ทำความรู้จัก ‘5 กลุ่มทุน’ ชิงไลเซนส์ ‘Virtual Bank’ ก่อนเคาะชื่อกลางปี 68

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุมัติใบอนุญาตให้บริการธนาคารเสมือนจริง หรือ Virtual Bank ในประเทศไทย โดยมีเป้าหมาย ช่วยให้คนไทย 27% ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงธุรกรรมทางการเงิน ได้เข้า รวมไปถึงช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ โดยปัจจุบันมีผู้ยื่นขอใบอนุญาตทั้งหมด 5 กลุ่ม โดยทาง Positioning จะพาไปรู้จักแต่ละกลุ่มว่ามีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง

KTB + AIS + GULF + OR

ถือเป็นกลุ่มที่น่าสนใจด้วยจำนวน Touch Point และ ฐานลูกค้า โดย ธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐที่มี สาขามากที่สุด ครอบคลุมคนไทยทั่วประเทศ นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทยยังเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม เป๋าตัง ทำให้มีฐานลูกค้าถึง 40 ล้านคน

ส่วน เอไอเอส (AIS) ก็มีจำนวนลูกค้าโมบายกว่า 45 ล้านเลขหมาย และลูกค้าบรอดแบนด์ 4.9 ล้านราย และมีช่องทางการจัดจำหน่ายและบริการลูกค้า 23,000 แห่ง ในส่วนของ OR ที่เด่น ๆ ก็มี PTT Station 2,256 แห่ง ร้าน คาเฟ่ อเมซอน กว่า 4,196 สาขา และมี สมาชิกบลูการ์ดราว 7.9 ล้านคน

ด้วยจำนวน Touch Point ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปั๊มน้ำมัน ร้านกาแฟ ศูนย์บริการของเอไอเอส ถือว่าได้เปรียบในการเข้าถึงประชาชนคนไทยอย่างมาก แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ ฐานลูกค้า ที่เมื่อนำข้อมูลมาเทียบกันก็จะยิ่งทำให้ได้ อินไซต์พฤติกรรมของลูกค้า นอกจากนี้ เอไอเอสยังเป็นบริษัทที่ทำเรื่องเทคโนโลยี ก็น่าจะยิ่งเสริมการทำ Virtual Bank

Sea Group + BBL + VGI + เครือสหพัฒน์ + ไปรษณีย์ไทย

ถือเป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ เฉพาะแค่ Sea Group ที่มีธุรกิจ 3 ขา ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ ก็คือแพลตฟอร์ม Shopee ฝั่ง Garena ก็คือเกมชื่อดังอย่าง Free Fire, ROV และ Sea Money ที่ทำด้านการเงินอย่าง e-Wallet ซึ่งก็คือ ShopeePay ดังนั้น มั่นใจได้เลยว่าฐานข้อมูลลูกค้าแน่นแน่นอน

ในฝั่งของพันธมิตรที่มาร่วมแต่ละรายก็มาช่วยเติมเต็มในฝั่งของ Touch Point และ Know how ไม่ว่าจะเป็น ไปรษณีย์ไทย ที่มีสาขากว่า 1,600 แห่ง และพนักงานส่งไปรษณีย์ 25,000 คน นอกจากนี้ยังได้ บริษัท วีจีไอ (VGI) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ BTS ดังนั้น ก็จะได้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟฟ้า และบัตรแรบบิท และสุดท้าย เครือสหพัฒน์ เจ้าของสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของคนไทย ซึ่งปัจจุบันมีช่องทางการขายกว่า 90,000 ช่องทางทั่วประเทศ และ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เองก็มีสาขา 882 สาขา ทั่วไทย (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2566)

ascend money + Ant Group

แค่ ascend money อย่างเดียวก็แทบจะรับจบได้หมด เพราะ ascend money เป็นกลุ่มบริษัทใน เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ที่ให้บริการ e-Wallet อย่าง TrueMoney Wallet ก็มีผู้ใช้กว่า 27 ล้านราย (ข้อมูล ณ ปี 2566) ถ้านับเฉพาะแค่จุดบริการอย่าง 7-Eleven ก็มีกว่า 14,500 สาขา เข้าไปแล้ว แต่ถ้านับจุดรับชำระของแพลตฟอร์มทั้งหมดจะมีกว่า 7 ล้านจุด เลยทีเดียว และต้องอย่าลืมว่ายังมี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทโทรคมนาคมที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ในไทย กว่า 51 ล้านเลขหมาย ที่ซีพีมีหุ้นอยู่

อีกพันธมิตรสำคัญก็คือ แอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) บริษัทฟินเทคของ อาลีบาบา (Albaba) จากจีน ซึ่ง Alipay ถือเป็น แพลตฟอร์มชำระเงินผ่านมือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้น ไม่น่าห่วงเรื่อง Know how และเทคโนโลยี เพราะถือเป็นเบอร์ต้น ๆ แน่นอน

SCBx + WeBank + KakaoBank

เอสซีบี เอกซ์ (SCBx) ยานแม่ของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน โดยมี 11 บริษัทภายใต้กลุ่มฯ ครอบคลุม 3 กลุ่มธุรกิจสำคัญ ได้แก่ ธุรกิจธนาคาร (Banking Business) ธุรกิจบริการทางการเงินดิจิทัลและสินเชื่อเพื่อรายย่อย (Consumer and Digital Finance Business) ธุรกิจแพลตฟอร์มและเทคโนโลยี (Platform and Technology Business) รวมถึง Climate Technology ดังนั้น หากพูดถึงเรื่องทรัพยากร ถือว่าแกร่งเป็นเบอร์ต้น ๆ ของแบงก์ไทยเลยทีเดียว

ในส่วนของพาร์ทเนอร์อย่าง WeBank ก็ถือเป็น ธนาคารดิจิทัลอันดับหนึ่งในจีน มีบัญชีผู้ใช้งานมากกว่า 362 ล้านบัญชี มากที่สุดในจีน ที่น่าสนใจคือ 75% ของคนที่เข้าถึงบริการทางการเงินของ WeBank คือ กลุ่มชนชั้นแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่ม Unserved และUnderserved ที่เป็นเป้าหมายของการทำ Virtual Bank ส่วน KaKao Bank ก็เป็น ธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ โดยใช้เวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น

Lightnet + WeLab

คนไทยอาจไม่คุ้นกับชื่อ Lightnet Group แต่ในระดับภูมิภาคถือเป็นฟินเทคที่น่าจับตามอง โดยบริษัทก่อตั้งโดย หิรัญกฤษฎิ์ อรุณานนท์ชัย และ ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ โดย Lightnet มีจุดเด่นที่บริการ โอนเงินข้ามประเทศผ่านระบบบล็อกเชน โดยนับตั้งแต่ปี 2018 ที่ก่อตั้ง บริษัทมีธุรกรรมทางการเงินมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแต่ละปี ครอบคลุม 95% ของธุรกิจการเงินทั่วโลก รองรับ 150 สกุลเงิน และมีเครือข่ายดิจิทัลวอลเล็ตกว่า 20 ล้านราย และมีใบอนุญาตด้านการเงินกว่า 20 ใบทั่วโลก

ในส่วนของ WeLab ถือเป็นบริษัท Virtual Bank ที่มีผู้ใช้กว่า 65 ล้านรายในเอเชียแปซิฟิก ภายใต้แบรนด์ WeLab Bank ใน ฮ่องกง และแบรนด์ Bank Saqu ใน อินโดนีเซีย ที่ผ่านมา ได้อนุมัติสินเชื่อดิจิทัลแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท ด้วยเทคโนโลยี AI และโซลูชัน Edge Computing ช่วยให้ในช่วงช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา WeLab มีหนี้เสียลดลงจาก 0.59% มาเป็น 0.50% ต่ำกว่าหนี้เสียของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นจาก 1.92% มาเป็น 2.89%

โดย หิรัญกฤษฎิ์ เปิดเผยว่า นอกจากเรื่องเทคโนโลยี บริษัทมีพาร์ทเนอร์ที่จะช่วยให้เข้าถึงคนไทยกว่า 46 ล้านราย ได้ตั้งแต่วันแรก และมีจุดให้บริการกว่า 150,000 แห่ง ทั่วประเทศ แม้จะไม่เปิดเผยชื่อพาร์ทเนอร์ แต่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็น SABUY หรือ บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ที่เคยมีข่าวว่าบริษัทจะเข้าซื้อหุ้น แล้วดีลดังกล่าวจะล่มไปแล้วก็ตาม

ลุ้นจะได้ใบอนุญาตฯ ทั้ง 5 รายหรือไม่

จะเห็นว่าผู้เล่นแต่ละรายก็มีจุดแข็งแตกต่างกันไป บางรายเน้นดึงพันธมิตรในประเทศ บางรายเน้นดึงพันธมิตรจากต่างประเทศ ซึ่งคงต้องมาลุ้นอีกทีในช่วงกลางปี 2568 ว่า ธปท. จะให้ใบอนุญาตฯ ผู้เล่นทั้งหมด 5 รายหรือไม่ หรือจะให้แค่ 3 ราย ตามที่มีข่าวลือ

แต่ไม่ว่าจะมีผู้เล่นกี่ราย ก็หวังว่าการมาของ Virtual Bank จะเข้ามาช่วยให้คนไทยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน สามารถเข้าถึงได้ และแก้ปัญหา เศรษฐกิจนอกระบบ สูงถึง 50% ต่อ GDP ซึ่งถือเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคอาเซียน