สมาคมเสริมสวยแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงานการแข่งขันชิงแชมป์ผมนานาชาติ ชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพครั้งที่ 7 (Queen’s Cup Grand Champion Hair World Festive Salon Cluster 2005) ขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่ห้องบางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว
โดยงานนี้ นายสุชาติ ขวัญฤกษ์ นายกสมาคมเสริมสวยแห่งประเทศไทย ได้ทำหน้าที่ระดมช่างผมทั้งในและต่างประเทศมาร่วมแข่งขันและโชว์เทนด์ผม และเทรนด์การแต่งหน้าแนวใหม่ เพื่อค้นหาแชมป์ผมคนใหม่ตัวแทนประเทศไทยไปชิงแชมป์ผมในเวทีระดับสากล ซึ่งได้ดาวรุ่งดวงใหม่จากจังหวัดอุบลราชธานี อายุเพียง 18 ปี นายอาทิตย์ จันทร์ลา สมัครลงแข่งทุกประเภทการแข่งขันและทำคะแนนนำมาเป็นอันดับหนึ่ง สามารถคว้าถ้วย แกรนด์แชมป์เปี้ยน “ถ้วยพระราชควีนส์คัพ” พร้อมเงินรางวัลและของรางวัลอีกจำนวนหนึ่ง ที่สำคัญได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันงาน Hair Asia-Pacific 2005 ที่ประเทศอินเดีย ในเดือนตุลาคมนี้
นายอาทิตย์ จันทร์ลา ช่างผมจากจังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรคนเล็กของนางอรดี จันทร์ลา เจ้าของโรงเรียนเสริมสวยอรอุบล โดยก่อนหน้านี้ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยในฐานะเยาวชนทีมชาติของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เดินทางไปแข่งขันที่ประเทศฟินแลนด์ ได้รางวัลอันดับที่ 4
“ที่ผ่านมาผมชอบในเรื่องของการแข่งขันการออกแบบทรงผม และการแต่งหน้าเป็นอย่างมาก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวเป็นอย่างดี แม่จะสอนและปลูกฝั่งวิชาชีพให้ตั้งแต่พื้นฐาน ตั้งแต่อายุ 13 ปี จากนั้นก็พัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง ชอบในเรื่องศิลปะการออกแบบและตกแต่ง และมีความตั้งใจว่าจะเอาดีทางวิชาชีพเสริมสวยจนถึงที่สุด”
แกรนแชมป์เปี้ยนถ้วยพระราชทานคนล่าสุด ยังกล่าวถึงเทคนิคการเอาชนะคู่แข่งบนเวทีการแข่งขันต่ออีกว่า งานเสริมสวยเป็นงานที่ต้องอาศัยการออกแบบและแนวความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก ดังนั้นการวางแผนบวกกับการฝึกซ้อมอย่างหนักจะสร้างความมั่นใจให้ได้บนเวทีการแข่งขัน แต่สำหรับการออกแบบนั้นต้องศึกษาการแข่งขันในเวทีต่างๆ ที่ผ่านมา รวมถึงต้องดีเทรนด์แฟชั่นเวลานี้ว่าอะไรอยู่ในความสนใจของกระแสสังคมมากที่สุด
“เราต้องดูแฟชั่นแบบองค์รวมคือทุกอย่างต้องเข้ากันหมด แบบผมรับกับใบหน้าของนางแบบ เสื้อผ้าเครื่องประดับ รองเท้า จะต้องไปในทางเดียวกัน เราวางคอนเซ็ปต์ของงานจากแรงบันดาลใจเช่นในผมครีเอทีฟ เราต้องการให้เส้นผมมีความพริ้วไหวมีชีวิตชีวิตเหมือนเช่นขนนกเวลาต้องลม เราก็ต้องสร้างสีผมให้มีมิติมองแล้วเหมือนมีชีวิต ทุกเส้นผมทุกลายละเอียดต้องบ่งบอกถึงความมีชีวิตชีวาอย่างแท้จริง
”ส่วนเรื่องเทรนด์การแต่งหน้าก็เช่นเดียวกัน อาทิตย์ จันทร์ลา ถึงจะเป็นหนุ่มน้อยวัย 19 ปี แต่งานหลักที่ทำอยู่ก็คือการแต่งหน้าให้กับเจ้าสาวที่ร้านของแม่ แถมเวลาที่มีงานประเพณีประจำปีของจังหวัดอุบลราชธานี ก็มีส่วนร่วมมาโดยตลอด
นางอรดี จันทร์ลา แม่ของแชมป์คนล่าสุด กล่าวว่า ความสำเร็จของลูกคือชัยชนะของพ่อและแม่ ถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ เป็นถ้วยที่ช่างผมทุกคนต้องใช้ความพยายามเพื่อให้ได้มีโอกาสครองถ้วยใบนี้ เช่นเดียวกับ ลูกชายภูมิใจเป็นที่สุด เพราะนอกจากเขาจะเป็นเด็กดี เขายังคือความตั้งใจของแม่ที่จะให้ดูแลงานด้านเสริมสวยอีกต่อไป
“อาทิตย์เป็นเด็กที่มีความพยายามสูง เวลานี้กำลังเรียนจะจบ ม.6 และคิดว่าจะให้เข้าเรียนต่อในสายวิชาชีพที่เขาชอบ ซึ่งก็มองไว้แล้วในประเทศที่เป็นต้นตำหรับด้านแฟชั่น อาทิตย์ชอบทางด้านศิลปะ เขาชอบมาตั้งแต่เด็ก อยู่ร้านก็แต่งหน้าให้ลูกค้าตั้งแต่อายุ 12-13 ปี เวทีไหนมีประกวดก็ชอบหนีแม่ไปประกวดได้ถ้วยได้รางวัลกลับมาอวด พ่อของเขาก็เลยส่งเสริมให้ได้ทำงานที่รักที่ชอบอย่างจริงจัง จนมีวันนี้”
ทางด้านแชมป์การแข่งขันประเภทแต่งหน้า และการเกล้าผมราตรี ซึ่งมีคะแนนรวมเป็นรองแบบสูสี ได้แก่ นายนำพล อมราภรณ์พิสุทธิ์ นักแข่งจากจังหวัดลำปาง กล่าวถึงการแข่งขันครั้งนี้ว่า ถือว่าเป็นชัยชนะที่ภาคภูมิใจ เพราะสามารถครองถ้วยชนะเลิศได้ถึง 2 ประเภทคือ ประเภทแต่งหน้าเจ้าสาวและเกล้าผมราตรี โดยส่วนตัวถือว่าเวทีนี้เป็นเวทีแห่งเกียรติยศและความภาคภูมิใจ และยังดีใจอีกด้วยว่า คนที่ชนะถ้วยแชมป์จนถึงถ้วยแกรนด์แชมเปี้ยน มาจากต่างจังหวัด
ส่วนคอนเซ็ปต์ของการทำงานจนชนะคู่แข่งทั้ง 2 ประเภทการแข่งขันนั้น คือการศึกษาเทรนด์แฟชั่นโดยเฉพาะเรื่องของเสื้อผ้าหน้าผมทุกอย่างต้องไปด้วยกันได้หมด สำหรับผมเกล้าราตรีนั้น เราจะเน้นที่การใช้สีที่ถึงกับแรงเกินไป แต่เป็นสีที่มองแล้วจะรู้ได้ทันทีเลยว่าทำยากมาก เพื่อนำมาจับเกล้าวางเป็นลวดลายต่างๆ ตามที่จินตนาการเอาไว้ แต่เน้นที่ต้องปราณีต เส้นผมจะต้องไม่แตกหรือเห็นอุปกรณ์ เครื่องประดับแบบรกไปหมด สุดท้ายเราจะเน้นว่าออกแบบมาแล้วต้องรับกับนางแบบด้วย
เช่นเดียวกับผู้ชนะเลิศการงันประเภทเพ้นท์เล็บ นางสาว ศิริขวัญ แต๋จา แชมป์คนแรกของประเทศไทยสำหรับการแข่งขันประเภทนี้ กล่าวถึงคอนเซ็ปต์การทำงานว่า การออกแบบจะแตกต่างจากการทำให้ลูกค้าโดยทั่วไป ซึ่งการแข่งขันจะเน้นที่จินตนาการมากกว่า เนื่องจากศาสตร์การแต่งเล็บถือว่าเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่เราจะต้องสร้างงานบนพื้นที่จำกัด และมีจำนวนถึง 10 ชิ้น งานที่ต้องดูแล้วลงตัวไม่รกจนเกินไป ซึ่งก็ภูมิใจกับชิ้นงานที่ออกมาและรางวัลที่ได้รับจากนี้ก็คงต้องศึกษาการแข่งขันของต่างชาติเพื่อที่จะเป็นตัวแทนไปแข่งขันในเวทีสากลต่อไป