ยุคนี้ขอเหมือน "ซัมซุง"

“หน้าตาเหมือน และราคาถูกกว่า” สูตรสำเร็จที่ใช้มาโดยตลอดสำหรับโทรศัพท์มือถือเฮาส์แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไทยหรือแบรนด์จีน โดยเฉพาะเบอร์ 1 แบรนด์ไทยอย่าง “ไอ-โมบาย” ที่เวลานี้มาถึงยุคต้องเหมือน “ซัมซุง” ในที่สุด

ยุคแรกๆ เหมือนแบรนด์จากยุโรป อเมริกา อย่างโนเกีย โมโตโรล่า ต่อมาก็คล้ายๆ กับไอโฟน แบล็คเบอร์รี่ แต่ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องเหมือนซัมซุง ไม่ว่าจะรุ่นไฮเอนด์ หรือโลว์เอนด์ นี่คือปรากฏการณ์ที่ “ธนานันท์ วิไลลักษณ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า “เวลานี้ก็ต้องยอมรับว่าแบรนด์นี้มาแรง”

และแน่นอนการเปิดตัวสมาร์ทโฟนล่าสุดตระกูลไอ-สไตล์ ของไอ-โมบาย ที่ “ธนานันท์” ทดสอบเครื่องเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนก่อนวางจำหน่ายในช่วงเดือนกรกฎาคม ก็มีหน้าตาคล้ายซัมซุง กาแล็คซี่ ในตระกูล S อยู่ด้วย แม้ซัมซุงจะยังไม่สามารถทำให้กลุ่มไฮเอนด์ หรือเทรนด์เซตเตอร์รู้สึกได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่สามารถแสดงสถานะ หรือบ่งบอกรสนิยมได้เหมือนไอโฟน แต่สำหรับกลุ่มแมสแล้วได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

ความแรงของซัมซุงทำให้ไอ-โมบายซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายแมสเป็นหลักไม่ลังเลที่จะก๊อบปี้และแม้ไอ-โมบายได้ทุ่มงบทำแคมเปญ เพื่อสร้างแบรนด์ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทต่อปี แต่เมื่อมาถึงสมาร์ทโฟนในรุ่นไฮเอนด์ก็ยังไม่สามารถพิมพ์ชื่อโลโก้แบรนด์ตัวเองบนขอบจอหน้าเครื่องสมาร์ทโฟนของตัวเองได้

สำหรับไอ-โมบายแล้ว จึงเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นสร้างแบรนด์ในกลุ่มสมาร์ทโฟนด้วยตระกูลไอ-สไตล์ และเริ่มทำตลาดแท็บเล็ต ไอ-โน้ต ที่ “ธนานันท์” บอกว่ายังเป็นกลุ่มที่ทำยอดขายในแง่จำนวนเครื่องให้ไอ-โมบายไม่ถึง 10% ของยอดขายทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่ยังเป็นฟีเจอร์โฟนและโทรศัพท์มือถือธรรมดา ที่แน่นอนกลุ่มนี้แบรนด์ไอ-โมบายแข็งแรง

ในยุคที่ธุรกิจขายเครื่องโทรศัพท์มือถือกำลังเทกออฟอีกรอบ จากความต้องการสมาร์ทโฟนของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นยุคที่ว่าแบรนด์ไหนอยากอยู่รอดก็ต้องยอมไม่ว่า จะก๊อบปี้ หรือถอยสักก้าวเพื่อไม่ให้เจ็บตัว เหมือนอย่างที่ไอ-โมบายกำลังเป็นอยู่ในขณะนี้

cellpadding=”2″ cellspacing=”2″>

กลยุทธ์ i-mobile
i-style Launched 28 มิถุนายน 2555 ในงานไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล
โมบายโชว์ 2012 ไบเทคบางนา มีสื่อสายไอทีประมาณ 10 คน มีเซเลบริตี้ที่เป็น
Net Idol “วรพรรณ รัตนบรรณ-กิจ” ใจดีทีวี และ “วี ฮิโรกะ” ดีไซเนอร์
และนักวาดภาพ Positioning สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์สำหรับกลุ่มเป้าหมายระดับกลางถึงล่าง Market

Analysis การเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนมากกว่า 20%
โดยเฉพาะกลุ่มระดับกลางถึงล่างที่มองหาราคาไม่แพง โดยมีตลาดใหญ่ที่ระดับ
4,000 บาท จึงเป็นโอกาสของเฮาส์แบรนด์
ที่เน้นจุดขายที่ราคาถูกกว่าอินเตอร์แบรนด์ Marketing Strategy การจับเทรนด์ว่าแบรนด์ไหนกำลังแรง
หน้าตาเครื่องแบบไหนที่ได้รับความนิยม
เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้เฮาส์แบรนด์ทำยอดขายได้มาโดยตลอด
สมาร์ทโฟนของไอ-โมบายในยุคนี้จึงคล้ายกับซัมซุงเป็นส่วนใหญ่ Communication Strategy พรีเซ็นเตอร์ มาร์เก็ตติ้ง มี “หมาก ปริญ” พระเอกช่อง 3
ดึงความสนใจ ด้วยค่าตัว 5 ล้านบาท กับ 2 แคมเปญใหญ่
และมีการใช้โซเชี่ยลมีเดียโดยร่วมมือกับค่ายหนัง “จีทีเอช” ในแคมเปญ
ให้กลุ่มเป้าหมายส่งคลิปในแนวคิด หวาน เจ็บ ขำ
ที่จีทีเอชจะช่วยโปรโมตผ่านแฟนเพจ ช่องทีวีดาวเทียม และเว็บไซต์