Apple และ Google กับสงครามชิงความเป็นหนึ่ง ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

หลายคนคงได้ติดตามงานเปิดตัวระบบปฏิบัติการ iOS 6 ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่สำหรับ iPhone และ iPad จาก Apple สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้นอกจากความเปลี่ยนแปลงด้านฟีเจอร์ที่พัฒนาจากรุ่นเดิมอย่างมากแล้ว ยังได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท Apple และ Google ที่ต่างพยายามแย่งชิงความได้เปรียบทางธุรกิจ มีการสลับขั้วกันของกลุ่มพันธมิตรเดิม การจับมือเป็นพันธมิตรกันของคู่แข่งเพื่อสร้างแต้มต่อในบางบริการ 

ถ้าย้อนอดีตกลับไปยังเดือนมกราคมปี 2007 ในงาน Macworld Expo ที่สตีฟ จ็อบส์ ได้เปิดตัว iPhone เป็นครั้งแรก

ในตอนนั้น Apple ได้จับมือกับ Google เพื่อนำ Google Map มาเป็นหนึ่งในแอพฯ หลักที่อยู่ในเครื่องทำให้แผนที่กลายเป็นบริการหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในการใช้สมาร์ทโฟน และเป็นจุดเริ่มต้นของเทรนด์ด้าน Location-based บนมือถือ

ตัวเว็บเบราว์เซอร์อย่าง Safari ก็มีการตั้งเครื่องมือค้นหาของ Google เป็นเครื่องมือค้นหาหลักเพียงอย่างเดียว การตั้งค่าใช้งานอีเมลในเครื่อง ก็มี Gmail เป็นตัวเลือกหลักอันหนึ่งให้ผู้ใช้เลือกใช้

อาจจะกล่าวได้ว่า iPhone รุ่นแรกนั้น มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้บริการต่างๆ ของ Google ถูกใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น และอีกนัยหนึ่ง Apple ก็ได้ประโยชน์จากการมีบริการดีๆ ให้ผู้ใช้ได้ใช้ โดยที่ตัวเองไม่ต้องพัฒนาขึ้นมาเอง เรียกว่า Win-Win ทั้งสองฝ่าย

การมี Eric Schmidt ซีอีโอของ Google ในขณะนั้น นั่งอยู่ในบอร์ดบริหารของ Apple ด้วยจึงทำให้ดีลนี้เกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก

แม้ความสำเร็จที่ดูเหมือนว่าจะ Win-Win กันทั้งสองฝ่าย แต่เมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ความขัดแย้งจึงเริ่มเกิดขึ้นมา

ปลายปี 2007 Google ได้ประกาศความร่วมมือกับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ชั้นนำหลายบริษัท เช่น HTC, Motorola, Samsung Electronics, LG, Intel ก่อตั้งกลุ่มที่เรียกว่า “Open Mobile Alliance” ขึ้นมาเพื่อสร้างมาตรฐานเปิดสำหรับอุปกรณ์พกพา พร้อมกับการเปิดตัวระบบปฏิบัติการที่ชื่อว่า “Android” ซึ่งพัฒนาโดย Google

นัยหนึ่งเป็นการบอกว่า โลกใบนี้ต้องมีระบบเปิดเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ และอีกนัยหนึ่งเป็นเน้นภาพให้เห็นว่า Apple เป็นผู้นำด้านการผูกขาด ทำระบบปิดที่ควบคุมโดยคนคนเดียว

กลายเป็นชนวนที่ทำให้ Apple คิดว่า Google ได้รุกคืบเข้ามายังธุรกิจหลักของ Apple แล้ว

ต่อมาในปี 2008 ก็เกิดปัญหาขึ้นระหว่าง Phil Schiller ผู้บริหารระดับสูงของ Apple ที่ดูแลด้านการตลาด กับ Vic Gundotra ผู้บริหารระดับสูงของ Google ที่ดูแลงานด้านวิศวกรรม เนื่องจากตกลงกันไม่ได้ว่า ข้อมูลผู้ใช้ Google Map ที่มาจาก iPhone ควรเป็นของใคร และฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ทาง Google พัฒนาใส่ Google Map อย่างการสั่งงานด้วยเสียงหรือการช่วยนำทางแบบ Turn-by-Turn กลับไม่ถูกนำมาใส่บน iPhone แต่เลือก Exclusive เฉพาะ Google Map บน Android เท่านั้น ทำให้ทาง Apple ไม่พอใจเป็นอย่างมากที่ไม่สามารถตกลงกันได้

การเกิดขึ้นของระบบปฏิบัติการ Android เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในช่วงเวลาที่ Eric Schmidt นั่งอยู่ในบอร์ดบริหารของ Apple พอดี ทำให้คิดไปได้ว่า Schmidt รู้ข้อมูลวงในของโปรเจกต์ iPhone และนำไปให้ Google เพื่อทำมือถือขึ้นมาแข่งกับ Apple เนื่องจากเห็นตัวเลขความสำเร็จที่ Apple ได้จากการขาย iPhone และบริการต่างๆ ที่มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก iPhone จึงมองเห็นอนาคตของ Google ว่าต้องสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ถ้ามีโทรศัพท์เป็นของตัวเอง

วันที่ 3 สิงหาคม ปี 2009 Eric Schmidt ตัดสินใจลาออกจากบอร์ดบริหารของ Apple หลังจากได้รับแรงกดดัน ซึ่งตัวสตีฟ จ็อบส์เองบอกว่า ได้มีการพูดคุยและตกลงกันกับตัว Schmidt แล้วว่าถึงเวลาที่จะต้องไปเพื่อป้องกันปัญหา Conflicts of Interest ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่าง Apple และ Google ยิ่งแย่ลง เมื่อ Apple ประกาศในงาน WWDC ที่จัดในเดือนมิถุนายน ปี 2010 ว่า Bing บริการค้นหาจาก Microsoft จะกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือค้นหาหลักบน iPhone เพิ่มเติมจาก Google และ Yahoo! ซึ่ง 2 ใน 3 ของปริมาณการค้นหาบนมือถือทั้งหมด มาจาก iPhone 

ทำให้มองได้ว่า Apple ต้องการลดบทบาทของ Google บนมือถือของตน แม้ว่า Google จะจ่ายเงินให้กับ Apple ในการนำ Traffic จากผู้ใช้ iPhone มาใช้บริการค้นหาของตนเป็นจำนวนเงินไม่น้อยก็ตาม

ปี 2011 ส่วนแบ่งตลาดของสมาร์ทโฟนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อ Android กลายเป็นสมาร์ทโฟนที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดถึง 50.9% (Gartner) แซงหน้า iOS, Symbian และ BlackBerry เนื่องจาก Android ถูกนำไปใช้เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟนในตลาดระดับล่างและตลาดระดับกลาง ฐานผู้ใช้จึงขยายตัวกว้างมากยิ่งขึ้น

Google ตัดสินใจส่งระบบปฏิบัติการ Android รุ่นใหม่ รหัส “Honeycomb” สู่ตลาดสำหรับการแข่งขันในตลาด Tablet สู้กับ iPad

แม้ว่ายอดขาย Tablet ที่ใช้ Honeycomb จะไม่สูงนัก แต่ก็เห็นได้ชัดว่า Google กำลังรุกเข้าไปตลาดที่เป็นธุรกิจหลักของ Apple 

นอกจากการโต้ตอบ Google กลับโดยการดึง Bing มาเป็นพันธมิตรแล้ว Apple ยังมีการนำ SIRI ซึ่งเป็นระบบผู้ช่วยในการค้นหาข้อมูล สำหรับ iPhone 4S และ The New iPad มาชูเป็นจุดขายด้านนวัตกรรมที่โดดเด่น

แม้ว่า SIRI จะยังใช้บริการค้นหาเว็บจาก Google อยู่แต่การค้นหาอย่างอื่นก็มีการใช้งานพาร์ตเนอร์หลายเจ้า

ถ้าเป็นการค้นข้อมูลเว็บ SIRI จะทำการค้นหาจากฐานข้อมูลของ Google Bing และ Yahoo!

ถ้าต้องการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์และโรงหนัง SIRI ก็จะทำการค้นหาจากฐานข้อมูลของ Rotten Tomatoes, IMDB และ Fandango

ถ้าต้องการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับร้านอาหาร SIRI ก็จะทำการค้นหาจากฐานข้อมูลของ Yelp และ OpenTabl

ถ้าเป็นข้อมูลถามตอบ SIRI ก็จะไปหาจากฐานข้อมูลของ Bing Answer และ Wolfram Alpha 

เห็นได้ชัดครับว่า SIRI จะกลายเป็นตัวกลางในการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้แทนที่การค้นหาทางเว็บ และการเลือกใช้ฐานข้อมูลที่หลากหลายในแต่ละประเภทการค้นหานอกจากจะเป็นการเลือกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับผู้ใช้แล้ว ยังอาจมองได้ว่าเป็นการจับขั้วเป็นพันธมิตรกันระหว่าง Apple และเว็บยักษ์ใหญ่ที่มาเป็นพาร์ตเนอร์ เพื่อลดความสำคัญของ Google อีกด้วย

นอกจากโดดเดี่ยว Google สำหรับบริการค้นหาบนเว็บแล้ว Social Network ก็เป็นอีกบริการที่ Apple เดินหมากเพื่อปิดล้อม Google อีกทาง

ใน iOS5 บริการ Twitter ถูกนำมาผนวกเป็นหนึ่งเดียวกับระบบปฏิบัติการ

ทำให้ยอดผู้ใช้ Twitter บน iOS เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และสัดส่วนการแชร์รูปบน Twitter มาจาก iOS ถึง 47%

มาใน iOS6 Apple จับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับ Facebook อย่างเป็นทางการ

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2010 อีกรอบครับ 

ปีนั้น Apple ได้เปิดตัวบริการ Social Music อันหนึ่งชื่อว่า “Ping”

Ping นั้น ถูกหมายมั่นปั้นมือว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในโลก Social Network ได้ ด้วยพลังผลักดันจาก Apple และ iTunes

ช่วงก่อนเปิดตัว Ping นั้น จริงๆ แล้ว Apple มีการเจรจาเชื่อมต่อ Ping เข้ากับ Facebook และเตรียมเปิดตัวพร้อมกัน

แต่การเจรจาทางธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ Ping ถูกเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่โดยไม่มีการเชื่อมต่อกับ Facebook 

ในครั้งนั้น ความสัมพันธ์ของ Apple กับ Facebook จึงถูกมองว่าไม่ค่อยดีนัก

หลังจากให้บริการมาได้ 2 ปี ในที่สุด Apple ก็เตรียมปิดให้บริการ Ping ไปเนื่องจากปั้นไม่ขึ้น และ Ping ไม่อยู่ใน Social Strategy ที่ Apple วางไว้อีกต่อไป

จิ๊กซอว์ที่ห่างหายไปนานอย่าง Facebook จึงถูกนำกลับมาเชื่อมต่ออีกครั้ง

เมื่อเดือนพฤษภาที่ผ่านมา Tim Cook ซีอีโอของ Apple ไปออกรายการชื่อดังอย่าง D10 พร้อมกับกล่าวชื่นชมว่า “Facebook is a great company” และกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างบริษัททั้งสองว่าจริงจังและหนักแน่น

ก่อนหน้านี้ไม่นาน Cook เพิ่งกล่าวกับกลุ่มนักลงทุนว่า Facebook เป็นบริษัทที่ใกล้เคียงที่สุดในการที่จะประสบความสำเร็จเหมือนอย่าง Apple

การที่ซีอีโอของ Apple ออกมาหยอดคำหวานใส่ Facebook ผ่านสื่อ ย่อมแสดงถึงนัยอะไรบางอย่างที่ไม่ธรรมดา

ในที่สุดการเปิดตัว iOS 6 ก็มีการนำ Facebook มาผนวกเป็นหนึ่งเดียวกับระบบปฏิบัติการ 

ผู้ใช้สามารถกดแชร์ โพสต์ ได้ง่ายขึ้น มีการ sync รายชื่อเพื่อนใน Facebook เข้ากับ Contacts ของ iPhone รวมไปถึงระบบ Single Sign On ที่ผู้ใช้ Facebook ตั้งค่า Username/Password ครั้งเดียว และจะได้รับอนุญาตจากแอพฯ ต่างๆ ที่ต้องการ Facebook มาเพื่อ Login 

มีการนำฟีเจอร์ Social Graph ไปใส่ไว้ใน App Store ให้ผู้ใช้สามารถกดไลค์แอพฯ ที่ชื่นชอบ และสามารถเห็นว่าเพื่อนของเราคนไหนกดไลค์ให้แอพฯ ตัวนี้บ้าง 

เป็นการนำ Like มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบจัดเรตติ้งแอพฯ และทันทีที่กดไลค์ แอพฯ นั้นก็จะถูกโพสต์ลงบน Timeline ของผู้ใช้คนนั้น ทำให้ Facebook ก็จะรู้เช่นกันว่าผู้ใช้งาน Facebook ชื่นชอบแอพฯ อะไร ประเภทไหนเป็นพิเศษ

และไม่ใช่แค่บน iOS เท่านั้นนะครับ เพราะทั้ง 3 บริการ ก็จะถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับระบบปฏิบัติการ Mountain Lion ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับ Mac รุ่นใหม่ล่าสุดอีกด้วย เรียกว่าตีทั้งทางมือถือและบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

การหาพาร์ตเนอร์ของ Apple กับ Twitter และ Facebook ในเรื่องของ Social นอกจากทั้ง 3 บริษัทจะได้ประโยชน์จากการการใช้งานต่างๆ แล้ว ยังเป็นการจับขั้วเพื่อโดดเดี่ยว Google+ บริการ Social Network ของ Google อีกเช่นกัน 

ปกติ Google+ ก็เกิดยากอยู่แล้ว และกำลังประสบปัญหา ไม่สามารถแข่งขันกับทั้ง Facebook และ Twitter ได้

เจอแบบนี้ Google+ ยิ่งลำบากครับ

และทีเด็ดสุดของการเปิดตัว iOS6 ของ Apple คือ การเปิดตัวระบบแผนที่แบบใหม่ที่เป็นของตัวเอง 

ระบบแผนที่ตัวใหม่ของ Apple นี้ มาจากการซื้อกิจการของบริษัทที่ทำด้านแผนที่ 3 บริษัท คือ บริษัท Placebase, Poly9 และ C3 Technologies และมีการจับมือกับพาร์ตเนอร์ถึง 15 ราย เช่น TomTom ที่ให้บริการระบบนำทางแบบ Turn-by-Turn, OpenStreetMap สำหรับ Location และ Address ต่างๆ และข้อมูลแผนที่ต่างๆ ทั่วโลกจากบริษัทอย่าง Waze, Intermap, LeadDog และ DigitalGlobe เป็นต้น

ระบบแผนที่ตัวใหม่นี้ สร้างความฮือฮามากครับ เพราะทั้งสวยงามน่าใช้ มีลูกเล่นมากมายไม่แพ้ Google Map เดิม มีข้อมูล Location สำคัญๆ มากมาย และมีความสามารถด้านการนำทางจากบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้นำในตลาด GPS Navigation อย่าง TomTom 

เรียกได้ว่าระดมพาร์ตเนอร์ชั้นนำมากมายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบแผนที่แบบใหม่ พร้อมกับเขี่ย Google Map ออกไปจาก iOS 

ต่อไปแอพฯ ที่อยู่บน iOS ถ้าแอพฯ ไหนมีการใช้งานข้อมูลของ Location ก็จะต้องมาใช้งานผ่านระบบข้อมูลแผนที่ของเหล่าพาร์ตเนอร์ ถ้าต้องการระบบนำทางก็ใช้งาน TomTom ที่อยู่ในระบบแผนที่แบบใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าแอพฯ บน iOS นั้นมีปริมาณมากกว่าบน Android จึงเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม

ยังมีเรื่องของ iCloud ที่ไปชนกับ Google Drive และ Gmail, Contacts, Calendar ต่างๆ

มีการเสริมความสามารถของ iCloud ให้กับชุดแอพฯ ออฟฟิศอย่าง iWorks แอพฯ จัดการภาพถ่าย iPhoto และอื่นๆ

Apple เปิดสงครามเต็มตัวกับ Google แล้วในหลายสมรภูมิ และในบางสมรภูมิ Google ไม่ได้มีศัตรูแค่ Apple เท่านั้น แต่ยังมีคู่แข่งรายอื่นที่เคยเดือดร้อนจากการรุกคืบของ Google ที่ต้องการครอบครองบริการออนไลน์นอกเหนืออาณาจักร Search Engine ของตนอีกด้วย

กลยุทธ์ของ Apple ในการดึงศัตรูมาเป็นเพื่อน ทั้งที่เป็นคู่แข่งกับ Google เองหรือเคยเป็นคู่แข่งกับตัวเอง และการดึงผู้นำในแต่ละบริการมาเป็นพวกเดียวกันเพื่อโดดเดี่ยว Google แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของ Tim Cook ที่ยอมจับมือกับทุกคนเพื่อสร้างแต้มต่อสำหรับการธุรกิจของ Apple ซึ่งแตกต่างจากสมัยที่สตีฟ จ็อบส์กุมบังเหียน

คอยติดตามกันครับ ว่าสงครามนี้จะจบที่ตรงไหน ใครจะเป็นผู้ที่กำชัยชนะ 

สำหรับท่านที่สนใจติดตามบทความธุรกิจสนุกๆ ลองตามกันได้ที่เว็บไซต์ www.eggidea.com นะครับ