สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โชว์นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สุดไฮเทค ผลงานวิจัย ของอาจารย์ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ในงานมหกรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 1 หรือยูนิเวอร์ซิตี้ แฟร์ 2005 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12- 15 มกราคม 2548 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
งานมหกรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 1 หรืองานยูนิเวอร์ซิตี้ แฟร์ 2005 เป็นงานนิทรรศการแนะแนวหลักสูตร การศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา และงานสัมมนาวิชาการ รวมทั้งจัดแสดงผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สุดไฮเทค โดยใช้ชื่อว่า “ตลาดนวัตกรรม” (อินโนเวชั่น มาร์เก็ต) เปิดโอกาสให้ทางสถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ นำผลงานนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยน่าสนใจ ของอาจารย์ และนักศึกษามาจัดแสดง และสาธิตการใช้งานให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชม ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าชมงานได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ศาสตราจารย์พิเศษ ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า “ปัจจุบัน ผลงานการวิจัยค้นคว้าด้านต่างๆ ของอาจารย์ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทยนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผลงานหลายชิ้นยังไม่ได้มีการเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชน ทุกผลงานถือเป็นนวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณค่า และสามารถนำไปประยุกต์เพื่อใช้งานได้จริง ซึ่งการจัดกิจกรรมในส่วนตลาดนวัตกรรม หรืออินโนเวชั่น มาร์เก็ต ก็เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้นักธุรกิจหรือนักลงทุนต่างๆ ที่มีความสนใจในสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ ได้มาพบปะกับผู้คิดค้น เพื่อนำไปสู่การผลิตขึ้นจริงเป็นอุตสาหกรรมอย่างมีรูปธรรมมากขึ้น”
สำหรับผลงานที่นำมาจัดแสดงในส่วนตลาดนวัตกรรม จะแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มเทคโนโลยีเกี่ยวกับหุ่นยนต์ และซอฟต์แวร์ เช่น หุ่นยนต์สำรวจขั้วโลกเหนือ ดาวเทียมขนาด เล็กไทพัฒ อากาศยานไร้นักบินเพื่อการสำรวจ ระบบรักษาความปลอดภัยผ่านมือถือ หุ่นยนต์กู้ภัย หุ่นยนต์เสริฟอาหาร หุ่นยนต์ เดินตามเส้น โครงการพัฒนาระบบตรวจสอบเว็บไซต์อนาจาร ตู้เสื้อผ้าอัจฉริยะ รถสังเกตการณ์อัตโนมัติ
2. กลุ่มเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการเษตร และอาหาร เช่น เครื่องวัดการไหลของน้ำภายใน ลำต้นพืช เครื่องให้อาหารสุนัขอัตโนมัติ เทคโนโลยีโคลนนิ่งโค อาหารสุกรที่ปลอดสารเร่งเนื้อแดง เครื่องทอดมันฝรั่งอัตโนมัติ เป็นต้น
3. กลุ่มเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น แผ่นปิดแผลร้อนใน เครื่องแยกไร เครื่องช่วยกลืนสำหรับผู้ป่วย
4. กลุ่มเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรม เช่น เครื่องมือสาธิตการผลิตไบโอดีเซล เครื่องตรวจสอบรอยร้าวในโลหะ เทคโนโลยีไมโครเวฟสำหรับงานทางวิศวกรรม เครื่องปฏิกรณ์ไบโอดีเซลแบบต่อเนื่อง I-Can-Coolz เครื่องทำความเย็น
5. กลุ่มเทคโนโลยีเกี่ยวกับวิสาหกิจชุมชน เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก เครื่องทอผ้าแบบนิวแมติกส์ ควบคุมการทำงานโมโครคอนโทลเลอร์ กระเป๋าเป้นักเรียนสำหรับการเดินทางทางน้ำ
6. กลุ่มรางวัลนวตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 โดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
สำหรับตัวอย่างผลงานที่จะนำไปจัดแสดงในวันงานที่น่าสนใจ ได้แก่ ดาวเทียมไทพัฒ 2 และ อากาศยานไร้นักบิน ผลงานการออกแบบและพัฒนาโดยอาจารย์ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร รศ.ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ รองอธิการบดี ฝ่ายโครงการพิเศษมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ โครงการดาวเทียมขนาดเล็กไทพัฒ กล่าวเปิดเผยว่า “ดาวเทียมไทพัฒถือเป็นดาวเทียม สายเลือดไทยดวงแรกที่ก่อกำเนิดขึ้นจากความตั้งใจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครที่จะพัฒนาการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาของเทคโนโลยี โดยได้รับพระราชทานนาม จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช นามว่า “ไทพัฒ” ภายหลังจากส่งดาวเทียมไทพัฒ 1 ขึ้นสู่วงโคจรมากว่า5 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เตรียมพร้อมสร้างดาวเทียมไทพัฒ2 ซึ่งถือเป็นการพัฒนาต่อยอดจากการเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากร หรือสำรวจสภาพดินฟ้าอากาศให้มีประสิทธิภาพใช้งานได้กว้างขวางกว่าเดิม เช่น ค้นหาพื้นที่ในบริเวณที่มีการบุกรุกพื้นที่ป่า การหาพิกัดพื้นที่ หรือบริเวณที่ปลูกพืชเสพติด การค้นหาพิกัดของโรงงานแหล่งยาบ้าสามารถเห็นภาพถ่ายได้ละเอียด ถึง 30 เมตร และยังสนับสนุนเทคโนโลยีโทรศัพท์ในยุค 3 จี ด้วย “
ส่วนอีกหนึ่งผลงานที่จะนำไปแสดง คือ อากาศยานไร้นักบิน เป็นเครื่องบินขนาดเล็กไม่มีนักบินควบคุมการบินอยู่บนเครื่อง ใช้การควบคุมอัตโนมัติหรือบังคับด้วยบุคคล สำหรับทำการบินบันทึกภาพทางอากาศโดยพื้นที่สำรวจอยู่ห่างเป็นแนวระยะไกล สามารถลดต้นทุนบุคลากร และระยะเวลาในการสำรวจพื้นที่เมื่อเทียบกับการสำรวจรูปแบบอื่น ซึ่งอากาศยานต้นแบบสามารถนำไปผลิตเพื่อนำไปใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้ หรือใช้สำหรับสำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัย เช่น โคลน ถล่ม ไฟป่า เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการนำไปติดตั้งใช้งานจริงในหน่วยงานทหารและตำรวจของไทย
ขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมการสาธิตในส่วนของ “ตลาดนวัตกรรม” ผลงานการวิจัยของอาจารย์ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศได้ ภายในงานมหกรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 1 หรืองานยูนิเวอร์ซิตี้ แฟร์ 2005 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12- 15 มกราคม 2548 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น