว่า หิรัญกฤษฎิ์ จะไม่เปิดเผยชื่อพาร์ทเนอร์ที่ช่วยให้เข้าถึงประชาชนคนไทย แต่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็น SABUY หรือ บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เพราะถึงแม้ว่า Lightnet จะล้มดีลเข้าซื้อหุ้น SABUY เพราะราคาหุ้นผันผวน แต่เมื่อพิจารณาจาก 5 กลุ่มธุรกิจ ที่เข้าถึงระดับชุมชน ก็เป็นไปได้ว่า SABUY นี่แหละจะเป็นพาร์ทเนอร์ของ Lightnet ปัจจุบัน 5 กลุ่มธุรกิจของ SABUY มี
- Payments ซึ่งเป็นธุรกิจเติมเงิน และ รับชำระเงินให้บริการผ่านทางตู้เติมเงินอัตโนมัติ ทั้งในรูปแบบการชำระด้วยเงินสด และ เงินผ่อน
- Retail แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชสำหรับการซื้อ-ขายสินค้าหลากหลายประเภทอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า ผัก ผลไม้อาหาร ขนม และ เครื่องแต่งกาย รวมไปถึงสินค้าประเภทอื่น ๆ อีกมากมาย
- Solutions and Channels แพลตฟอร์มการจัดการธุรกิจร้านค้าปลีก และศูนย์อาหาร ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการสต็อกสินค้า การคำนวณต้นทุน และ การจัดส่ง รวมถึงการให้บริการ Cloud Platform
- Financial Inclusion บริการด้านสินเชื่อสำหรับธุรกิจ และ ธุรกิจด้านประกันภัยในรูปแบบต่าง ๆ
- Innovation การลงทุนในกลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูง
พร้อมให้บริการได้ภายใน 1 ปี
ทั้งนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกในช่วงกลางปี 2568 และจะเริ่มให้ดำเนินการจริงได้ในช่วง กลางปี 2569 ซึ่งทาง Lightnet มั่นใจว่าพร้อมจัดตั้ง Virtual Bank ภายใน 12 เดือน หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตฯ
“เราใช้เวลา 6 เดือนในการเปิด Bank Saqu Virtual Bank ในอินโดนีเซีย ดังนั้น เรามั่นใจว่าไม่เกิน 12 เดือนก็เปิดในไทยได้ จริง ๆ แล้วเทคโนโลยีมีความพร้อม แต่แค่ต้องทำให้โลคอลไรซ์ เช่น ภาษา” ไซมอน หลุง กล่าว
โดย ไซมอน หลุง มองว่า โอกาสของประเทศไทยอยู่ที่บริการทางการเงินสำหรับ กลุ่มลูกค้า Unserved และ Underserved ทั้งในกลุ่มรายย่อย และกลุ่ม MSME ที่มีความต้องการสินเชื่อรวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท
“เรามองว่ายิ่งมีผู้เล่นเยอะ ยิ่งมีการแข่งขันยิ่งดี เพราะในฮ่องกงมีธนาคารกว่า 70 ราย แต่ไทยมีไม่ถึง 20 ราย ด้วยประสบการณ์ทำให้เรามีความมั่นใจ” ไซมอน หลุง ทิ้งท้าย