โรงแรม “แกรนด์ ฟอร์จูนฯ” รีแบรนด์เป็น “อวานี รัชดา” เพิ่มน้ำหนักลูกค้า “จองตรง” – ดันรายได้โต 25-30%

อวานี รัชดา
อวานี รัชดา กรุงเทพฯ
แผนรีแบรนด์โรงแรม “แกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ” หัวมุมแยกรัชดาพระราม 9 เปลี่ยนเชนบริหารเป็น “อวานี รัชดา กรุงเทพฯ” เตรียมรีโนเวตส่วนล็อบบี้ ห้องพัก และห้องประชุม อัปเกรดเรตห้องพักให้สูงขึ้น พร้อมเพิ่มน้ำหนักดึงลูกค้า “จองตรง” หวังรายได้โต 25-30% ภายใน 3 ปีหลังรีแบรนด์เสร็จ

ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2567 โรงแรม “แกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ” หัวมุมแยกรัชดา-พระราม 9 ได้เปลี่ยนชื่อและเชนบริหารอย่างเป็นทางการเป็น “อวานี รัชดา กรุงเทพฯ” เริ่มต้นบทใหม่ของโรงแรมที่อยู่มานานกว่า 30 ปีจนเป็นภาพจำของแยกนี้

แม้ว่าจะเปลี่ยนเชนบริหารเป็นอวานีในเครือ “ไมเนอร์ โฮเทลส์” แต่เจ้าของโรงแรมไม่ได้เปลี่ยนมือ ยังคงเป็นอสังหาริมทรัพย์ในมือ “CP LAND” เช่นเดิม เพียงแต่ได้ทีมบริหารใหม่ที่จะใช้ความเชี่ยวชาญมาอัปเกรดโรงแรมให้ทำรายได้ได้ดีขึ้น

“ชิดชนก พศินพงศ์” ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมอวานี รัชดา กรุงเทพฯ

“ชิดชนก พศินพงศ์” ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมอวานี รัชดา กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า โรงแรมนี้ถือเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ มีห้องพักรวม 402 ห้อง และมีจุดเด่นคือทำเลยุทธศาสตร์ ติดสถานีรถไฟฟ้า MRT พระราม 9 ใกล้แหล่งท่องเที่ยว เช่น จ๊อดแฟร์, RCA และอยู่ท่ามกลางแหล่งสำนักงาน ‘นิวซีบีดี’ ของกรุงเทพฯ

รวมถึงเจ้าของคือ CP LAND มีการบำรุงรักษาตึกเป็นอย่างดี รีโนเวตใหญ่รอบล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทำให้ภาพรวมเชื่อว่าการเข้ามาบริหารของไมเนอร์จะช่วยดันศักยภาพโรงแรมได้ไม่ยาก

อวานี รัชดา กรุงเทพฯ
ห้องพักในโรงแรม อวานี รัชดา กรุงเทพฯ

 

รีโนเวตให้เข้าธีม “อวานี” สนุกสดใสมากขึ้น

ชิดชนกกล่าวต่อว่า ขณะนี้ไมเนอร์ร่วมกับ CP LAND กำลังเคาะแผนการรีโนเวตโรงแรมเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะมี 4 ส่วนสำคัญที่จะมีการลงทุน ได้แก่

1.ล็อบบี้ – ปรับให้สนุกสดใส ลุคแอนด์ฟีลเป็นสไตล์แบบ “อวานี” สามารถมานั่งเล่น จิบกาแฟ คุยงานกันได้

2.ห้องพัก – เฉพาะกลุ่มห้องพัก Deluxe Room (ห้องขนาดเริ่มต้น) จำนวน 231 ห้อง จะมีการปรับใหม่เป็นสไตล์อวานี

3.ห้องประชุม – มีการปรับเปลี่ยนให้เป็นห้องประชุมแบบยืดหยุ่น สามารถเปิดปิดกำแพงเพื่อเปลี่ยนขนาดห้องได้ง่าย

4.IT Systems – ปรับเปลี่ยนระบบหลังบ้าน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในห้องพัก

ล็อบบี้โรงแรม อวานี รัชดา กรุงเทพฯ จะมีการรีโนเวตใหม่ให้เป็นสไตล์สนุกสดใสแบบอวานีมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ยังไม่สรุปงบประมาณการลงทุน แต่จะเริ่มที่การปรับล็อบบี้ก่อนในช่วงปลายปี 2567 ตามด้วยการทยอยรีโนเวตห้องพักช่วงไตรมาส 2-3 / 2568 แผนการรีโนเวตทั้งหมดจะเสร็จเรียบร้อยภายในปลายปี 2568 โดยไม่มีการปิดโรงแรม จะใช้วิธีแบ่งโซนปรับปรุงเป็นส่วนๆ

 

เพิ่มน้ำหนักลูกค้า “จองตรง” แต่ไม่ทิ้ง “กรุ๊ปทัวร์”

ด้านกลุ่มลูกค้าของโรงแรมแห่งนี้ ชิดชนกอธิบายว่าแต่เดิมลูกค้า 30% เป็นกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ท่องเที่ยว 20% เป็นกรุ๊ปสัมมนา ประชุม ธุรกิจ (Corporate) 10% เป็นกลุ่มลูกเรือสายการบิน และมี 40% ที่เป็นลูกค้า “จองตรง” ผ่านเว็บไซต์โรงแรมหรือ OTA (Online Travel Agency)

ชิดชนกวางเป้าหมายว่า หลังรีแบรนด์เสร็จเรียบร้อยต้องการจะพลิกให้ลูกค้า 55% เป็นกลุ่มจองตรงด้วยตนเอง 10% กลุ่มลูกเรือสายการบินจะยังคงไว้ ส่วนที่เหลือ 35% เป็นลูกค้ากรุ๊ปทัวร์และกรุ๊ปสัมมนา แต่ถ้าเป็นไปได้ต้องการให้กรุ๊ปสัมมนามีมากกว่า เพราะปกติกรุ๊ปสัมมนาจะมีการใช้จ่ายอื่นๆ ครบวงจรกับโรงแรมด้วย เช่น ห้องประชุม จัดเลี้ยงอาหาร ซึ่งทำให้โรงแรมได้ยอดใช้จ่ายที่ดีกว่ากรุ๊ปท่องเที่ยว

อวานี รัชดา
ห้องประชุมสัมมนา

“กรุ๊ปทัวร์ยังสำคัญและต้องมี เพราะโรงแรมเราใหญ่ถึง 402 ห้อง ยังต้องรับคณะทัวร์ และต้องดึงลูกค้าสายการบินไว้ให้ได้” ชิดชนกกล่าว “แต่ที่ต้องเพิ่มลูกค้าจองตรงเพราะทำรายได้ค่าห้องได้ดีกว่า และเป็นเทรนด์คนยุคใหม่จะหันมาเที่ยวเองมากขึ้น ถ้าเราไม่ทำตลาดไว้ก่อนก็จะไม่ได้ลูกค้าส่วนนี้”

 

กระจายสัญชาติลูกค้า ขอดึง “ยุโรป” เข้าพักเพิ่ม

นอกจากช่องทางการจองแล้ว โรงแรมยังต้องการจะดึงสัญชาติลูกค้าให้หลากหลาย เนื่องจากปัจจุบันลูกค้า 15% เป็นคนไทย 85% เป็นต่างชาติ ซึ่งชาติหลักที่มาเกิน 60% ของลูกค้าทั้งหมดคือคนจีน ฮ่องกง และไต้หวัน

บรรยากาศสระว่ายน้ำ

หลังจากนี้เชื่อว่าแบรนด์ “อวานี” จะเป็นจุดดึงดูดทำให้ลูกค้ากลุ่ม “ยุโรป” เข้ามามากขึ้น เพราะแบรนด์เป็นที่รู้จักและเครือข่ายไมเนอร์มีสมาชิกจากทั่วโลก จากเดิมกลุ่มยุโรปมีเพียง 10% น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ได้

รวมถึงอีกกลุ่มลูกค้าที่เล็งตลาดไว้คือการเจาะเข้าไปในกลุ่ม “ตะวันออกกลาง” ซึ่งจะเป็นการทำตลาดใหม่ในโซนรัชดาฯ ดึงลูกค้าออกจากโซนสุขุมวิท-นานา

ชิดชนกกล่าวสรุปว่า เป้าระยะสั้นในช่วงไฮซีซัน 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ อวานี รัชดา กรุงเทพฯ จะเพิ่มอัตราเข้าพักเป็น 85% ขึ้นไป ส่วนเป้าระยะยาวหลังรีแบรนด์เสร็จแล้ว 3 ปี หวังเพิ่มรายได้รวมของโรงแรมขึ้น 25-30% จากการเพิ่มอัตราราคาเฉลี่ยรายวัน (ADR) และการเพิ่มรายได้จากบริการจัดเลี้ยง-ห้องประชุมดังกล่าว

“ตอนนี้ที่อยากให้เกิดขึ้นคือ ทำให้คนจดจำได้ว่าโรงแรมตรงนี้ แยกนี้ เปลี่ยนเป็น อวานี รัชดา กรุงเทพฯแล้ว” ชิดชนกกล่าว