มองเทรนด์ ‘การกิน’ ของ ‘อินโดนีเซีย’ ประเทศอุตสาหกรรมอาหารอันดับ 2 ของเอเชีย สำหรับ ‘ผู้ประกอบการไทย’ ที่กำลังหาโอกาสลุย

เชื่อว่าผู้ประกอบการด้านอาหารส่วนใหญ่จะต้องรู้จักกับงาน Food ingredients Asia งานแสดงสินค้า เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน เนื่องจากถูกจัดต่อเนื่องมาแล้ว 28 ปี โดยจะเป็นการจัดสลับระหว่างประเทศไทย และ อินโดนีเซีย ซึ่งในในปี 2024 นี้ ได้จัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย โดย Positioning จะพาไปเจาะลึกถึงโอกาส ความน่าสนใจ และอะไรยังเป็นอุปสรรคใหญ่ของผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะลุยอินโดนีเซีย

คนอินโดฯ กินหวาน แต่คนรุ่นใหม่เริ่มดูแลตัวเอง

อย่างที่รู้กันว่า อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็น อันดับ 4 ของโลก ด้วยจำนวนกว่า 270.2 ล้านคน ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหาก ตลาดอาหาร ในปี 2024 จะถูกคาดว่ามีมูลค่ากว่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังคงมีการเติบโตในอัตรา 6.12% ต่อปี (CAGR 2024-2028)

รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ผู้จัดงาน Food ingredients Asia เล่าว่า พฤติกรรมของคนอินโดนีเซียคือ ชอบทานอาหารนอกบ้าน และจะติดทานอาหาร รสหวาน มัน ซึ่งทางอินโดฯ ยังไม่ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมน้ำตาลหรือการรณรงค์งดน้ำตาลจริงจังนัก เพราะพฤติกรรมที่ฝังรากของคนอินโดฯ

ในส่วนของประเภทอาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ เบเกอรี่ และซีเรียล โดยมีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลุ่มที่เติบโตมากที่สุดคือ สแน็ค และ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

“คนอินโดนีเซียชอบสแน็ค จะเห็นว่าเขาเคี้ยวแทบทั้งวัน และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่นี่ก็เยอะมาก ถ้าไปเดินในซูเปอร์มาร์เก็ตของอินโดนีเซียจะเห็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นพัน ๆ แบรนด์ อีกอย่างที่คนอินโดฯ นิยมก็คือ ขนมปัง และที่สำคัญคือ เขาติดหวาน ดังนั้น ถ้าไทยจะเข้ามาเจาะตลาดอินโดฯ ก็ต้องปรับนิดหน่อย”

รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์

วัยรุ่นเริ่มหันมาดูแลตัวเอง

ที่น่าสนใจคือ ประชากรกว่า 50% ของอินโดนีเซียอายุต่ำกว่า 45 ปี ดังนั้น ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่เยอะ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็เริ่มมองหา อาหารเพื่อสุขภาพ (Health Ingredients) มากขึ้น โดยไทยเองก็มีจุดเด่นในเรื่องนวัตกรรมอาหาร ดังนั้น การส่งออกผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเข้าสู่ตลาดอาหารอินโดนีเซียถือเป็นอีกโอกาส จากปัจจุบันอินโดนีเซียนำเข้า น้ำตาล จากไทยมากที่สุด

อีกโอกาสที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทยก็คือ พริก เนื่องจากวัฒนธรรมอาหารอินโดฯ จะคล้าย ๆ กับไทยที่มี น้ำพริก ประจำบ้านที่เรียกว่า ซัมบัล บาจาค (Sambal Bajak) ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกวัตถุดิบที่ไทยอาจสามารถส่งออกมายังอินโดฯ ได้

อุปสรรคเดียวคือ กฎหมาย

แม้ว่าอินโดนีเซีย จะถือเป็นประเทศที่มีขนาดอุตสาหกรรมอาหารใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากจีน แต่ที่ ผู้ประกอบการไทยเน้นการส่งออกไปที่ยุโรป รุ้งเพชร มองว่าเป็นเพราะ กฎหมาย ของอินโดนีเซียที่เป็น ข้อจำกัดเดียว ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ประกอบการไทยต้อง ทำกิจการร่วมค้า (Joint Venture) กับคนในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ

อีกข้อจำกัดสำคัญก็คือ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็น มุสลิม ซึ่งจะมีกฎหมาย Halal Regulations ใหม่ ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ โดยสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศต้องมีป้าย Halal หรือ Non-Halal จากอินโดนีเซียกำกับเท่านั้น ดังนั้น ต้องให้มีสัญลักษณ์ฮาลาลของประเทศไทยก็ไม่สามารถนำเข้าได้ ซึ่งในส่วนนี้ ภาครัฐ ควรเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย

“ตลาดน่าสนใจ เพราะใกล้บ้านด้วย อีกทั้งคนอินโดฯ มองว่าสินค้าอาหารไทยว่ามีคุณภาพ ยอมจ่ายเงินซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาในประเทศไทย เป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทย แต่สิ่งสำคัญคือต้องตามเทรนด์และกฎหมายให้ทัน เพราะถ้าเข้าประเทศอินโดฯ ได้ก็ขายกลุ่มประเทศตะวันออกกลางได้

Future Food อีกเทรนด์ที่เป็นโอกาสของไทย

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัญหาในการเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารอันดับ 2 ของเอเชียของไทยก็คือกฎหมาย ดังนั้น รัฐบาลถือเป็นส่วนสำคัญมาก เพราะรัฐบาลมีบทบาทในการเจรจาเรื่อง FTA (Free Trade Area) หรือเขตการค้าเสรี และการสร้างการรับรู้

อีกโอกาสของผู้ประกอบการไทยคือ Future Food หรือ อาหารอนาคต เช่น แพลนต์เบส (Plant based) ที่กำลังเป็นเทรนด์ทั่วโลก โดยไทยเองทั้งภาครัฐและเอกชนก็ได้ร่วมมือกันพัฒนาตั้งแต่ระดับงานวิจัยเพื่อหานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อไปต่อยอด โดยในมุมการผลิต ไทยถือว่าเป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลก แต่แม้ไทยเป็นผู้ผลิตแต่ก็ยังขาด Food Ingredient (วัตถุดิบ) บางอย่าง ทำให้ในปัจจุบันไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท แต่ส่งออกวัตถุดิบเพียง 6.5 พันล้านบาท

ดังนั้น การดึงการลงทุนจากต่างประเทศ จึงเป็นอีกจุดที่สำคัญของไทย เพราะอาจมีบาง Know How หรือการตลาดที่ผู้ประกอบการไทยยังไปไม่ถึง เพราะในแต่ละประเทศก็จะซื้อสินค้าจากผู้ผลิตแบรนด์นี้เท่านั้นก็มี ดังนั้น ถ้าดึงการลงทุนจากต่างประเทศมาได้ ไทยก็จะมีแหล่งวัตถุดิบที่จะใช้ปรุงแต่งอาหารได้มากขึ้น ในต้นทุนที่ถูกลง และจะช่วยการส่งออกได้ดีขึ้น

“ไทยยังต้องนำเข้าพวกสารสกัดจากพืช สมุนไพร สารปรุงแต่งกลิ่นรส และสานสกัดทางโภชนาการต่าง ๆ เช่น วิตามิน ไฟเบอร์ ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้จะช่วยให้เราขายอาหารฟังก์ชันนอลได้เยอะขึ้น ซึ่งไทยเองก็มีโอกาสที่จะส่งออกวัตถุดิบท้องถิ่น แต่เพราะเราสกัดไม่เก่ง ดังนั้น ถ้าเราดึงการลงทุนจากต่างชาติมาสกัดจากวัตถุดิบไทย หาที่ไหนไม่ได้ นี่ก็จะเป็นโอกาสของไทย” วิศิษฐ์ ทิ้งท้าย