3 ปี 200 ล้าน…เจ็บ

“3 ปีขาดทุนไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท” นี่คืออาการของ OPPO แบรนด์มือถือจากจีน ที่กระหน่ำแคมเปญทีวีซีด้วยพรีเซ็นเตอร์อินเตอร์ แม้ผลวันนี้คือคนจำนวนมากยังไม่คิดจะใช้ และยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก แต่ดูเหมือน OPPO จะเจ็บแต่ยังไม่ยอมจบ

การไม่จบนี้มาพร้อมกับกลยุทธ์อัพเกรดโปรดักต์โดยเข้าสู่ตลาดสมาร์ทโฟนเต็มตัว ส่วนฟีเจอร์โฟนที่เคยขายมาโดยตลอดนั้น “ซู ยี่ แดน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอ พี ดี โอ ไทย จำกัด (OPPO) บอกว่าหมดสต๊อกเมื่อไหร่ก็เลิกโปรโมตทันที

การยอมขาดทุนนั้น เป็นสิ่งที่ “ซู” รู้ดีว่าต้องเกิดขึ้น เพราะเขาให้เวลาในการสร้างแบรนด์ OPPO ในไทยอย่างน้อย 3-5 ปี โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2009 ที่มาด้วยกลยุทธ์ทำให้ OPPO มีกลิ่นอายของเกาหลี เพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่นเป็นหลัก ด้วยมือถือในกลุ่มฟีเจอร์โฟน ในช่วงปี 2010-2011 จึงเน้นพรีเซ็นเตอร์กลุ่มศิลปินดังเกาหลี 2 PM ที่มี “นิชคุณ” เป็นแม่เหล็กสำคัญ 

กว่า 200 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีแรก ส่วนใหญ่หมดไปกับค่าซื้อเวลาออกอากาศทางทีวี ที่ “ซู” บอกว่าแม้แต่บริษัท OPPO ที่จีนก็ยังห่วงว่าทำมากเกินไปหรือเปล่า แต่ก็ต้องลุยต่อ เพราะเชื่อว่าแบรนด์ไม่ได้สร้างได้ในช่วงเวลาสั้น ส่วนความเป็นจีนหรือเกาหลีนั้น “ซู” บอกว่า “เราไม่ได้โกหก หรือปกปิดว่าเราเป็นแบรนด์ของจีน เพียงแต่ช่วงแรกไม่ได้บอกเท่านั้น”

เมื่อ OPPO บุกตลาดสมาร์ทโฟนที่จับกลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่มากขึ้น จึงเปลี่ยนพรีเซ็นเตอร์มาเป็น “ลีโอนาโด ดิคาปริโอ” (อ่านเพิ่มเติมข่าว : “OPPO ใช้ลีโอนาโด ช่วยขายสมาร์ทโฟน“) ที่เป็นแคมเปญในไทยและจีน เพื่อให้แบรนด์ดูอินเตอร์มากขึ้น และถึงเวลา OPPO ขอเปิดเต็มตัว พาสื่อไทยบินไปเยี่ยมชมโรงงาน OPPO ในจีนเมื่อต้นปี 2012 ก่อนเปิดจำหน่ายสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธง Finder X9017 ราคา 14,990 บาท ในกลางปี 2012

 

สมาร์ทโฟนตระกูล Finder จับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ซึ่ง “ซู” บอกว่าจุดแข็งสำคัญคือคุณสมบัติที่ได้เทียบเท่ากับแบรนด์ใหญ่ แต่ราคาถูกกว่า 30% โดยมีคู่แข่งโดยตรงคือแบรนด์ “โซนี่”

สำหรับตลาดแล้ว OPPO คือทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค แต่สำหรับ “ซู” แล้ว คืออนาคตใหม่ของเขาในการทำธุรกิจในประเทศไทยเลยทีเดียว

 

“ซู ยี่ แดน” จากโรงเหล็กสู่ธุรกิจมือถือ

“ผมเป็นคนมีความรู้น้อย” “ซู ยี่ แดน” วัย 40 ปี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอ พี พี โอ ไทย จำกัด หรือ OPPO แบรนด์มือถือจากจีน เปิดคำสนทนากับ POSITIONING ด้วยการชี้แจงว่าทำไมที่ผ่านมาเขาถึงไม่ยอมให้สัมภาษณ์ ไม่เปิดตัวพูดคุยกับสื่อเท่าไหร่นัก

บ้านเกิดของ “ซู” อยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน พ่อแม่เขาส่งมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่อายุ 17 ปี เริ่มต้นชีวิตในเมืองไทยด้วยการเป็นลูกจ้างโรงเหล็กเส้น เพียงประมาณ 2 ปี เขาก็ทำธุรกิจเหล็กเส้นด้วยตัวเอง แต่เพราะปัญหาการตัดราคาทำให้ธุรกิจไม่ราบรื่นนัก

เมื่อเขาได้อ่านหนังสือของพานาโซนิค ที่เขาสรุปความให้ฟังว่า “หากมียี่ห้อของตัวเอง แม้คู่แข่งตัดราคา เราก็สามารถกำหนดราคาของเราเองได้”

ทำให้ในปี 1997 เขาเลือกที่จะทำธุรกิจใหม่คือธุรกิจเครื่องเสียง และสร้างแบรนด์ SOKEN อันเป็นจุดเริ่มต้นคอนเนกชั่นกับ OPPO ผู้ผลิตเครื่องเสียงยักษ์ใหญ่ในจีนอยู่แล้ว

ธุรกิจที่มีขาขึ้นย่อมมีขาลง เช่นเดียวกับธุรกิจเครื่องเสียง ที่แม้แต่แบรนด์เครื่องเสียงของญี่ปุ่นเองก็เริ่มถดถอย ทำให้ปี 2009 “ซู” เลือกเสี่ยงครั้งใหม่กับธุรกิจโทรศัพท์มือถือ โดยนำแบรนด์ OPPO ของจีนมาทำตลาด ด้วยความเชื่อว่านี่คือสินค้าสำหรับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน และสมาร์ทโฟนคืออนาคต เป็นธุรกิจสดใสสำหรับการเติบโตของธุรกิจมือถือรอบใหม่อย่างแน่นอน