จริง ๆ เหตุการณ์นี้ผ่านไปแล้วครึ่งปี ตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 ที่ผ่านมา แต่เพิ่งจะมีโอกาสสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ จากโฆษณา รอบนี้เป็นการเปลี่ยนชื่อภาษาจีน จากชื่อเดิมที่ใช้อยู่ว่า 泰华农民银行 (ไท้หัวหนงหมินอิ๋นหัง) ซึ่งแปลตรงตัวมาจากชื่อภาษาไทยและชื่อภาษาอังกฤษดั้งเดิมว่า ธนาคารกสิกรไทย หรือ Thai Farmer Bank
ถ้าคนไม่คุ้นเคยอ่านแล้วก็ต้องเข้าใจว่าเป็นธนาคารเพื่อเกษตรกรไทย ซึ่งตอนที่ธนาคารกสิกรไทยบุกตลาดจีน แม้ในไทยจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ KBank จนชินแล้ว แต่ก็เลือกที่จะไม่ใช้ชื่อที่ติดตามปากคนไทยอย่าง KBank ไปใช้ในจีน เพราะคนจีนนั้น ถึงที่สุดก็จะหาภาษาจีนมาเรียกทับศัพท์ให้กับแบรนด์ทุกแบรนด์ในโลกให้จงได้
บริบทของชื่อเดิมเลยทำให้โพสิชั่นนิ่งของเคแบงก์ในจีนผิดเพี้ยนไป เพราะนอกจากคนไทยที่คุ้นเคยกับแบงก์อายุ 67 ปีนี้ดีว่าทันสมัยแค่ไหน แต่กับคนนอกถ้าอยากให้รู้จริงก็คงต้องอธิบายความกันพอสมควรว่า เคแบงก์เป็นแบงก์พาณิชย์ที่ให้บริการทางการเงินทั่วไปไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มเกษตรกรหรือแม้แต่กลุ่มธุรกิจเกษตร และนี่เป็นเหตุผลที่ชื่อภาษาจีนของเคแบงก์ซึ่งอยู่มานานถูกเปลี่ยนใหม่เป็น 开泰银行 (ไคไท้อิ๋นหัง)
开泰 แปลความได้ว่า หมายถึง “จุดเริ่มต้นที่เป็นศิริมงคล” ส่วน 银行 แปลว่า “ธนาคาร” ซึ่งกสิกรไทยเลือกวางชื่อภาษาจีนไว้ก่อนชื่อภาษาอังกฤษในโลโก้ใหม่ด้วยเป็นฮวงจุ้ยที่เริ่มด้วยคำว่า “เปิด” ถ้าจะแปลให้มีความหมายโดยนัย ก็สามารถหมายถึงการเปิดตัวของธุรกิจธนาคารไทยที่ต้องขยายกว้างขึ้นได้อีกด้วย เพราะ 开 (ไค) แปลว่า เปิด ส่วน 泰 (ไท้) ก็หมายถึงคนไทยหรือประเทศไทยได้ด้วย
บัณฑูร ล่ำซำ ซีอีโอ บมจ.ธนาคารกสิกรไทยบอกว่า ชื่อนี้จะทำให้เคแบงก์ขยายแบรนด์ในเชิงธุรกิจได้แรงกว่าการถูกมองเป็นแบงก์เกษตรกรมากมายนัก แถมความหมายก็เป็นมงคล แล้วภาษาจีนสมัยนี้ก็ไม่ได้มีแค่คนจีนที่อ่านออก แต่คนหลายชาติหลายภาษาก็หันมาสนใจเรียนภาษาจีนกันมากขึ้น เหมือนกับผู้บริหารจำนวนมากในเคแบงก์
รู้แบบนี้แล้ว เห็นที่ว่าต่อจากนี้ นอกจากโฆษณาในทีวีที่เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบได้ไว คราวนี้เวลาไปไหนมาไหนต้องคอยสังเกตโลโก้เคแบงก์เสียแล้วว่า เปลี่ยนเป็นชื่อใหม่กันครบหมดทุกสาขา ทุกตู้ ATM หรือยัง
เพื่อลูกค้าจีน
เปลี่ยนชื่อทั้งที่ต้องมีนัยสำคัญมากกว่าแค่ความหมายดี ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเคแบงก์เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ออกมาย้ำความสำคัญของกลุ่มลูกค้าจีนอย่างยิ่ง
พิพิธ เอนกนิธิ รองกรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2548-2554 ธุรกิจจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละมากกว่า 25% และแนวโน้มยังคงเติบโตต่อเนื่อง รวมแล้วมีมูลค่าการลงทุนในไทยสูงเกือบ 3 หมื่นล้านบาท มาจากทั้งกลุ่มทุนขนาดใหญ่ไปจนถึงเอสเอ็มอี
นั่นคือเหตุผลที่นอกจากเปลี่ยนชื่อให้เข้ายุคสมัย เคแบงก์ยังเปิดบริการทางการเงินแบบครบวงจร ที่โพรไวด์สำหรับนักธุรกิจจีนโดยเฉพาะตั้งแต่แบบฟอร์ม เอกสาร บริการคอลล์เซ็นเตอร์ และให้บริการธุรกรรมการเงินภายใต้สกุลเงินหยวนแบบครบวงจร โดยนำร่อง 3 สาขาแรก ได้แก่ สาขาสำนักเสือป่า สาขาถนนรัชดาภิเษก (ห้วยขวาง) และสาขานิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง และบริการเอทีเอ็มภาษาจีนผ่านเครื่อง K-ATM ทั่วประเทศกว่า 7,400 เครื่อง และเว็บไซต์ภาษาจีน
งานนี้ยืนยันว่าเคแบงก์ไม่ได้พร้อมรับแค่ AEC แต่พร้อมรับ AEC+ ที่มีพี่เบิ้มจีนเป็นผู้กุมเศรษฐกิจหลักของโลก ณ ชั่วโมงนี้อยู่ด้วย