เอชพีประกาศกลยุทธ์ปี 2548 ตอกย้ำตำแหน่งผู้นำไอทีโซลูชั่นสำหรับทุกกลุ่มลูกค้า

กรุงเทพฯ 24 พฤศจิกายน 2547 – บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศกลยุทธ์ธุรกิจปี 2548 มุ่งตอกย้ำความเป็นผู้นำไอทีโซลูชั่นที่ครบถ้วนสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นโซลูชั่นสำหรับกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และกลุ่มคอนซูมเมอร์ โดยเน้นให้การบริการทั้งด้านเทคนิค การบริหาร และการให้คำปรึกษา ในรูปแบบที่เหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม การคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับลูกค้า การร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกเพื่อให้ได้โซลูชั่นที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าและการร่วมมือกับพันธมิตรด้านช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อให้สินค้าและบริการของ เอชพีเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ยืนยันมีเอชพีเท่านั้นที่สามารถให้บริการที่ครบถ้วน ในลักษณะเช่นนี้แก่ลูกค้า

คุณสรรพัชญ โสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในปี 2548 นี้ เอชพีมุ่งสานต่อการนำผลิตภัณฑ์ชั้นนำที่ผ่านการคิดค้นพัฒนาจนเหมาะสมกับลูกค้า มาผนวกกับแอพพลิเคชั่นที่เอชพีพัฒนาขึ้นเอง หรือ ร่วมกับพาร์ทเนอร์ และการบริการระดับโลกของเอชพี มาเสนอเป็นโซลูชั่นที่สามารถตอบรับทุกความต้องการของลูกค้าได้อย่างลงตัว ทั้งนี้ กลยุทธดังกล่าวส่งผลให้เอชพีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมถึงประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างมากมาแล้ว โดยในปี 2548 นี้ เราจะเร่งการเติบโตให้สูงขึ้นแต่เป็นในลักษณะที่ให้เกิดผลกำไร รวมทั้งการสร้างประสบการณ์ที่ถูกต้องให้แก่ลูกค้าเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเกิดความต้องการในโซลูชั่นของเอชพี”

“เราจะสานต่อแนวทางจากปีที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญกับกลยุทธการตลาดและการเสนอโซลูชั่นที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ อาจจะมีผลิตภัณฑ์และบริการจากต่าง กลุ่มธุรกิจจัดเป็นโซลูชั่นเพื่อเสนอแก่ลูกค้านั้นๆ วิธีนี้ทำให้มั่นใจได้ว่า ลูกค้าจะได้ผลิตภัณฑ์ ที่เหมาะกับความต้องการมากที่สุด” คุณสรรพัชญกล่าว

เน้นโซลูชั่นสำหรับทุกกลุ่มลูกค้า

ทั้งนี้ ในปี 2548 สำหรับ กลุ่มธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่ (Enterprise) เอชพียังชูกลยุทธ์Adaptive Enterprise เป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ลูกค้าที่เป็นองค์กรธุรกิจสามารถนำไอทีมาช่วยสนับสนุนการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็วซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอดและเติบโตทางธุรกิจ

“เรามองว่า ตลาดกลุ่มนี้เป็นตลาดที่จะมีการเติบโตสูงและสร้างผลกำไรอย่างมากส่วนหนึ่งให้แก่ธุรกิจของเอชพี ทั้งนี้เนื่องจากกลยุทธ์ Adaptive Enterprise เปรียบเสมือนคุณค่าที่เอชพีสามารถเพิ่มให้แก่ลูกค้าได้และมีมูลค่าสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็นฮาร์ดแวร์ บางครั้งอาจเป็นการให้คำแนะนำและการปรับโครงสร้างบุคลากรด้านไอที รวมทั้งการปรับโครงสร้างพื้นฐานด้าน ไอทีภายในองค์กรของลูกค้าใหม่ ซึ่งก็สามารถตอบสนองความต้องการให้แก่ลูกค้าได้โดยอาจไม่ต้องมีการซื้อขายฮาร์ดแวร์ก็ได้” คุณสรรพัชญกล่าว

สำหรับตลาดองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่นี้ เอชพีจะหันมาให้ความสำคัญกับตลาดหน่วยงานราชการมากขึ้น นอกเหนือจาก ตลาดธุรกิจการเงิน ธุรกิจการสื่อสาร และการผลิต ซึ่งให้ความสำคัญมาโดยตลอดอยู่แล้ว โดยเอชพีมุ่งให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการนำไอทีมาพัฒนาการปฏิบัติงานราชการให้รวดเร็ว ทันสมัยและลดความซับซ้อน ซึ่งเอชพีในฐานะผู้นำด้านไอทีก็พร้อมที่จะสนองตอบนโยบายนี้ของรัฐบาล

นอกจากนั้น เอชพียังมีแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ด้วยตนเอง ด้วยการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถนำเสนอโซลูชั่นที่เหมาะสมแก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับงานด้านการบริการนั้น คุณสรรพัชญเปิดเผยว่า เป็นหัวใจสำคัญอีกส่วนหนึ่งของธุรกิจของเอชพี เพราะเป็นส่วนที่รองรับทุกผลิตภัณฑ์และสำหรับทุกกลุ่มลูกค้า งานในส่วนนี้ จะขยายและสามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ ได้อีกมาก เนื่องจากเป็นงานที่เอชพีสั่งสมประสบการณ์มาอย่างกว้างขวางผ่านการควบรวมกิจการที่ผ่านมา ธุรกิจการบริการของเอชพีแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ

• Technical Services – เป็นการบริการหลังการขายโดยทั่วไป ทั้งในลักษณะของการส่งเครื่องซ่อม การให้บริการตามสัญญาและการรับประกันต่างๆ

• Managed Services – เป็นการบริการที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการบริการศูนย์ข้อมูลให้แก่ลูกค้า งานด้าน Outsourcing ต่างๆ

• Consulting & Integration – เอชพีสามารถใช้ความรู้และความชำนาญจากทีมงานจาก ทั่วโลกมาช่วยให้งานในส่วนนี้ตอบสนองความต้องการปรับเปลี่ยนทางด้านไอทีให้แก่ลูกค้าได้สูงสุด

คุณสรรพัชญ์ยังตอกย้ำถึงความพร้อมด้านการบริการของเอชพีว่า เอชพีมีศูนย์บริการทั้งสิ้น 23 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเครือข่ายการบริการที่ใหญ่ที่สุดและครอบคลุมพื้นที่การบริการกว้างขวางที่สุด และยังมีคู่ค้าที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน (Certified Partners) กว่า 10 ราย ซึ่งสามารถให้บริการได้ในระดับที่เอชพีรับรอง สำหรับแนวโน้มในปี 2548 เอชพีเชื่อว่างานด้าน Managed Services โดยเฉพาะบริการ Outsourcing จะมีการเติบโตสูงมาก และการบริการ ในรูปแบบใหม่ๆ เช่น Desktop Lifecycle Management หรือ ที่เอชพีเรียกว่า SEAT Management จะได้รับความนิยมจากลูกค้ามากยิ่งขึ้น เพราะลูกค้าสามารถมอบหมายให้เอชพีดูแลด้านไอทีขององค์กรได้อย่างครบวงจร รวมทั้งการบริการที่เรียกว่า Application Management ซึ่งเอชพีจะดูแลอัพเกรดแอพพลิเคชั่นให้แก่ลูกค้า

สำหรับกลุ่มองค์กรขนาดกลางและเล็ก (SMB) เอชพีได้คิดค้นและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งในการนำเสนอโซลูชั่นที่จะช่วยให้ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จใน การเพิ่มผลกำไร ลดต้นทุน และแก้ไขปัญหาในการทำงาน ตลอดจนเพิ่มความสามารถใน การแข่งขันทางธุรกิจโดยการนำเอาเทคโนโลยีทางด้านไอทีต่างๆ มาประยุกต์ใช้

โดยในปี 2548 นี้ เอชพีจะมุ่งเน้นนำเสนอโซลูชั่นที่ก้าวหน้าขึ้นไปอีกลำดับขั้น ด้วยการแนะนำโซลูชั่นใหม่ที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย และความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการสื่อสารภายในองค์กรและการสื่อสารทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมประกาศความพร้อมของบริษัทฯ และพันธมิตรในการรองรับความต้องการของลูกค้าในกลุ่มนี้ ผ่านผลิตภัณฑ์ โซลูชั่น และแพ็กเกจบริการหลังการขายใหม่ๆ ที่สามารถปรับให้เข้ากับความต้องการของธุรกิจได้หลากหลาย

สำหรับลูกค้ากลุ่มคอนซูมเมอร์ เอชพีสานต่อการมอบประสบการณ์เพื่อผู้บริโภคที่ดียิ่งขึ้น ด้วยการนำเสนอโซลูชั่นและผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ทั้งในกลุ่มโซลูชั่นเพื่อความบันเทิงและการถ่ายภาพในระบบดิจิตอล (Digital Entertainment, Digital Photography) เพื่อตอบรับสภาพตลาดและกระแสความนิยมด้านไอทีในปัจจุบัน ที่ได้ขยายขอบเขตจากการใช้งานปกติมาเป็นการใช้งานเพื่อความบันเทิงในแบบที่สะดวกสบายและทันสมัยยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในปี 2548 กลยุทธ์ทางการตลาดของเอชพีสำหรับกลุ่มคอนซูมเมอร์ จะมุ่งเน้นการขยายฐานเข้าสู่ตลาดเพื่อความบันเทิงและการถ่ายภาพในระบบดิจิตอล ด้วยนำเสนอโซลูชั่นและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่รวมไว้ด้วยคุณสมบัติของอุปกรณ์เพื่อความบันเทิงแบบพร้อมสรรพทั้งภาพและเสียงในรูปแบบของดิจิตอลคอนเทนต์ที่หลากหลาย ซึ่งสามารถปรับใช้ได้ในที่บ้านและที่อื่นๆ ควบคู่กับการสร้างภาพลักษณ์ของโซลูชั่นดิจิตอลที่สามารถเข้าถึงได้และใช้งานง่าย ผ่านการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่มีสีสันมากขึ้น เพื่อขยายสัมผัสประสบการณ์ความบันเทิงและการถ่ายภาพในระบบดิจิตอลให้ผู้ใช้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ เอชพียังคงมุ่งเน้นสานต่อด้านพันธมิตรต่อไปในอนาคต ด้วยการจับมือกับคอนซูมเมอร์แบรนด์ชั้นนำในการนำเสนอโซลูชั่นดังกล่าว พร้อมทั้งมองหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อร่วมมือทั้งในรูปแบบของคู่ค้าเพื่อนำเสนอสินค้าสู่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย การทำโปรโมชั่น รวมถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายอีกด้วย

คุณสรรพัชญยังได้ย้ำถึงสิ่งสำคัญอีก 2 ประการคือ พันธมิตรธุรกิจ ทั้งในระดับพันธมิตรระดับโลกและช่องทางการจัดจำหน่ายในประเทศ โดยให้เหตุผลว่า “เอชพีให้ความสำคัญอย่างมากกับพันธมิตรธุรกิจ ซึ่งทำให้เอชพีสามารถนำเสนอโซลูชั่นที่เหมาะสมที่สุดแก่ลูกค้าได้ ขณะเดียวกัน เอชพีในประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญกับพันธมิตรด้านช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างมาก เพราะเราเชื่อมั่นว่าช่องทางการจัดจำหน่ายมีบทบาทอย่างมากที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นของเราเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างทั่วถึง”

นอกจากนั้นแล้ว เอชพียังคงย้ำในนโยบายการตอบแทนต่อสังคม โดยเน้นการลดช่องว่าง ด้านดิจิตอล (Digital divide) โดยขณะนี้กำลังให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการพัฒนาระดับรากหญ้าในเขตจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งโครงการสนับสนุนการนำอุปกรณ์ไอทีมาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภายในโรงเรียนอีกด้วย

เกี่ยวกับเอชพี

เอชพีเป็นผู้นำระดับโลกในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี โซลูชั่น และการให้บริการแก่ลูกค้าระดับคอนซูเมอร์และองค์กรธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และอุปกรณ์ต่อพ่วง การให้ บริการครอบคลุมทั่วโลก และผลิตภัณฑ์ภาพและการพิมพ์ โดยสิ้นไตรมาสที่สี่ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2547 เอชพีมีรายได้รวมทั้งสิ้น 78,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอชพี ได้ที่ http://www.hp.com