บทนำ
การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในอัตราร้อยละ 9.5 ในปี 2547 ควบคู่กับการขยายตัวของการส่งออก-นำเข้าในอัตราสูงกว่าร้อยละ 30 ทำให้การนำเข้าสินค้าของจีนจากเอเชียและไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2548 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.5 และการส่งออก-นำเข้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-25 และร้อยละ15-20 ตามลำดับ ทำให้การนำเข้าสินค้าของจีนจากไทยอาจเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง โดยตัวเลขการนำเข้าในช่วงสองเดือนแรกของปี 2548 เริ่มส่งสัญญาณดังกล่าวแล้ว ในทางกลับกัน รัฐบาลไทยตั้งความหวังจะขยายการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ในปี 2548 ซึ่งสูงกว่าในปีที่ผ่านมาเสียอีก เพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล ไทยจำเป็นต้องเร่งเพิ่มอัตราการส่งออกสินค้า 15 รายการแรกที่มีมูลค่าการส่งออกสูง รวมทั้งขยายตลาดสินค้าอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนที่จะเริ่มต้นขึ้นในปีนี้ เพื่อทดแทนการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดที่คาดว่าจีนจะนำเข้าลดลงในปีนี้
แนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของจีน
ตารางที่ 1: ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจจีน
ดัชนีเศรษฐกิจ 2004 2005 (คาดการณ์)
GDP 9.5% 8.5%
ภาวะเงินเฟ้อ 3.9% 3.5-3.9%
การส่งออก 593.65 พันล้านดอลลาร์ 712-740 พันล้านดอลลาร์
อัตราขยายตัวของการส่งออก 35.4% 20-25%
การนำเข้า 560.81 พันล้านดอลลาร์ 645-670 พันล้านดอลลาร์
อัตราขยายตัวของการนำเข้า 36.0% 15-20%
ดุลบัญชีเดินสะพัด/GDP 3.3% 1.2%
สำหรับในปี 2005 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราชะลอตัวลงเล็กน้อยอยู่ที่อัตราร้อยละ 8.5 โดยภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 10 ส่วนภาคเกษตรจะขยายตัวในอัตราสูงกว่าร้อยละ 4 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ส่วนการค้าระหว่างประเทศ คาดว่าจะยังคงขยายตัวในอัตราเลขสองหลัก โดยเมื่อปีที่ผ่านมาทางการจีนได้พยายามเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศโดยยกเลิกการผูกขาดการค้าระหว่างประเทศโดยรัฐ และเมื่อต้นปี 2005 ก็ได้ลดอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยลงเหลือร้อยละ 10.1 (เทียบกับอัตราร้อยละ 15.6 เมื่อปี 2001) รวมทั้งลดข้อจำกัดที่มิใช่ภาษี เช่น ลดรายการสินค้าที่ถูกจำกัดโควต้าการนำเข้าจาก 26 รายการเหลือเพียง 8 รายการ ทำให้คาดว่าการนำเข้าของจีนจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 15-20 ในปี 2005 ส่วนการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 20-25 ลดลงจากเดิมเนื่องจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง รวมทั้งราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตเพื่อส่งออกของจีนสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
ที่ผ่านมา การนำเข้าของจีนกว่าครึ่งหนึ่งมาจากทวีปเอเชีย รองลงไปได้แก่การนำเข้าจากยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยร้อยละ 65.96 ของการนำเข้าทั้งหมดมาจากทวีปเอเชียในปี 2004 และสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มเป็นร้อยละ 66.87 ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2005 เมื่อศึกษาเปรียบเทียบการนำเข้าของจีนจากประเทศในเอเชียต่าง ๆ จากตัวเลขของทางการจีนพบว่า ในปี 2547 การนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.7 ซึ่งอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย สำหรับในช่วงสองเดือนแรกของปี 2005 การนำเข้าของจีนจากประเทศในเอเชียเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเกือบทุกประเทศ (ยกเว้นฮ่องกงซึ่งส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย) อันเป็นผลจากวันหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีนและการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงหลายชนิด โดยการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 จะเป็นรองก็เพียงแต่ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย จากข้อมูลของจีนดังกล่าว การนำเข้าจากไทยที่ชะลอตัวลงจึงน่าจะเป็นผลจากการนำเข้าของจีนโดยภาพรวมที่ขยายตัวลดลง กอปรกับปัญหาการส่งออกอื่น ๆ ของไทย เช่น อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การศึกษาข้อมูลการค้าจากฝ่ายไทยเพิ่มเติมจะช่วยให้เห็นภาพการค้าไทย-จีนที่ชัดเจนขึ้น
แนวโน้มการค้าไทย-จีนปี 2548
จากตัวเลขการค้าของฝ่ายไทย (กระทรวงพาณิชย์) ปัจจุบันจีนเป็นตลาดสำคัญอันดับสามของไทยรองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยในปี 2547 ไทยส่งออกสินค้าไปจีนมูลค่า 7.12 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.14 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของการส่งออกรวมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.05 แต่ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2548 ไทยส่งสินค้าไปจีนมูลค่า 1.16 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.61 (ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขนำเข้าจากไทยของฝ่ายจีน) แต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภาพการส่งออกรวมของไทยในช่วงสองเดือนแรกของปี 2548 ที่ขยายตัวลดลงค่อนข้างมากเหลือเพียงร้อยละ 8.11 เท่านั้น
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของการส่งออกไปตลาดจีนเทียบกับตลาดสำคัญ 10 อันดับแรกของไทยในช่วงปี 2547-48 จะพบว่า ในปี 2547 การส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น (ร้อยละ 25.14) จะเป็นรองก็เพียงตลาดอินโดนีเซีย (ร้อยละ 41.96) และมาเลเซีย (ร้อยละ 37.22) เท่านั้น แต่ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ การส่งออกไปจีนกลับเพิ่มขึ้นน้อยมาก (ร้อยละ 4.61) จะดีกว่าก็เพียงตลาดฮ่องกง (ร้อยละ 3.67) สหรัฐฯ (ร้อยละ 3.03) มาเลเซีย (ร้อยละ –0.68) สิงคโปร์ (ร้อยละ –12.06) เท่านั้น ขณะที่บางตลาด เช่น อินโดนีเซียสามารถส่งออกเพิ่มถึงร้อยละ 42.84 และตลาดญี่ปุ่นส่งออกเพิ่มร้อยละ 10.42
เมื่อพิจารณาแนวโน้มในช่วงสองเดือนแรกดังกล่าว เปรียบเทียบกับเป้าหมายการส่งออกไปจีนในปี 2548 ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เป็นมูลค่า 9,255 ล้านดอลลาร์แล้ว (ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ตั้งเป้าอัตราการเติบโตร้อยละ 28) นับว่ายังห่างไกลมาก ดังนั้น ภาคราชการและเอกชนของไทยคงต้องบุกตลาดจีนอย่างจริงจังเพื่อให้การส่งออกก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว แต่แนวโน้มการนำเข้าที่ชะลอตัวลงของจีนในปีนี้ ซึ่งเริ่มปรากฏในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2005 ที่ยอดการนำเข้าเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 8.2 และคาดว่าการนำเข้าของจีนทั้งปีคงไม่เกินร้อยละ 15-20 ทำให้เป็นการยากที่การนำเข้าของจีนจากไทยจะเพิ่มขึ้นสูงร้อยละ 30 เว้นแต่ไทยจะสามารถผลักดันการส่งออกสินค้าหลัก 15 รายการแรกซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรวมกันกว่าร้อยละ 80 ให้เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่เหลือของปี
จากการศึกษารายการสินค้าส่งออกไปจีน พบว่าสินค้าส่งออกสำคัญ 15 รายการแรกที่มูลค่าการส่งออกลดลงในช่วงสองเดือนแรกของปี 2005 ได้แก่สินค้าโภคภัณฑ์หลายรายการ เช่น ยางพารา (ร้อยละ –14.04) น้ำมันดิบ (ร้อยละ –36.41) เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ –17.99) ข้าว (ร้อยละ –19.26) ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าส่งออกไปจีนอันดับ 2 อันดับ 7 อันดับ 10 และอันดับ 11 ในปี 2004 ทำให้น้ำหนักการส่งออกถูกดึงลงอย่างมาก ส่วนสินค้านอก 15 รายการแรกที่การส่งออกลดลงคือสินค้าในกลุ่มสิ่งทอ อุตสาหกรรมบางชนิดและอาหาร เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้ กระดาษ คอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็น ผลิตภัณฑ์พลาสติก นาฬิกา รถยนต์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้สัญญาณเสียง แผงสวิทช์ แก้วและกระจก หลอดภาพโทรทัศน์สี ผลิตภัณฑ์หนัง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ กล้องถ่ายรูป เครื่องวิดีโอ มอเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น น่าเป็นห่วงว่าสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายปีบางรายการกลับส่งออกติดลบในช่วงต้นปีนี้ โดยเฉพาะยางพาราและผลิตภัณฑ์ ด้าย ผลิตภัณฑ์พลาสติก รถยนต์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้สัญญาณเสียงและอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ เป็นต้น
ในทางกลับกัน สินค้าสำคัญที่ไทยมีแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราสูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องจนถึงช่วงต้นปีนี้ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (ร้อยละ 56.61) อันเป็นผลมาจากการขยายการลงทุนผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟในเมืองไทย เม็ดพลาสติก (ร้อยละ 29.85) เนื่องมากจากการเติบโตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในจีนซึ่งคาดว่าจะโตถึงร้อยละ 15 ในปีนี้ เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 17.03) ซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมหลายชนิด แผงวงจรไฟฟ้า (ร้อยละ 42.81) อันเป็นผลมาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในจีน ผลิตภัณฑ์ไม้ (ร้อยละ 30.8) เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของจีน เส้นใยประดิษฐ์ (ร้อยละ 67.52) เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอของจีน เป็นต้น ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องรักษาอัตราการเติบโตของสินค้าเหล่านี้ควบคู่ไปกับการเร่งส่งออกสินค้าที่การส่งออกลดลงในช่วงต้นปี
ตารางที่ 2: สินค้าส่งออกหลักของไทยไปจีน
สินค้า 2547 2548 (ม.ค.-ก.พ.)
มูลค่า* เปลี่ยนแปลง (%) มูลค่า* เปลี่ยนแปลง (%)
รวม 7,119.3 25.14 1,155.4 4.61
เครื่องคอมพิวเตอร์ & ส่วนประกอบ 1,515.3 32.31 311.5 56.61
ยางพารา 785.0 9.70 140.8 -14.04
เม็ดพลาสติก 566.3 45.88 109.2 29.85
เคมีภัณฑ์ 362.2 16.2 65.3 17.03
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 281.8 66.35 45.5 3.64
แผงวงจรไฟฟ้า 226.5 10.98 40.7 42.81
น้ำมันดิบ 274.6 -21.94 37.2 -36.41
ผลิตภัณฑ์ไม้ 209.1 50.54 31.0 30.80
ก๊าซปิโตรเลียมเหลว 134.4 22.34 26.9 40.84
เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 126.7 -33.87 22.8 -17.99
ข้าว 224.8 130.09 21.8 -19.26
เส้นใยประดิษฐ์ 70.7 37.55 19.6 67.52
หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ 90.4 17.56 19.6 51.94
ทองแดง & ผลิตภัณฑ์จากทองแดง 56.7 55.34 14.2 100.00
เครื่องใช้ไฟฟ้า & ส่วนประกอบ 114.4 166.67 14.1 10.16
หมายเหตุ: ล้านดอลลาร์
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์
อนึ่ง เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนที่ครอบคลุมสินค้าอุตสาหกรรมจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันทื่ 1 กรกฎาคม 2548 จะมีผลให้สินค้าทั่วไปทยอยลดภาษีลงจนถึงร้อยละ 0 ในปี 2553 และสินค้าอ่อนไหวทยอยลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลให้การค้าไทย-จีนมีปริมาณเพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่ง คาดว่าสินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่น่าจะได้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนได้แก่ กระดาษและเยื่อกระดาษ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งทำความเข้าใจและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการให้ใช้สิทธิ์การลดภาษีในกรอบความร่วมมือดังกล่าว โดยภาคเอกชนจำเป็นต้องเตรียมข้อมูลในเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อประกอบการยื่นขอลดภาษีจากฝ่ายจีน
ในด้านการนำเข้า จีนเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าสำคัญลำดับสองของไทยรองจากญี่ปุ่น โดยการนำเข้าเพิ่มขึ้นในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องร้อยละ 22.56 และร้อยละ 35.73 ในปี 2546 และ 2547 ตามลำดับ สำหรับในช่วงสองเดือนแรกของปี 2548 การนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42.87 ทำให้สัดส่วนการนำเข้าจากจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากร้อยละ 8.00 ของการนำเข้าทั้งหมดในปี 2546 เป็นร้อยละ 8.91 ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2548 สวนทางกับการนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าดับสามที่สัดส่วนการนำเข้าลดลงจากร้อยละ 9.40 เหลือเพียงร้อยละ 7.73 ในช่วงเดียวกัน
ตารางที่ 3: แหล่งนำเข้าสำคัญของไทย
รายการ มูลค่า : ล้านดอลลาร์ อัตราเพิ่ม : ร้อยละ สัดส่วน : ร้อยละ
2546 2547 2548 2546 2547 2548 2546 2547 2548
(ม.ค.-ก.พ.) (ม.ค.-ก.พ.) (ม.ค.-ก.พ.)
1. ญี่ปุ่น 18,074.30 22,415.70 3,990.60 22.1 24.02 20.96 24.09 23.6 22.82
2. จีน 6,002.30 8,147.00 1,557.80 22.56 35.73 42.87 8.00 8.58 8.91
3. สหรัฐอเมริกา 7,092.60 7,215.40 1,351.20 15.38 1.73 21.87 9.45 7.6 7.73
4. มาเลเซีย 4,489.20 5,508.30 1,233.70 24.06 22.7 57.16 5.98 5.8 7.05
5. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2,006.40 3,793.30 865.2 41.42 89.06 81.84 2.67 3.99 4.95
6. สิงคโปร์ 3,234.90 4,147.70 737.4 12.09 28.22 24.12 4.31 4.37 4.22
7. ไต้หวัน 3,195.20 3,971.30 661.7 10.73 24.29 15.9 4.26 4.18 3.78
8. เกาหลีใต้ 2,888.30 3,577.00 602.2 15.11 23.84 2.12 3.85 3.77 3.44
9. ออสเตรเลีย 1,568.00 2,198.20 575.2 4.97 40.19 86.75 2.09 2.31 3.29
10. อินโดนีเซีย 1,755.90 2,318.70 528.7 13.46 32.05 67.31 2.34 2.44 3.02
รวม 10 รายการ 50,307.30 63,292.70 12,103.60 19.19 25.81 32.46 67.06 66.64 69.21
อื่นๆ 24,707.40 31,685.30 5,384.10 12.14 28.24 18.56 32.94 33.36 30.79
มูลค่ารวม 75,014.70 94,978.00 17,487.80 16.77 26.61 27.84 100 100 100
หมายเหตุ: ล้านดอลลาร์
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์
สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากจีนส่วนใหญ่ประกอบด้วยสินค้าสินค้าทุน/วัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภคบางชนิด โดยราวสามในสี่ของสินค้านำเข้าทั้งหมดมาจากสินค้าเพียง 10 ชนิด ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผ้าผืน เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และเครื่องเพชรพลอย/ทอง โดยในปี 2547 และช่วงสองเดือนแรกของปี 2548 การนำเข้าสินค้าเหล่านี้ของไทยเพิ่มขึ้นทุกรายการยกเว้นเครื่องเพชรพลอย/ทองซึ่งลดลงเล็กน้อยในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้
สินค้าที่มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากในช่วงสองเดือนแรกของปี 2548 ได้แก่ ฟิล์มถ่ายรูป (ร้อยละ 783.33) เหล็กและผลิตภัณฑ์ (เพิ่มร้อยละ 545.42) สินแร่โลหะ (ร้อยละ 146.51) ส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 136.36) ไม้และผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ 103.85) ผลิตภัณฑ์โลหะ (ร้อยละ 101.79) กระจก/แก้ว (ร้อยละ 97.73) สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (ร้อยละ 91.18) ผลิตภัณฑ์เซรามิก (ร้อยละ 80) เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (ร้อยละ 61.95) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 61.06) เครื่องจักรกล (ร้อยละ 57.73) เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด (ร้อยละ 47.37) ผลิตภัณฑ์พลาสติก (ร้อยละ 34.55) เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าที่มีปริมาณลดลงมีเพียงไม่ถึง 10 รายการจากรายการสินค้านำเข้า 50 รายการแรก อาทิ เครื่องเพชรพลอย แผงวงจรไฟฟ้า ปุ๋ย/ยาฆ่าแมลง พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช นาฬิกา เภสัชกรรม รองเท้า ถ่านหิน ข้าว/แป้ง เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่สินค้าหลักที่มีปริมาณการนำเข้าสูง
สำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนซึ่งเริ่มลดภาษีในกลุ่มสินค้าผักและผลไม้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2545 เป็นต้นมา ไทยนำเข้าสินค้าผัก/ผลไม้และของปรุงแต่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.28 ในปี 2547 และร้อยละ 10.1 ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2548 ด้วยมูลค่าการนำเข้า 122.7 ล้านดอลลาร์ และ 21.8 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ คาดว่าภายหลังการลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป การนำเข้าสินค้าหลายรายการจากจีนจะเพิ่มขึ้น เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ เซรามิก เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณี/เครื่องประดับ/ทอง เครื่องจักรกล และอะไหล่รถยนต์ เป็นต้น ดังนั้น ไทยควรเตรียมการในเรื่องการกำหนดมาตรฐานสินค้าเหล่านี้เพื่อให้สินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายได้มาตรฐานและเกิดความเป็นธรรมกับผู้ผลิตในประเทศ
ตารางที่ 4: สินค้านำเข้าหลักของไทยจากจีน
สินค้า 2547 2548 (ม.ค.-ก.พ.)
มูลค่า* เปลี่ยนแปลง (%) มูลค่า* เปลี่ยนแปลง (%)
รวม 8,147.0 35.73 1,557.80 42.87
เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 1,483.9 24.87 271.2 27.92
เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ 1,208.9 5.14 215.6 3.41
เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 578.0 485.02 169.1 545.42
เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 525.2 54.65 115.3 57.73
เคมีภัณฑ์ 539.8 46.09 109.2 61.06
สินแร่โลหะ 347.9 87.14 91.7 146.51
เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 324.5 40.60 63.0 61.95
ผ้าผืน 381.9 20.93 62.2 29.05
เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด 227.0 47.31 39.2 47.37
เครื่องเพชรพลอย เงิน อัญมณี 196.4 75.51 27.5 -3.17
แผงวงจรไฟฟ้า 200.9 58.81 25.9 -7.50
ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก 141.3 29.40 25.7 34.55
หลอดภาพโทรทัศน์และส่วนประกอบ 158.1 2.80 24.8 40.91
ผลิตภัณฑ์โลหะ 88.2 46.51 22.6 101.79
ผัก ผลไม้และของปรุงแต่ง 122.7 27.28 21.8 10.10
หมายเหตุ: ล้านดอลลาร์
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์
สรุป
แม้ว่าแนวโน้มการนำเข้าของจีนในปี 2548 จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง และยอดการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนในช่วงสองเดือนแรกของปี 2548 จะเพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 5 อันเป็นผลมาจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิด แต่ตัวเลขการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลัก ๆ ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ดังนั้นไทยจึงยังมีความหวังที่จะขยายการส่งออกไปจีนโดยรักษาการเติบโตของสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูงโดยเฉพาะสินค้าทุนและชิ้นส่วนสินค้าอุตสาหกรรม รวมทั้ง ขยายการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่จะได้อานิสงส์จากการลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในกลางปีนี้