งานแสดงสินค้าภูมิปัญญาไทยสู่สากลปี 2548 (OTOP to the World 2005) ดึงดูดนักธุรกิจ ผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง/ค้าปลีก รวมถึงผู้ประกอบการชาวไทยและต่างประเทศเข้าร่วมงานอย่างคับคั่งกว่า 7,000 ราย จาก 89 ประเทศ ตอกย้ำความสำเร็จด้วยยอดจำหน่ายสินค้า OTOP เกือบ 200 ล้านบาท
งานแสดงสินค้าภูมิปัญญาไทยสู่สากล ปี 2548 ซึ่งจัดขึ้นพร้อมกับงานแสดงสินค้าของขวัญและของใช้ในบ้าน ณ อาคาร 9 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 19-24 เมษายน ที่ผ่านมา สามารถดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชมงานทั้งสิ้นกว่า 32,500 คน ประกอบด้วยนักธุรกิจ ผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง/ค้าปลีก ผู้ประกอบการชาวไทยและต่างประเทศ เข้าชมงานในวันเจรจาธุรกิจ (19-22 เมษายน) 7,163 คน และผู้เข้าชมงานในวันจำหน่ายปลีกกว่า 25,000 คน
นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการจัดงาน แสดงสินค้าภูมิปัญญาไทยสู่สากล ซึ่งกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ บริหารการจัดงานว่า “การจัดงานในปีนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการนำผู้ซื้อและผู้ผลิตมาพบกัน โดยสามารถดึงดูดผู้ซื้อและนักลงทุนไทยและทั่วโลกเข้าร่วมงานถึง 89 ประเทศ และสร้างยอดจำหน่ายสินค้า OTOP เกือบ 200 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้กว่า 20 ล้านบาท เป็นการจำหน่ายสินค้าเพียง 3 ชั่วโมง ผ่านรายการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ Jupiter Shop Channel ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกิจกรรมใหม่ และเป็นครั้งแรกของงานที่มีการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางในลักษณะนี้”
สำหรับประเทศที่มีผู้เข้าร่วมชมงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 237 ราย สหรัฐอเมริกา 161 ราย สิงคโปร์ 109 ราย มาเลเซีย 75 ราย และอังกฤษ 64 ราย ส่วนประเทศที่มียอดการสั่งซื้อสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น ประเทศกลุ่มอาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย
ในงานมีผู้ผลิต 474 ราย นำสินค้า OTOP จัดแสดงรวม 526 คูหา เป็นสินค้าที่ได้รับการคัดสรรระดับ 3-5 ดาว ทั้งที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศและสินค้าใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพในการทำตลาด ประกอบด้วยของขวัญ ของใช้และของประดับตกแต่งบ้าน ดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ เครื่องหอมต่าง ๆ แฟชั่น (เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องหนัง/รองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ) เคหะสิ่งทอและสินค้าผ้าผืน ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม อาหาร (เฉพาะอาหารแปรรูป ไม่รวมอาหารสด) และเฟอร์นิเจอร์
ทั้งนี้ สินค้าที่ได้รับความสนใจสั่งซื้อสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สินค้าประเภทของขวัญของชำร่วยหัตถกรรม ร้อยละ 23.06 สิ่งทอ/ผ้าผืน ร้อยละ 15.32 อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 12.07 สมุนไพร/เครื่องหอม ร้อยละ 7.75 และเสื้อผ้า ร้อยละ 7.57
นายสุริยา กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า “ความสำเร็จของการจัดงานในครั้งนี้มาจากคุณภาพและรูปแบบของสินค้า ฝีมือการผลิตอันไม่เป็นรองใคร รวมถึงการผสมผสานอย่างลงตัวของวัฒนธรรมท้องถิ่นไทยกับความทันสมัย เหนือสิ่งอื่นใดคือความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบด้านการตลาด”