24 มีนาคม 2548 – ในการประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วย จริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 4 ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์คในวันแรก (23 มีนาคม) ศจ. เจมส์ คิมมินส์ ประธานการประชุมจริยธรรมสิ่งแวดล้อม ได้เกริ่นเกี่ยวกับมุมมองปัญหาสิ่งแวดล้อมและจริยธรรมในปัจจุบันว่า มนุษย์ได้ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองเกินจำเป็นมาเป็นเวลานาน ทำลายสิ่งแวดล้อม และทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นสูญพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับธรรมชาตินับเป็นเรื่องใหม่ มีคำถามหลายประเด็นที่หยิบยกในที่ประชุม เช่น “สิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์มีสิทธิ เท่าเทียมกับมนุษย์หรือไม่” และ “ระบบนิเวศน์มี ‘ชีวิต’ เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดหรือไม่”
ดร. ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและประธานร่วม ได้เน้นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก เช่น การละลายของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกและปัญหาของเสียจากการบริโภค วิธีการแก้ไขปัญหาที่อาจทำได้ เช่น การให้ความรู้แก่เยาวชนและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ควรมีการนำปัญหาและวิธีการแก้ไขที่ได้อภิปรายในการประชุมนี้ ไปพูดคุยต่อในวงกว้าง
ศจ. จอห์น แฮททิงก์ เสนอภาพคร่าว ๆ ของ ‘สแนปชอท’ 3 ประการสำหรับจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อมในกรอบการทำงานระดับนานาชาติ ได้แก่ 1) พิธีสารเกียวโต มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2) การประชุมสุดยอดโลกด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่โยฮันเนสเบิร์ก ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตาม Agenda 21 ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ 3) เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ซึ่งเน้นการปกป้องสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาความยากจน และการสร้างเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นอกจากนี้ ดร. แฮททิงก์ ยังได้กล่าวถึงจุดยืนสามแบบทางด้านจริยธรรมสิ่งแวดล้อมเชิงทฤษฎี แบบที่ 1 คือจุดยืนแบบ Anthropocentric ซึ่งถือเอาความต้องการของมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ในขณะ ที่จุดยืนแบบที่ 2 ที่เรียกว่า Ecocentric เน้น ‘คุณค่าแฝงภายใน’ ของธรรมชาติ จุดยืนทั้งสองนี้ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมปัจจุบันได้ ดังนั้น จึงได้เสนอจุดยืนแบบที่ 3 คือ แบบ Radical ซึ่งชี้ว่าสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมีที่มาจากอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ
คุณนัดจา ทอลแมคช์ ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย มักจะเห็นประโยชน์ระยะสั้นมากกกว่าผลประโยชน์ในระยะยาวที่เห็นได้ไม่ชัดเจน การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเจตคติของสังคม ทำได้โดยการให้ความรู้แก่ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนซึ่งแม้ว่าเป็นกระบวนการที่ใช้เวลามากแต่ก็มีความจำเป็นและขาดเสียมิได้
คุณจำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ชี้ให้เห็นความล้มเหลวของระบบทฤษฎีคุณค่า เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และกระบวนการตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์การเมืองในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและเสนอว่าคำตอบเรื่องนี้ได้แก่ การสร้างความตระหนักทางนิเวศน์วิทยาอย่างลึกซึ้ง หรือ ‘การบรรลุวุฒิภาวะทางจิตวิญญาณ’ ความศรัทธาในเรื่องวิญญาณของธรรมชาติช่วยส่งเสริมความอ่อนน้อม ถ่อมตนและความระลึกในบุญคุณของธรรมชาติ (กัลยาณมิตร) ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในสังคม
ผู้สนใจที่ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (COMEST) ครั้งที่ 4 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพ สามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เวปไซด์ www.most.go.th/comest