AMD เสนอข้อกำหนด Pacifica บนเทคโนโลยี AMD64 ในฐานะก้าวสำคัญของการทำเวอร์ชวลไลเซชั่นบนพีซี

ซันนี่เวล, แคลิฟอร์เนีย–(บิสิเนส ไวร์)–30 มีนาคม 2548 – ในงาน AMD Reviewer’s Day วันนี้ที่ออสติน เท็กซัส AMD ได้เปิดเผยใจความสำคัญของข้อกำหนด Pacifica ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำหรับระบบคอมพิวเตอร์เสมือน หรือที่รู้จักกันในนามเวอร์ชวลไลเซชั่น (Virtualization) ซึ่งเป็นการทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้โพรเซสเซอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงมากๆ จำลองตัวเองเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าหลายๆ เครื่องในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากประสิทธิภาพที่ล้นเหลือของโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่ๆ ได้เต็มที่ ข้อกำหนดใหม่นี้ จะทำให้ AMD เพิ่มขีดความสามารถในฐานะผู้นำตลาดโพรเซสเซอร์ระดับ 64 บิทที่สนับสนุนการทำเวอร์ชวลไลเซชั่นบนเครื่องคอมพิวเตอร์ตระกูล x86 ทั้งในระดับเซิร์ฟเวอร์ เดสก์ทอป และเครื่องโน้ตบุ๊ค

“AMD เลือกแนวทางการเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ผลิตซอฟต์แวร์อิสระ และกลุ่มนักวิเคราะห์ระบบ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดข้อกำหนด Pacifica ของเรา แนวทางที่เปิดกว้าง ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของข้อกำหนดนี้ในวันนี้ ในที่สุดแล้วจะทำให้เราได้โมเดลที่มีคุณสมบัติ และประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งยังตรงตามความต้องการของผู้พัฒนาระบบเวอร์ชวลไลเซชั่นแบบ Hypervisor ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้ใช้สำคัญของ Pacifica” มาร์ตี้ เซเยอร์ รองประธานกรรมการและผู้จัดการทั่วไป หน่วยธุรกิจไมโครโพรเซสเซอร์ กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ บริษัท AMD กล่าว “การเพิ่มขีดความสามารถในการทำเวอร์ชวลไลเซชั่นในระดับฮาร์ดแวร์ลงในเทคโลยีชั้นนำอย่าง AMD64 จะทำให้ Pacifica กลายเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้สำหรับระบบเวอร์ชวลไลเซชั่นชั้นยอดในอนาคต”

“Pacifica” จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของ AMD64 และสถาปัตยกรรมแบบ Direct Connect Architecture ของ AMD ให้สนับสนุนการทำเวอร์ชวลไลเซชั่นในระดับฮาร์ดแวร์ ทั้งในส่วนของโพรเซสเซอร์ และหน่วยความจำ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการทำเวอร์ชวลไลเซชั่น และจะช่วยเปลี่ยนแนวทางการทำเวอร์ชวลไลเซชั่นจากเดิมที่เป็นเรื่องของซอฟต์แวร์ล้วนๆ ไปสู่ยุคของการทำเวอร์ชวลไลเซชั่นบนฮาร์ดแวร์ สิ่งนี้จะส่งผลให้ความซับซ้อนของซอฟต์แวร์ลดลง แต่กลับให้ผลดีกับประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของระบบ ในขณะที่ยังคงความเข้ากันได้กับระบบที่มีอยู่แต่เดิมอันเป็นการช่วยชะลอการลงทุนในระบบงานไอทีได้อีกด้วย

การสนับสนุนการทำเวอร์ชวลไลเซชั่นในระดับฐานรากตามแนวทางของ Pacifica นี้นอกจากจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยของตั้งแต่ระดับฮาร์ดแวร์แล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานทรัพยากรทาง IT ที่มีราคาแพงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การย้ายระบบงานดั้งเดิมที่มีอยู่บนฮาร์ดแวร์เก่าหลายๆ ชุดขึ้นมาบนฮาร์ดแวร์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมเพียงชุดเดียว เป็นต้น อ่านรายละเอียดของ Pacifica ได้ที่ http://www.amd.com/enterprise

ความมุ่งมั่นของ AMD ที่จะนำเสนอเทคโนโลยีชั้นยอดเพื่อสนับสนุนการทำเวอร์ชวลไลเซชั่นยังได้แสดงออกผ่านมาทางความเห็นของแนวร่วมสำคัญของ AMD อย่าง Microsoft, VMWare และ XenSource ด้วย

ร็อบ ชอร์ท รองกรรมการผู้จัดการของแผนก Windows(R) ของ Microsoft กล่าวว่า “ระบบเวอร์ชวลไลเซชั่นของ Microsoft อย่าง Virtual PC 2004 และ Virtual Server 2005 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้ทั้งในระดับองค์กร และผู้ใช้ทั่วไป โดยครอบคลุมงานตั้งแต่การพัฒนาและการทดสอบระบบ ไปจนถึงการใช้งานจริง”

“เรารู้สึกตื่นเต้นกับการที่ AMD ให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีอย่าง Pacifica และเรากำลังทำงานร่วมกับ AMD และพันธมิตรอื่นๆ ของเราเพื่อให้แน่ใจว่า ระบบเวอร์ชวลไลเซชั่นบนวินโดวส์จะได้รับการยกระดับไปพร้อมๆ กับการเพิ่มขีดความสามารถดังกล่าวในฮาร์ดแวร์ เราเชื่อว่าเวอร์ชวลไลเซชั่นบนโพรเซสเซอร์จะเป็นตัวต่อชิ้นสำคัญของโซลูชั่นสำหรับการทำเวอร์ชวลไลเซชั่นบนวินโดวส์” นายชอร์ทกล่าว

“ในฐานะผู้นำทางเทคโนโลยีการทำเวอร์ชวลไลเซชั่นของเราที่ยาวนานมากกว่า 7 ปี VMWare ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับการทำเวอร์ชวลไลเซชั่นบนโพรเซสเซอร์ AMD Opteron (TM) สำหรับเครื่องระดับเซิร์ฟเวอร์ และ AMD Athlon (TM) สำหรับเครื่องระดับเดสก์ทอป สู่ตลาดมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว” พอล จาง รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาของ VMWare กล่าว “และเรารู้สึกยินดีที่จะได้ร่วมมือกับ AMD ในการพัฒนา และผนวกเทคโนโลยีใหม่ในการทำเวอร์ชวลไลเซชั่นอย่าง Pacifica เข้ากับผลิตภัณฑ์ของเราเพื่อให้สามารถใช้ประสิทธิภาพของสถาปัตยกรรมแบบ AMD64 ได้มากที่สุด สิ่งนี้จะนำไปสู่การขยายขอบเขตของการใช้เวอร์ชวลไลเซชั่นที่กว้างขวางยิ่งขึ้นในศูนย์ข้อมูล

การเสนอใจความสำคัญของ Pacifica ในวันนี้เป็นเพียงก้าวแรกของการเสนอข้อกำหนด Pacifica ฉบับเต็มซึ่งมีกำหนดการที่จะเสนอต่อสาธารณะในเดือนเมษายน 2548 ที่จะถึงนี้ ก่อนที่จะถูกผนวกเข้าเป็นคุณสมบัติสำคัญของโพรเซสเซอร์ของ AMD ในกลางปี 2549 โดย AMD มีแผนที่จะผนวกความสามารถในการทำเวอร์ชวลไลเซชั่นระดับฮาร์ดแวร์ลงในโพรเซสเซอร์ที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบ AMD64 ทั้งรุ่นที่เป็น ซิงเกิลคอร์และดูอัลคอร์ของตน

เกี่ยวกับโพรเซสเซอร์ AMD Opteron

มากกว่า 40% ของบริษัทและบริษัทในเครือที่อยู่ในรายชื่อ 100 บริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดของโลกของฟอร์บส โกลบอล ใช้เซิร์ฟเวอร์และเวิร์คสเตชันที่ทำงานด้วยโพรเซสเซอร์ AMD Opteron ซึ่งเป็นโพรเซสเซอร์ระบบ x86 ตัวแรกของโลกที่ประมวลผลได้ทั้ง 32 และ 64 บิท

โพรเซสเซอร์ AMD Opteron ซึ่งใช้สถาปัตยกรรมแบบ AMD64 และ Direct Connect Architecture ได้สร้างประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นโพรเซสเซอร์ระบบ x86 แบบมัลติคอร์ตัวแรกของวงการ สถาปัตยกรรมแบบ Direct Connect Architecture ของ AMD จะทำให้หน่วยควบคุมหน่วยความจำ หน่วยควบคุมอินพุท-เอาท์พุท และโพรเซสเซอร์หลายตัว สามารถเชื่อมต่อเข้ากับหน่วยประมวลผลกลางโดยตรงได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดลดปัญหาคอขวดของข้อมูลใน front-side bus ที่เกิดขึ้นในคอมพิวเตอร์ที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบเก่า

ปัจจุบันโพรเซสเซอร์ AMD Opteron เป็นโพรเซสเซอร์ที่มีอัตราประสิทธิภาพการทำงานต่อวัตต์สูงที่สุดในอุตสาหกรรมโพรเซสเซอร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวที่ AMD หมายมั่นจะให้โพรเซสเซอร์แบบดูอัลคอร์รุ่นต่อไปของตนอย่าง AMD Opteron ซึ่งมีกำหนดจะเปิดตัวกลางปี 2548 นี้ได้ครอบครอง

เกี่ยวกับ AMD

AMD (NYSE:AMD) คือ ผู้ออกแบบ และผลิตไมโครโพรเซสเซอร์ แฟลชเมมโมรี่ และโพรเซสเซอร์ประหยัดพลังงานสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร ตลอดจนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ AMD คือผู้นำเสนอโซลูชั่นมาตรฐานที่มุ่งตอบสนองทุกๆ ความต้องการของผู้ใช้เทคโนโลยี ตั้งแต่องค์กรธุรกิจและหน่วยงานรัฐบาล ไปจนถึงผู้ใช้ทั่วไป อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.amd.com

AMD, เครื่องหมายลูกศรของ AMD, AMD Turion, AMD Athlon, AMD Opteron และชื่ออื่นๆ ที่ประกอบด้วยชื่อเหล่านี้ เป็นเครื่องหมายการค้าของ Advanced Micro Devices, Inc. Windows เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ Microsoft Corporation ในสหรัฐอเมริกา และ/หรือ บริษัทในเครือ ส่วนชื่ออื่นๆ ที่ปรากฏนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นข้อมูลเท่านั้น และอาจเป็นเครื่องหมายการค้าของเจ้าของบริษัทนั้นๆ

ติดต่อ: บริษัทเอเอ็มดี
แอนดรู ฟอกซ์, 512-602-9002 (PR)
อีเมล์: andrew.fox@amd.com
หรือ
ไมค์ ฮาส, 408-749-3124 (IR)