หากกล่าวถึง สุกี้ราคาเข้าถึงง่าย ชื่อของ “สุกี้ตี๋น้อย” คงติดอันดับแรก ๆ ที่ผู้คนนึกถึง แต่ตอนนี้บัลลังก์สุกี้ตลาดแมสคงสั่นสะเทือนมิใช่น้อย เมื่อ “ลัคกี้สุกี้” แบรนด์น้องใหม่ อายุ 3 ปี เข้ามาชิงตลาด
ลัคกี้สุกี้ น้องใหม่ที่โตเร็วพอ ๆ กับ สุกี้ตี๋น้อย
สิ่งที่น่าสนใจ คือ ลัคกี้สุกี้ เริ่มต้นธุรกิจเพียง 3 ปี แต่ทำรายได้ทะลุ 1,000 ล้านบาท มีการเติบโตทั้งรายได้และกำไรค่อนข้างเร็วพอ ๆ กับสุกี้ตี๋น้อย
ผลประกอบการลัคกี้สุกี้ (นับตั้งแต่เริ่มมีการรายงานรายได้-กำไร)
- ปี 2565 รายได้ 79 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2.6 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 409 ล้านบาท เติบโต 413% กำไรสุทธิ 46 ล้านบาท เติบโต 1,635%
- ปี 2567 รายได้ 1,000 ล้านบาท เติบโต 148% กำไรสุทธิ N/A

ผลประกอบการสุกี้ตี๋น้อย (นับตั้งแต่เริ่มมีการรายงานรายได้-กำไร)
- ปี 2562 รายได้ 499 ล้านบาท กำไรสุทธิ 15 ล้านบาท
- ปี 2563 รายได้ 1,223 ล้านบาท เติบโต 144% กำไรสุทธิ 140 ล้านบาท เติบโต 808%
- ปี 2564 รายได้ 1,572 ล้านบาท เติบโต 28% กำไรสุทธิ 147 ล้านบาท เติบโต 5.49%
- ปี 2565 รายได้ 3,976 ล้านบาท เติบโต 152% กำไรสุทธิ 591 ล้านบาท เติบโต 299%
- ปี 2566 รายได้ 5,262 ล้านบาท เติบโต 32% กำไรสุทธิ 907 ล้านบาท เติบโต 53%
และ ช่วง 9 เดือนแรก ปี 2567 สามารถทำกำไรได้ราว ๆ 890 ล้านบาท (อ้างอิงส่วนแบ่งกำไรของ JMART ที่ถือหุ้น 30% ใน บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของ สุกี้ตี๋น้อย)
“หากคิดอัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ของทั้ง 2 แบรนด์ ลัคกี้สุกี้อยู่ที่ 280.5% ต่อปี ส่วนของตี๋น้อยอยู่ที่ 89% ต่อปี นั่นแปลว่าการเติบโตของลัคกี้สุกี้สูงเทียบเคียงกับเจ้าตลาดอย่างสุกี้ตี๋น้อยได้เลย”
**การคำนวณใช้สูตร AAGR โดยของลัคกี้สุกี้ไม่นับปี 2565 ส่วนของสุกี้ตี๋น้อย ไม่นับปี 2562 ซึ่งเป็นปีฐาน เนื่องจาก ไม่มีข้อมูลตัวเลขการเติบโตเปรียบเทียบ
เส้นทางเติบโต “ความเหมือนในความต่าง”
สำหรับ ลัคกี้สุกี้ และ สุกี้ตี๋น้อย มีจุดร่วมคล้ายกันหลายประการ ตั้งแต่การนำทัพด้วยผู้บริหารหญิงคนรุ่นใหม่ คือ
- คุณแอน รสรินทร์ ติยะวราพรรณ (ลัคกี้สุกี้) มีประสบการณ์การทำร้านกาแฟเจ้าดัง “Rolling Roasters”
- คุณเฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจ (สุกี้ตี๋น้อย) สั่งสมประสบการณ์การทำธุรกิจสวนอาหาร “เรือนปั้นหยา” จากครอบครัว

ขณะที่เส้นทางการสร้างแบรนด์ก็วาง Positioning ของลัคกี้สุกี้ และสุกี้ตี๋น้อย มีทั้งความเหมือนและความต่าง อาทิ
1.รูปแบบบุฟเฟ่ต์ ที่วางกลยุทธ์ด้านราคาคุ้มค่า
ทั้ง 2 แบรนด์ ตั้งราคาเท่ากัน เริ่มต้น 219 บาท/คน (ไม่รวมรีฟิลน้ำ และ VAT 7%) ด้วย “ราคาเข้าถึงง่าย” แต่มีเมนูหลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคเปิดใจทดลองทานได้ง่าย จนทำให้มีลูกค้าต่อคิวยาวเหยียด และประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้นไม่นาน
2.เวลาเปิดยาวยันดึก
เวลาเปิด-ปิด เป็นหนึ่งปัจจัยสร้างความได้เปรียบของ 2 แบรนด์นี้ จากเดิมสุกี้ในตำนานร้านดัง ๆ มักเปิดในศูนย์การค้ามีเวลาเข้าใช้บริการอย่างจำกัด ตั้งแต่ 10.00-22.00 น.

แต่สุกี้ตี๋น้อย เป็นเจ้าแรก ๆ ที่ทำร้านรูปแบบกินโต้รุ่ง เปิดเวลา 11.00-05.00 น. ด้วยข้อได้เปรียบจากการเป็นสาขา Stand Alone
ส่วน ลัคกี้สุกี้ ก็เปิดประมาณ 10.30 – 02.00 น. แม้จะเปิดสาขาตามโมเดิร์นเทรดและคอมมูนิตี้มอลล์ แต่ก็เลือกสถานที่ที่ยืดหยุ่นด้านเวลาที่สามารถเปิดยันดึกได้ จึงเป็นจุดแข็งของแบรนด์ฯ
สิ่งที่อาจบอกได้ว่า 2 แบรนด์นี้แตกต่างกัน คือ โมเดลร้านค้า ที่ “สุกี้ตี๋น้อย” เน้นพื้นที่ Stand Alone มีที่จอดรถจำนวนมาก ใกล้แหล่งชุมชนหรือสถานศึกษา ส่วน “ลัคกี้สุกี้” มองตัวเองเป็นแบรนด์น้องใหม่ การเริ่มต้นเปิดไปกับห้าง/คอมมูนิตี้มอลล์ อาจจะเหมาะกว่า เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นแบรนด์มากขึ้น และค่อย ๆ สร้างการรับรู้แบรนด์ในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม ปี 2568 ลัคกี้สุกี้ วางงบประมาณ 300 ล้านบาท ขยายสาขาเพิ่มทั้งลัคกี้สุกี้และลัคกี้บาร์บีคิว จำนวน 16-20 สาขา ตั้งเป้ารายได้ 2,000 ล้านบาท เติบโต 100% (YoY)
น่าสนใจว่า การเข้ามาท้าชิงของแบรนด์หน้าใหม่อย่าง “ลัคกี้สุกี้” ครั้งนี้ คงสร้างความร้อนแรงให้กับตลาดสุกี้ในไทย ที่มีมูลค่า 23,000-25,000 ล้านบาท ด้วยกำลังซื้อที่มีจำกัด และการแข่งขันของตลาดสุกี้ที่เป็นเรดโอเชี่ยนในขณะนี้…