เปิด 5 ทำเลที่ดินติดรถไฟฟ้า ดัชนีราคาขึ้นสูงสุด

แม้เศรษฐกิจจะรุ่งหรือร่วง แต่ “ที่ดิน” เป็นสินทรัพย์ที่ราคาเพิ่มขึ้นแทบทุกปี โดยเฉพาะปี 2568 ที่ได้อานิสงส์จากการขยายตัวของแนวรถไฟฟ้าและถนนทางหลวงออกสู่ชานเมือง

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) รายงานดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 มีค่าดัชนี 391.1 เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด 

ทั้งนี้ เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาซื้อที่ดินสำหรับการลงทุนก่อสร้างโครงการจัดสรรตามแนวรถไฟฟ้ามากขึ้น เห็นได้จากราคาที่ดินในหลายพื้นที่ขยับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าปี 2568 ราคาที่ดินเปล่าจะขยายตัวต่อเนื่อง

5 อันดับแรก ที่ดินแนวรถไฟฟ้าที่มีการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาฯ เมื่อเทียบปีต่อปี (YoY) ได้แก่

1.รถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑล สาย 4) มีค่าดัชนีเท่ากับ 458.8 เพิ่มขึ้น 7.0% โดยราคาที่ดินที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในเขตบางแค และหนองแขม

2.รถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) มีค่าดัชนีเท่ากับ 534.5, รถไฟฟ้าสายสีทอง (ธนบุรี-ประชาธิปก) มีค่าดัชนีเท่ากับ 526.8 และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) มีค่าดัชนีเท่ากับ 518.7

โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินเท่ากันที่ 6.4% ราคาที่ดินที่ปรับเพิ่มขึ้นมากส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาษีเจริญ, บางกอกใหญ่ และบางกะปิ

3.รถไฟฟ้า สายสีลม มีค่าดัชนีเท่ากับ 503.6, รถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ) มีค่าดัชนีเท่ากับ 495.9 และรถไฟฟ้า สายสีแดงเข้ม (หัวลำโพง-มหาชัย) มีค่าดัชนีเท่ากับ 501.4

โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นของราคาที่ดิน 6.3% เท่ากันทั้ง 3 สาย ราคาที่ดินที่ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในเขตภาษีเจริญ, สาทร และบางกอกใหญ่

4.รถไฟฟ้าใต้ดิน ตลอดเส้นทาง มีค่าดัชนีเท่ากับ 552.4 และรถไฟฟ้า สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง)  มีค่าดัชนีเท่ากับ 543.8

โดยมีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 6.2% เท่ากันทั้ง 2 สาย โดยเฉพาะในเขตสาทร, คลองเตย และดินแดง

5.รถไฟฟ้า สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) มีค่าดัชนีเท่ากับ 508.2 และรถไฟฟ้า สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต) มีค่าดัชนีเท่ากับ 500.3

มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยราคาที่ดินที่ปรับเพิ่มขึ้นมากอยู่ในเขตสามโคก, ธัญบุรี และบางเขน

“แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินในพื้นที่แนวเส้นทางรถไฟฟ้า ที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา มักอยู่ในพื้นที่ที่มีการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าหลายสาย (Interchange) และบริเวณที่เป็นสถานีสำคัญ”