มาร์คัส เบอร์เทนชอว์ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาด้านพื้นที่โลจิสติกส์และอุตสาหกรรม บริษัท ไนท์ แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันคลังสินค้าสำเร็จรูปในไทย ณ ครึ่งปีหลัง 2567 มีจำนวน 6.42 ล้านตร.ม. โดยเป็น ซัพพลายใหม่ 120,937 ตร.ม. เพิ่มขึ้น 11.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY)
การกระจายตัวของซัพพลายคลังสินค้า แบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่
- กทม. และปริมณฑล (สัดส่วน 44.9%) จำนวน 2.88 ล้านตร.ม. เพิ่มขึ้น 12.4% (YoY) ส่วนใหญ่ซัพพลายใหม่อยู่ตรงถนนบางนา-ตราด และทางหลวงหมายเลข 9 สมุทรปราการ
- EEC (สัดส่วน 38.6%) จำนวน 2.47 ล้านตร.ม. เติบโต 13% (YoY) หลัก ๆ กระจุกตัวในชลบุรี 26% รองลงมาฉะเชิงเทรา 9% และระยอง 3%
- ภาคกลาง (สัดส่วน 16.1%) จำนวน 1.04 ล้านตร.ม. เติบโต 5.7% (YoY)
โดยปี 2568 จะมีซัพพลายในอนาคตเพิ่มประมาณ 150,686 ตารางเมตร แบ่งเป็น
- ครึ่งปีแรก 36,908 ตารางเมตร
- ครึ่งปีหลัง 113,778 ตารางเมตร
โดยประมาณ 72% ของอุปทานที่อยู่ในแผนพัฒนาอยู่ในพื้นที่ EEC ขณะที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีสัดส่วนที่ 28%
เนื่องจาก การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
ตลอดจนความต้องการคลังสินค้าประเภท built-to-suit และคลังสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจะเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ผู้เช่ามีแนวโน้มเลือกพื้นที่ที่รองรับระบบอัตโนมัติ ความมีประสิทธิภาพ และความยั่งยืน
นอกจากนี้ คลังสินค้าห้องเย็นยังคงได้รับอุปสงค์อย่างต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารและเภสัชกรรมที่ขยายความต้องการด้านการจัดเก็บสินค้า
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 มีพื้นที่ถูกเช่า 5.56 ล้านตร.ม. คิดเป็นอัตราเช่าเฉลี่ย 86.5% เพิ่มขึ้น 1.9 จุดเปอร์เซ็นต์ หากจำแนกรายพื้นที่ พบว่า
- กทม.และปริมณฑล มีอัตราเช่าสูงสุดที่ 91.1% เพิ่มขึ้น 1.3 จุดเปอร์เซ็นต์ (YoY) ได้รับอานิสงส์จากกลุ่มอีคอมเมิร์ซและสินค้ามูลค่าสูง แม้ว่าจะเติบโตช้ากว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
- EEC มีอัตราเช่า 82.3% เพิ่มขึ้น 5.0 จุดเปอร์เซ็นต์ (YoY) ได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรม EV และอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล
- ภาคกลาง มีอัตราเช่า 83.8% ลดลง 3.3 จุดเปอร์เซ็นต์ (YoY) สะท้อนถึงกิจกรรมการเช่าที่ชะลอตัวและอัตราว่างที่เพิ่มขึ้น
ส่วนอัตราค่าเช่าพื้นที่คลังสินค้าสำเร็จรูปเฉลี่ยในประเทศไทยยังคงทรงตัวตั้งแต่ปี 2562 – 2567 โดยอยู่ที่ 160.1 บาท/ตร.ม./เดือน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567
สะท้อนถึงเสถียรภาพของตลาด แม้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่จะรักษาอัตราค่าเช่าในระดับเดิม แต่บางทำเลที่มีความต้องการสูงเริ่มมีการปรับขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะในศูนย์กลางโลจิสติกส์หลัก
ค่าเช่าขั้นต่ำในทุกภูมิภาคยังคงอยู่ที่ 110-120 บาท/ตร.ม./เดือน ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มที่ผ่านมา
ค่าเช่าสูงสุดมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล สูงสุดที่ 230 บาท/ตร.ม./เดือน
- ภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) สูงสุดที่ 200 บาท/ตร.ม./เดือน
- ภาคกลาง สูงสุดที่ 180 บาท/ตร.ม./เดือน
- พื้นที่อื่น ๆ สูงสุดที่ 135 บาท/ตร.ม./เดือน
แนวโน้มค่าเช่าในแต่ละภูมิภาคแสดงให้เห็นว่า กรุงเทพฯ และภาคตะวันออกมีค่าเช่าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 162 และ 161 บาท/ตร.ม./เดือน ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง
ส่วนภาคกลางมีการปรับขึ้นเป็น 152 บาท/ตร.ม./เดือน บ่งชี้ถึงความต้องการที่เติบโตขึ้นในบางพื้นที่ ขณะที่พื้นที่ อื่น ๆ มีอัตราการปรับขึ้นมากที่สุดเป็น 124 บาท/ตร.ม./เดือน เนื่องจากความต้องการด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่รองเพิ่มขึ้น
โดยรวม ตลาดค่าเช่าคลังสินค้าสำเร็จรูปในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้รับแรงหนุนจากภาคโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ และอุตสาหกรรมการผลิต โดยคาดว่าในอนาคต ค่าเช่าจะยังคงทรงตัว โดยอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในพื้นที่ที่มีความต้องการสูง