กทช. เร่งออกกฎหลักเกณฑ์คุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคม

พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ และการกำหนดมาตรการให้ผู้ใช้บริการสามารถเลือกบริการโทรคมนาคมได้อย่างหลากหลาย และมีคุณภาพได้ตามมาตรฐานในราคาที่เป็นธรรม ว่า ในระหว่างนี้ได้มอบหมายให้สำนักคุ้มครองผู้ใช้บริการเร่งออกหลักเกณฑ์ชั่วคราว เพื่อรองรับ และแก้ปัญหาต่างๆที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้บริการโทรคมนาคม คาดว่าจะแล้วเสร็จทันวันที่ กทช.จะออกใบอนุญาตโทรคมนาคม ส่วนแนวทางและระเบียบปฏิบัติพร้อมให้บริการประชาชนอย่างสมบูรณ์จะแล้วเสร็จภายใน สิ้นปี 2548

สำหรับแนวทางปฏิบัติเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ กทช. ต้องคำนึงถึงกรอบการออกหลักเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ ซึ่งต้องสอดคล้องกัน สภาพตลาดที่ต้องอยู่ภายใต้การแข่งขันอย่างเสรี โดยให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกๆฝ่าย กทช.จำเป็นต้องเร่งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพบริการ กำหนดมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารโทรคมนาคม กำหนดหลักเกณฑ์การร้องเรียน กำหนดหลักเกณฑ์การระงับข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องเรียนและผู้ให้บริการซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชน ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการอย่างสัมฤิทธิผลภายใต้บทบาทหน้าที่ของ กทช.อย่างเต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น

ระหว่างนี้ ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน จากการใช้บริการโทรคมนาคม ทั้งด้านมาตรฐานคุณภาพบริการ ค่าบริการ สัญญาการใช้บริการ การไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ และการโฆษณาที่เกินความเป็นจริง สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยมีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
โทรศัพท์หรือโทรสารหมายเลข 0-2278-3355, 0-2271-0151 – 60 ต่อ 231, 234, 235
Website:ntc.or.th
E-mail:[email protected]
หรือ ตู้ ป.ณ. 777 สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ 10400

สำหรับประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดสามารถร้องเรียนได้ที่ศูนย์ สถานีตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุ 14 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ เขต1 นนทบุรี เขต2 อุบลราชธานี เขต3 ลำปาง เขต4 สงขลา จันทบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา เชียงใหม่ พิษณุโลก นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ชุมพร และระนอง

ทั้งนี้ สำนักคุ้มครองผู้ใช้บริการ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงจะนำข้อมูลที่ได้รับจากประชาชนมาพิจารณาและดำเนินงานตามขั้นตอนให้แล้วเสร็จในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้นไปก่อนที่จะมีหลักเกณฑ์ฉบับสมบูรณ์ออกมาใช้ภายในสิ้นปี เชื่อว่าภายหลัง กทช.ออกมาตรการชั่วคราวแล้วจะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ระดับหนึ่ง

ขณะเดียวกัน กทช.จะวางกลยุทธ์หลักในการทำงานเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ มีความเข้าใจถึงสิทธิของตนเอง ด้วยการเร่งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ของผู้ใช้บริการ รวมถึงส่งเสริมการสร้างเครือข่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยประสานความร่วมมือกับองค์กรภาคเอกชนและภาครัฐที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค