หนึ่งในยุทธศาสตร์ของไทยในการดำเนินนโยบายจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ทวิภาคี คือ เพื่อเป็นประตูการค้า (Gateway) เข้าสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนั้น โดยไทยเลือกจัดทำ FTA กับเปรูเพื่อเป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศอื่นๆในภูมิภาคละตินอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นตลาดใหม่สำหรับไทย และหวังที่จะขยายความเชื่อมโยงให้ครอบคลุมทวีปอเมริกาทั้งทวีปที่มีประชากรรวมถึงกว่า 800 ล้านคน รวมทั้งสหภาพยุโรปที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับละตินอเมริกาด้วย หลังจากไทยและเปรู ได้เริ่มเจรจาจัดทำ FTA ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงขณะนี้เจรจามาแล้วรวม 5 ครั้ง คาดว่าจะเจรจาเสร็จภายในปี 2548 นับว่า FTA ไทย-เปรู เป็น FTA ฉบับแรกที่ประเทศในอเมริกาใต้จัดทำ FTA กับประเทศในเอเชีย
เมื่อกล่าวถึงเปรู คนไทยมักจะไม่ค่อยคุ้นเคยหรือรู้จักมากนัก และสงสัยว่า เหตุใดจึงเลือกจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับเปรู เพราะดูจะไม่เป็นที่น่าสนใจของนักธุรกิจในการเข้าลงทุนจัดตั้งธุรกิจ เพราะที่ตั้งของประเทศเปรูห่างไกลกับไทยมากและอาจประสบปัญหาด้านการสื่อสาร เพราะเปรูใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ อีกทั้งประเทศอื่นในภูมิภาคละติน อเมริกาดูจะน่าสนใจมากกว่า เช่น บราซิล หรือชิลี เพราะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าเปรู แต่หากพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ รอบด้าน ทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ สภาพเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของเปรูกับกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ แล้ว เปรูเป็นประเทศที่มีศักยภาพสำหรับไทยในการเป็นประตูไปสู่ภูมิภาคละตินอเมริกา อเมริกาเหนือ หรือเรียกได้ว่า ทวีปอเมริกาทั้งทวีป รวมทั้งสหภาพยุโรป
ศักยภาพเปรู
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินศักยภาพ/จุดเด่นของเปรูที่เป็นโอกาสสำหรับไทยที่จะได้รับประโยชน์จากการจัดทำ FTA กับเปรู 4 ประการ ดังนี้
ประการที่ 1. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเปรู
เปรูตั้งอยู่ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางของทวีปละตินอเมริกา เปรูมีขนาดพื้นที่ 1.28 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าไทย 2.5 เท่า มีประชากรเกือบ 30 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของไทย นับว่าเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
• ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เติบโตราว 4.1%-4.9% ในปี 2545-2546 เทียบกับก่อนหน้านี้ที่มีอัตราเติบโต 0.9% 3.1% และ 0.6% ในปี 2542 2543 และ 2544 ตามลำดับ และคาดว่า GDP ในปี 2548-2549 เศรษฐกิจเปรูจะขยายตัวต่อเนื่องในอัตราประมาณ 4-4.5%
• อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในละตินอเมริกา โดยอัตราเงินเฟ้อของเปรูอยู่ที่ 1.6% ในปี 2545 และ 2.3% ในปี 2546
• อัตราแลกเปลี่ยนเงิน Nuevo sol ของเปรูเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ค่อนข้างคงที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 3.45-3.50 Nuevo sol ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
• รายได้ประชาชาติต่อคนของเปรูเพิ่มขึ้น 11.37% จาก 2,014 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน/ปี ในปี 2542 เป็น 2,243 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน/ปี ในปี 2546 ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2547 รายได้ประชาชาติต่อคนของเปรูจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,414 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี เมื่อเทียบกับไทยแล้ว รายได้ประชาชาติต่อคนของเปรูมากกว่าไทยเล็กน้อย โดยรายได้ประชาชาติต่อคนของไทยอยู่ในระดับ 2,020 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ในปี 2546
• การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเปรูเพิ่มขึ้นถึง 660% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จาก 1,636 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2536 เป็น 12,441 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2546 และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2547 FDI ของเปรูมีมูลค่าเท่ากับ FDI ทั้งปี 2546 โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนหลัก ได้แก่ สเปน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ปานามา ชิลี อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
ทั้งนี้ จากตัวเลขเศรษฐกิจเหล่านี้ นับว่าเปรูเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มละตินอเมริกา
ประการที่ 2. ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์…เกื้อหนุนการผลิต & การส่งออก
เปรูมีแนวชายฝั่งทะเลยาวถึง 2,414 กิโลเมตร อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ทองแดง เงิน ทองคำ ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ ทรัพยากร สัตว์น้ำ เหล็ก ถ่านหิน ฟอสเฟต โปแตสเซียม และพลังงานน้ำ รวมถึงทรัพยากรด้านการ ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมพื้นเมืองที่มีค่าเป็นเสน่ห์ของเปรู เปรูเป็นแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าที่สำคัญๆ ดังนี้
– การมีแร่ธาตุที่สำคัญหลายชนิด ทำให้เปรูเป็นแหล่งการทำเหมืองซึ่งเป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งทำรายได้จากการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 46% ของรายได้การส่งออกทั้งหมดของเปรู
– ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลทำให้เปรูเป็นแหล่งประมงที่สำคัญและทำรายได้จากการส่งออกได้กว่า 20% ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดของเปรู ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญด้านการประมงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
– ความหลากหลายของของระบบนิเวศน์วิทยา ทำให้เปรูสามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากเพียงพอสำหรับใช้เพาะปลูกพืชผล เลี้ยงสัตว์ และผลิตผลิตผลด้านป่าไม้ โดยสินค้าพืชผลเป็นสินค้าส่งออกที่มีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ เช่น หน่อไม้ฝรั่ง กาแฟ มะม่วง และองุ่น เป็นต้น
ประการที่ 3. ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศต่างๆ – เปรูเป็นสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาค และมีความร่วมมือระดับทวิภาคีกับหลายประเทศ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ/การค้าระหว่างกัน ดังนี้
3.1 กลุ่มแอนเดียน (ANDEAN Community) จัดตั้งขึ้นในปี 2512 ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ เปรู เวเนซูเอลา เอกวาดอร์ โคลัมเบีย และโบลีเวีย เป็นตลาดที่มีประชากรรวม 113 ล้านคน โดยมีเป้าหมายที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) ของกลุ่มแอนเดียนทั้งด้านการค้าสินค้าและบริการ สำหรับการค้าบริการมีจุดมุ่งหมายที่จะเปิดเสรีภายในปี 2548 ถือเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพและมีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคละตินอเมริกา
นอกจากนี้ กลุ่มแอนเดียนได้ขยายความร่วมมือกับประเทศนอกกลุ่มโดยตกลงที่จะเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับกลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง หรือกลุ่มเมอร์โคซูร์ (MERCOSUR) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจอีกกลุ่มหนึ่งในภูมิภาคละตินอเมริกา ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย และอาร์เจนตินา นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการก่อตั้งเขตการค้าเสรีอเมริกาใต้ (South America Free Trade Area)
ประเทศคู่ค้าของกลุ่มแอนเดียนที่สำคัญที่สุด ได้แก่ NAFTA คิดเป็นสัดส่วน 43% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของกลุ่มแอนเดียน ในจำนวนนั้นเป็นการค้ากับสหรัฐฯ คิดเป็น สัดส่วน 38.6% ของการค้าทั้งหมดของกลุ่มแอนเดียน รองลงมา ได้แก่ กลุ่มประเทศละติน อเมริกา (24%) และกลุ่มสหภาพยุโรป (14%) สำหรับสัดส่วนการค้าของกลุ่มแอนเดียนกับภูมิภาคอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.6% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของกลุ่มแอนเดียน นับว่าการค้าระหว่างกลุ่มแอนเดียนกับกลุ่มอาเซียนยังมีมูลค่าน้อยมาก
3.2 สมาคมการรวมกลุ่มของละตินอเมริกา (Latin America Integration Association : LAIA) เปรูได้จัดทำความตกลงหลายฉบับภายใต้กรอบความร่วมมือ LAIA ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2523 ประกอบด้วยสมาชิก 11 ประเทศ คือ 5 ประเทศจากกลุ่มแอนเดียน ผนวกกับชิลี เม็กซิโก อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย ทั้งนี้ ภายใต้ความตกลงของ LAIA ประเทศสมาชิกสามารถจัดทำความตกลงในลักษณะทวิภาคีระหว่างกันได้ (Partial Scope Agreement) โดยเปรูได้จัดทำความตกลงทวิภาคีกับอาร์เจนตินา บราซิล ชิลี คิวบา เม็กซิโก ปารากวัย และอุรุกวัย
3.3 เขตการค้าเสรีแห่งทวีปอเมริกา (Free Trade Area of the Americas : FTAA) กลุ่มแอนเดียนร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ในทวีปอเมริกาอยู่ระหว่างเจรจาจัดตั้ง FTAA ซึ่งครอบคลุม 34 ประเทศ จากทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ รวมทั้งประเทศในแถบทะเลแคริบเบียน โดยตั้งเป้าหมายที่จะก่อตั้งเขตการค้าเสรีขึ้นในปี 2548 ซึ่ง เปรูเป็นประเทศหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเจรจาจัดตั้ง FTAA
3.4 กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) เปรูได้เข้าเป็นสมาชิกของ APEC ในเดือนพฤศจิกายน 2541 ทำให้เปรูมีโอกาสเข้าสู่ตลาดประเทศเอเปคมากขึ้น รวมถึงดึงดูดนักลงทุนต่างชาติจากประเทศเอเชียและแปซิฟิก และในเวทีเอเปคนี่เองที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำของไทยได้หารือกับประธานาธิบดีโทเลโดของเปรู ในช่วงการประชุมเอเปคปี 2546 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ณ กรุงเทพฯ และตกลงที่จะเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างกัน
ประการที่ 4. สิทธิพิเศษทางการค้าจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
เปรูและกลุ่มแอนเดียนได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย โปแลนด์ เนื่องจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของกลุ่มแอนเดียน ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปจึงเห็นความสำคัญของภูมิภาคละตินอเมริกา และตั้งเป้าหมายในการกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มแอนเดียนและภูมิภาคละตินอเมริกาให้มากยิ่งขึ้น
– กลุ่มแอนเดียนได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ รวมทั้งสิทธิพิเศษภายใต้กฎหมาย Andean Trade Promotion and Drug Eradication Act (ATPDEA) ที่เริ่มใช้ในเดือนตุลาคม 2545 หลังจากที่กฎหมาย Andean Trade Preferential Act (ATPA) หมดอายุในปี 2544 โดยกฎหมาย ATPDEA นี้ได้ขยายสิทธิพิเศษเดิมที่ให้กับสินค้าเกษตรเป็นหลักกับกลุ่มแอนเดียน ให้ครอบคลุมสินค้าทูน่า เสื้อผ้าที่ทำจากวัตถุดิบฝ้ายภายในประเทศ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขนสัตว์ ที่เป็นสินค้าส่งออกจากเปรู โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และโบลีเวีย โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ
– กลุ่มแอนเดียนยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากสหภาพยุโรป และได้มีการจัดทำความตกลงความร่วมมือทางภูมิภาคกับสหภาพยุโรป ซึ่งกลุ่มแอนเดียนเป็นกลุ่มแรกในภูมิภาคละตินอเมริกาที่สหภาพยุโรปได้ จัดทำความตกลงด้วย โดยเน้นประเด็นด้านการพาณิชย์ และขยายไปเรื่องการพัฒนา และล่าสุดในปี 2547 สหภาพยุโรปตั้งเป้าหมายที่จะเจรจาจัดทำ FTA กับกลุ่มแอนเดียนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น นอกจากกลุ่มแอนเดียนแล้ว สหภาพยุโรปยังจัดทำความร่วมมือกับกลุ่มเมอร์โคซูร์ด้วย โดยตั้งเป้าหมายในการจัดทำเขตการค้าเสรีด้านสินค้าและบริการระหว่าง 2 ภูมิภาค
นอกจากนี้ สหรัฐฯ เป็นผู้จ้างผลิตที่สำคัญของภูมิภาคละติน อเมริกา เนื่องจากค่าแรงงานในละตินอเมริกาถูก ในปี 2546 สหรัฐฯ ได้โยกฐานการผลิต (Outsourcing) เข้าไปยังภูมิภาคละตินอเมริกา คิดเป็นมูลค่าถึง 22,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2546 คิดเป็นอันดับที่ 2 รองจากยุโรปที่บริษัทสหรัฐฯ โยกฐานการผลิตเข้าไปมากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่า 42,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอันดับที่ 3 ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คิดเป็นมูลค่า 11,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
FTA ไทย-เปรู : ไทยได้-เสียอะไร
การที่กลุ่มแอนเดียนซึ่งเปรูเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ได้จัดทำเขตการค้าเสรีกับกลุ่ม NAFTA กลุ่มเมอร์โคซูร์ กลุ่มอเมริกากลาง และประเทศในแถบทะเลแคริบเบียน เพื่อรวมเป็นเขตการค้าเสรีแห่งทวีปอเมริกา (FTAA) นับเป็นเขตการค้าเสรีที่มีประชากรรวมกันมากกว่า 800 ล้านคน โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ข้อสรุปการเจรจาภายในเดือนมกราคม 2548 และให้ FTAA มีผลบังคับใช้ก่อนสิ้นปี 2548 รวมทั้งการที่กลุ่มแอนเดียนจัดทำเขตการค้าเสรีกับกลุ่มสหภาพยุโรป ทำให้เศรษฐกิจของกลุ่มแอนเดียนเชื่อมโยงกับภูมิภาคต่างๆ และได้ประโยชน์จากการขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกทางการค้าในการเข้าสู่ตลาดการค้าสินค้าและลด/ขจัดอุปรรคการเข้าสู่ตลาดการค้าบริการ ดังนั้น หากไทยจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับเปรู ไทยจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จาก FTA และอาศัยเปรูเป็นช่องทางการค้าเพื่อเข้าสู่ประเทศอื่นๆ ที่เปรูมีความเชื่อมโยงในลักษณะการจัดทำ FTA กับภูมิภาคเหล่านั้น
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า ไทยมีโอกาสทางการค้าโดยการส่งออกไปยังเปรู เพื่อเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคละตินอเมริกา รวมทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงการเข้าไปลงทุนจัดตั้งธุรกิจ ดังนี้
1. ส่งเสริมส่งออก – สินค้าส่งออกของไทยยังมีโอกาสขยายตลาดเปรู รวมทั้งประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาอีกมาก เพราะขณะนี้การค้าของไทยกับเปรู กลุ่มแอนเดียน และภูมิภาคละตินอเมริกายังมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด โดยการค้าไทย-เปรูมีสัดส่วนเพียง 0.04% ของการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 51.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2547 เพิ่มขึ้น 21.75% จากช่วงเดียวกันของปี 2546 โดยไทยขาดดุลการค้ากับเปรู มูลค่า 6.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการค้าของไทยกับกลุ่มแอนเดียนและกลุ่มเมอร์โคซูร์มีสัดส่วนน้อยเช่นกัน คิดเป็นสัดส่วน 0.1% และ 1% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การค้าของไทยกับเปรูและ ภูมิภาคละตินอเมริกามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการจัดทำเขตการค้าเสรีกับเปรูเป็นช่องทางกระจายสินค้าไปยังตลาดต่างๆ ในอเมริกาใต้ ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 330 ล้านคน รวมทั้งหากการจัดตั้ง FTAA ประสบผลสำเร็จ ไทยจะมีโอกาสขยายการส่งออกไปยังตลาดทั่วทวีปอเมริกาที่มีประชากรถึง 800 ล้านคน
สินค้าส่งออกไทยที่มีศักยภาพในการขยายตลาดเปรู เช่น ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เป็นต้น
ขณะเดียวกันเปรูก็มองว่าไทยจะเป็นแหล่งกระจายสินค้าของเปรูไปสู่ ภูมิภาคอาเซียนเช่นกัน เพราะขณะนี้สัดส่วนการค้าของเปรูกับอาเซียนยังน้อยมาก ส่วนการค้าของกลุ่มแอนเดียนกับภูมิภาคอาเซียนคิดเป็นเพียง 0.6% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของกลุ่มแอนเดียน ดังนั้นการค้าของ 2 ภูมิภาคจึงมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก และเปรูสามารถใช้ประโยชน์จากการจัดทำ FTA กับไทยเข้ามาลงทุนโดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียนได้
2. สนับสนุนการลงทุน – ไทยสามารถเข้าไปลงทุนในเปรูซึ่งเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ และเปรูมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ โดยมีนโยบายเปิดเสรีการลงทุนมาตั้งแต่ปี 2533 ทำให้เปรูมีบรรยากาศการลงทุนที่เป็นมิตรกับนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับเปรูมีศักยภาพในการผลิตสินค้าขั้นปฐมภูมิและวัตถุดิบ ที่สำคัญได้แก่ สินแร่ สินค้าประมง สินค้าเกษตร ไทยจึงมีโอกาสจากการจัดทำ FTA กับเปรูในการเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งออกไปยังประเทศอื่นที่เปรูได้สิทธิพิเศษทางการค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดที่มีอำนาจซื้อสูง ดังนี้
– สิ่งทอ เสื้อผ้า เนื่องจากเปรูได้รับสิทธิพิเศษจากการยกเว้นภาษี ศุลกากรจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ดังนั้นการเข้าไปลงทุนผลิตเสื้อผ้า สิ่งทอ ในเปรู และส่งออกไปยัง 2 ประเทศนี้ได้โดยไม่เสียภาษีศุลกากร
– เฟอร์นิเจอร์ จากการเจรจา FTA กับเปรู เปรูเสนอให้สัมปทานการทำป่าไม้กับไทย 40 ปี ซึ่งเป็นโอกาสให้ไทยเข้าไปลงทุนจัดตั้งโรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้
– การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน/สาธารณูปโภค การลงทุนด้านการก่อสร้างสาธารณูปโภค ได้แก่ ถนน และท่าเรือในเปรูมีแนวโน้มสดใส เนื่องจากในการเจรจาFTA กับเปรู เปรูเสนอให้สิทธิพิเศษในการเข้าไปรับเหมาก่อสร้างแก่นักธุรกิจไทย
– ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม สปา และร้านอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจภาคบริการที่ไทยมีความถนัดและมีศักยภาพ จึงควรเข้าไปลงทุนจัดตั้งธุรกิจในเปรู เพราะขณะนี้ ยังไม่มีนักธุรกิจไทยสนใจเข้าไปลงทุนให้บริการด้านเหล่านี้มากนัก
ข้อควรระวัง
การจัดทำ FTA กับเปรู อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจประมงของไทย เนื่องจากเปรูมีชื่อเสียงด้านการประมงโดยเป็นแหล่งประมงที่สำคัญ มีปลาหลากหลายชนิด เปรูจึงเป็นประเทศส่งออกผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำที่สำคัญ รวมทั้งการส่งออก ปลาป่น หากไทยลดภาษีนำเข้าสินค้าปลาป่นจากเปรูตามพันธกรณี FTA จะทำให้สินค้าประมงของเปรูมีศักยภาพเข้ามาในตลาดไทยมากยิ่งขึ้น แม้ว่าผู้ประกอบธุรกิจไทยที่ใช้ปลาป่นเป็นวัตถุดิบจะได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำลง แต่ชาวประมงหรือผู้ประกอบธุรกิจปลาป่นจะได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้นภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ/บรรเทาผลกระทบนี้ แม้ว่ายังคงมีระยะเวลาหนึ่งในการปรับตัวจากการทยอยลดภาษีให้เปรูภายใต้ FTA ก็ตาม
สรุป
การที่เศรษฐกิจของเปรูและภูมิภาคละตินอเมริกามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จึงเป็นผลดีต่อไทยที่มีโอกาสทางการค้า/การลงทุนในภูมิภาคนี้จากการจัดทำ FTA กับเปรู และนับเป็นโอกาสดีที่สินค้าไทยที่มีศักยภาพจะมีลู่ทางกระจายไปทั่วทวีปอเมริกาจากการจัดตั้ง เขตการค้าเสรีแห่งทวีปอเมริกา (FTAA) ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ จากการผลักดันของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีนโยบายส่งเสริมการจัดทำ FTA มาอย่างต่อเนื่องภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีบุช และการที่ประธานาธิบดีบุชได้ดำรงตำแหน่ง ผู้นำสหรัฐฯ อีก 4 ปี คาดว่าจะผลักดันให้ FTA ทั้งระดับภูมิภาคและทวิภาคีที่อยู่ระหว่างเจรจากับประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย เกิดผลสำเร็จ เพื่อทดแทนกับความล่าช้าของการเปิดเสรีระดับพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลก นอกจากนี้ FTA ไทย-เปรู ยังเป็นโอกาสของไทยในการเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรปที่มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับภูมิภาคละตินอเมริกาในขณะนี้ด้วย
ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการ/นักธุรกิจไทยจะต้องเตรียมพร้อมในการบุกตลาดเปรูในอีก 1 ปีข้างหน้า เพราะคาดว่าจะเจรจา FTA กับเปรูเสร็จภายในปี 2548 ขณะเดียวกันไทยจะต้องเตรียมรับมือกับการที่สินค้าเปรูจะเข้ามาขยายตลาดไทย ซึ่งความร่วมมือและความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมของภาครัฐมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากที่จะเสริมศักยภาพทางการแข่งขันให้กับภาคเอกชนไทย เช่น การจัดคณะนักธุรกิจเข้าไปศึกษาตลาดเปรู สำรวจลู่ทางการลงทุน การตั้งศูนย์ประสานงานและให้ข้อมูลการทำธุรกิจกับเปรู การหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนเป็นประจำ โดยเฉพาะการให้คำแนะนำ/ข้อมูล และการเตือนภัยล่วงหน้ากับภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีที่ไทยอยู่ระหว่างการจัดทำกับอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย บาห์เรน นิวซีแลนด์ และกลุ่ม BIMST-EC หลังจากที่ไทยได้ลงนามจัดตั้ง FTA ไปแล้วกับออสเตรเลีย