ปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด : ต้องปรับโครงสร้างการนำเข้าเพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมัน

ในช่วงที่ผ่านมาของปี 2548 เศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะการชะลอตัว แต่การนำเข้าสินค้าต่างประเทศกลับมีการเติบโตในอัตราที่เร่งตัวกว่าปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นภาพที่สวนทางกัน นำมาสู่คำถามว่า การนำเข้าที่ขยายตัวในอัตราเร่งนี้ เกิดจากภาคเศรษฐกิจของไทยมีการนำเข้าสูงกว่าที่ควรจะเป็นตามศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือว่าเป็นเพราะปัจจัยแวดล้อมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ไทยต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ซึ่งเหตุผลอาจมาจากทั้งสองด้าน กล่าวคือ ประการแรก การนำเข้าในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นการนำเข้าล่วงหน้าของผู้ประกอบการเพื่อประโยชน์ในด้านราคาจากที่คาดการณ์ว่าราคาสินค้าในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่าระดับการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลังในข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพีในไตรมาสแรก มีมูลค่า 93,361 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นมูลค่ารายไตรมาสที่สูงสุดนับจากอดีตมา สะท้อนถึงสต็อกสินค้าที่ยังไม่ถูกนำไปสร้างรายได้กลับมาสู่ระบบเศรษฐกิจยังมีอยู่ในระดับสูง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 5 ของจีดีพี

ประการที่สอง ระดับการพึ่งพาสินค้านำเข้าของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากระดับต่ำกว่าร้อยละ 40 ของจีดีพีในช่วงก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 58 ในปี 2547 และร้อยละ 62 ในช่วงไตรมาสแรกปี 2548 ซึ่งสาเหตุสำคัญเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเติบโตสูง ประกอบกับอุปสรรคทางการค้าในด้านภาษีที่ลดลงตามการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรของไทยและการเริ่มต้นเปิดเขตการค้าเสรีกับภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งสินค้าราคาถูกจากจีนหลั่งไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เมื่อผู้บริโภคมีรายได้ดีขึ้นก็มักมีพฤติกรรมบริโภคสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นด้วย

การนำเข้าที่ขยายตัวสูงอย่างมากนี้ได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลต่อสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ศึกษาวิเคราะห์ถึงโครงสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจต่างๆของไทยกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารการนำเข้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ดังนี้

ภาคเศรษฐกิจต่างๆมีการสัดส่วนการนำเข้าสูงขึ้น

สินค้าที่ไทยมีการนำเข้าจากต่างประเทศ อาจจำแนกโครงสร้างตามวัตถุประสงค์ของการนำเข้าได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือการนำเข้าเพื่อการอุปโภคบริโภค การนำเข้าเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตต่อไป การนำเข้าเพื่อการลงทุน และการนำเข้าอื่นๆ ซึ่งส่วนสำคัญเป็นการนำเข้าน้ำมัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ความเชื่อมโยงของการนำเข้าสินค้า 4 กลุ่มข้างต้น กับกิจกรรมเศรษฐกิจ 4 ประเภทที่ก่อให้เกิดการนำเข้าสินค้าเหล่านั้น กล่าวคือ กิจกรรมการบริโภค การผลิต การลงทุน และการนำเข้าน้ำมัน และวิเคราะห์สัดส่วนการนำเข้า (Import content) ของกิจกรรมเศรษฐกิจแต่ละประเภท โดยใช้ข้อมูลมูลค่าการนำเข้าเปรียบเทียบเป็นอัตราส่วนกับมูลค่ากิจกรรมเศรษฐกิจตามบัญชีรายได้ประชาชาติ พบว่า จากตัวเลขที่เห็นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548 ภาคเศรษฐกิจต่างๆมีสัดส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้าหากกำหนดกรณีสมมติให้ภาคเศรษฐกิจแต่ละประเภทมีความต้องการนำเข้าในสัดส่วนเท่ากับปีที่ผ่านมา ด้วยระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ประมาณร้อยละ 4-5 จะทำให้การนำเข้ามีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 17-18 ต่อปี ซึ่งยังนับว่าเป็นระดับที่ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2548 สามารถรักษาสถานะการเกินดุลเอาไว้ได้ แต่ข้อเท็จจริงในช่วงไตรมาสแรกปี 2548 เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 3.3 แต่การนำเข้าในรูปมูลค่าบาทกลับขยายตัวสูงถึงร้อยละ 26.5 (ในรูปมูลค่าดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 29)

การที่กิจกรรมเศรษฐกิจทั้ง 4 ประเภทมีโครงสร้างสัดส่วนการนำเข้าที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลต่อการนำเข้าโดยรวมในปี 2548 ดังตารางสรุปต่อไปนี้

ตารางสรุปผลต่อการนำเข้าโดยรวมในกรณีที่กิจกรรมเศรษฐกิจแต่ละประเภทมีสัดส่วนการนำเข้า (Import content) เปลี่ยนแปลงไป

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสัดส่วนนำเข้า ต่อมูลค่ากิจกรรมเศรษฐกิจ ผลต่อมูลค่าการนำเข้า (ล้านบาท) ผลต่ออัตราการขยายตัวของการนำเข้า (%: Percentage point)
– ภาคการบริโภค : สัดส่วนการนำเข้าของการบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้น 1% 39,400 1.2
– ภาคการผลิต : สัดส่วนการนำเข้าของภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 1% 26,000 0.7
– ภาคการลงทุน : สัดส่วนการนำเข้าของกิจกรรมการลงทุน เพิ่มขึ้น 1% 20,000 0.5
– ปริมาณการนำเข้าน้ำมัน เพิ่มขึ้น 1% 5,400 0.1
– ราคาน้ำมัน เพิ่มขึ้น 1 US$/Barrel 12,400 0.3

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

• ผู้บริโภคไทยบริโภคสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น

ผู้บริโภคไทยมีการบริโภคสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น โดยถ้าหากพิจารณาสัดส่วนการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคต่อการบริโภคภาคเอกชน (Private consumption expenditure) มีสัดส่วนที่สูงขึ้นจากร้อยละ 7-8 ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ มาเป็นร้อยละ 10 ในปี 2547 และมีแนวโน้มอาจเพิ่มขึ้นอีกในปี 2548 โดยในช่วง 4 เดือนแรกปี 2548 สินค้าอุปโภคบริโภคนำเข้าที่มีอัตราการเติบโตสูงเกินกว่าร้อยละ 10 ได้แก่ สินค้าประเภทเครื่องหนัง เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ ธัญพืช เสื้อผ้าและรองเท้า อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์จากไม้ เวชภัณฑ์ ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคโดยรวม และมีสินค้าหลายชนิดที่สามารถบริโภคสินค้าภายในประเทศทดแทนได้

จากการวิเคราะห์พบว่าสัดส่วนการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคต่อการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น (หรือลดลง) ทุกๆ 1% (Percentage point) เช่น จากร้อยละ 10 เป็น ร้อยละ 11 จะนำให้การนำเข้าในปี 2548 เพิ่มขึ้น(หรือลดลง) ประมาณ 39,400 ล้านบาท หรือส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการนำเข้าเพิ่มขึ้น (หรือลดลง) 1.2% (Percentage point)

• ภาคการผลิตพึ่งสินค้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ภาคการผลิตของไทยมีการพึ่งพาสินค้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนประกอบจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ถ้าพิจารณาสัดส่วนการนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย (สัดส่วนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปต่อมูลค่าผลผลิตในภาคอุตสาหกรรม) พบว่ามีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากประมาณร้อยละ 37 ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจมาเป็นร้อยละ 46 ในปี 2547 และอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นมาเกินร้อยละ 50 ในปี 2548 สัดส่วนการนำเข้าที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะโลหะ เช่น เหล็ก ทองแดง ทองคำ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แต่แม้ขจัดผลของราคาออกไปสัดส่วนการนำเข้าก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

การวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อการนำเข้ารวมพบว่า หากภาคอุตสาหกรรมไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนประกอบคิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกๆ 1% จะทำให้การนำเข้าสินค้าในปี 2548 เพิ่มขึ้นประมาณ 26,000 ล้านบาท หรืออัตราการขยายตัวของการนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก 0.7%

• วัฎจักรเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการลงทุนจะมีความต้องการนำเข้าสูง

การลงทุนเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจที่มีการพึ่งพาการนำเข้าค่อนข้างสูง ในช่วงวัฎจักรเศรษฐกิจที่มีการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนจึงเป็นปัจจัยผลักดันให้ความต้องการนำเข้าสูงขึ้น จากการวิเคราะห์โครงสร้างการนำเข้าของกิจกรรมการลงทุนพบว่า การลงทุนโดยทั่วไปจะทำให้เกิดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 42 ของมูลค่าโครงการลงทุนทั้งหมด

จากการวิเคราะห์ผลกระทบการลงทุนต่อการนำเข้า พบว่าถ้ากิจกรรมการลงทุนมีการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าการลงทุนโดยรวมเพิ่มขึ้นทุกๆ 1% (เช่นจากร้อยละ 42 เป็นร้อยละ 43) จะทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นประมาณ 19,000 ล้านบาท หรืออัตราการขยายตัวของการนำเข้าเพิ่มขึ้น 0.5%

ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าพิจารณาอัตราการขยายตัวของการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1% จะทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นประมาณ 9,000 ล้านบาท หรืออัตราการขยายตัวของการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้น 0.2% ยกตัวอย่างเช่น แผนการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติมีมูลค่าเงินลงทุนในช่วงปี 2548-2549 ลดลงจากแผนการเดิม คือในปี 2548 ลดลง 74,000 ล้านบาทและปี 2549 ลดลง 84,000 ล้านบาท ถ้าใช้สัดส่วนการนำเข้าที่ร้อยละ 42 จะมีส่วนทำให้การนำเข้ารวมลดลงประมาณกว่า 30,000 ล้านบาทในแต่ละปี หรือการนำเข้าเติบโตลดลงประมาณ 1%

• ราคาน้ำมัน : ตัวแปรสำคัญที่ผลักดันการนำเข้าเพิ่มขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบในช่วง 4 เดือนแรกปี 2548 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 60 ในมูลค่าบาท ขณะที่ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถ้าพิจารณาแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าราคาน้ำมันอาจยังคงปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่คาดว่าอัตราการขยายตัวของราคาน้ำมันเมื่อเทียบกับฐานของช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าอาจจะชะลอตัวลง เนื่องจากในปี 2547 ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปี โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 33.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยมีค่าเฉลี่ยที่ 42.7 ดอลลาร์สหรัฐในครึ่งปีหลัง ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในช่วงครึ่งแรกปี 2548 คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 49.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งทำให้ในช่วงครึ่งแรกราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่เมี่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2548 ในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบมีค่าเฉลี่ยประมาณ 51 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ราคาจะสูงขึ้นประมาณร้อยละ 19 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มที่ต่ำกว่าในช่วงครึ่งปีแรกมาก อัตราการขยายตัวของราคาน้ำมันที่ชะลอตัวลงนี้ จะส่งผลให้การนำเข้าโดยรวมชะลอตัวลงได้มาก (โดยถ้าการนำเข้าส่วนอื่นๆมีอัตราการขยายตัวคงที่ การนำเข้าโดยรวมอาจลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 29 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี มาเป็นประมาณร้อยละ 25)

ถ้าวิเคราะห์ผลที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของราคาและปริมาณการนำเข้าน้ำมัน พบว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้นทุกๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้การนำเข้าในปี 2548 เพิ่มขึ้นประมาณ 12,400 ล้านบาท หรืออัตราการขยายตัวของการนำเข้าเพิ่มขึ้น 0.3%

• ผลโดยรวมต่อการนำเข้าของไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์แนวโน้มการนำเข้าในปี 2548 จากผลที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อภาคเศรษฐกิจแต่ละประเภทมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าของกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจนั้นๆ โดยมีกรณีข้อสมมติและผลสรุปดังต่อไปนี้

ข้อสมมติ 1 สัดส่วนการนำเข้าของการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 0.5% สัดส่วนการนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 5% สัดส่วนการนำเข้าของกิจกรรมการลงทุนเพิ่มขึ้น 1% และราคาน้ำมันดิบ Brent มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 50 US$/Barrel (เพิ่มขึ้น 12 US$/Barrel จากค่าเฉลี่ยปี 2457)
– มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 270,000 ล้านบาท
– การนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก 7.6% จากอัตราขยายตัวตามโครงสร้างสัดส่วนนำเข้าเดิม (17.%)
– ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2548 ขาดดุลประมาณ 3,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข้อสมมติ 2 ในกรณีที่สัดส่วนการนำเข้าของภาคบริโภค ภาคอุตสาหกรรม และภาคการลงทุนไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า และราคาน้ำมันดิบ Brent มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 50 US$/Barrel
– มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 128,000 ล้านบาท
– การนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก 3.7% จากอัตราขยายตัวตามโครงสร้างสัดส่วนนำเข้าเดิม (17.%)
– ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2548 เกินดุลประมาณ 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นมีผลอย่างมากต่อการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าสามารถลดการนำเข้าของภาคเศรษฐกิจอื่นๆได้ ดังเช่นภายใต้กรณีข้อสมมติที่ 2 ที่เศรษฐกิจไทยสามารถรักษาสัดส่วนการนำเข้าของภาคการบริโภค การผลิตและการลงทุนให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดยมีเพียงราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมีค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้สถานะดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้นกว่าในกรณีข้อสมมติที่ 1 ถึงประมาณ 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การบริหารการนำเข้าและฐานะดุลบัญชีเดินสะพัด

จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ไทยมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆในโลกเพิ่มมากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่ว่าไทยอาจจะต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศในอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า เมื่อประเทศดำเนินนโยบายเขตการค้าเสรีกับภูมิภาคต่างๆอย่างครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น ประสบการณ์ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจไทยเคยขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดสูงกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำประเทศไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงิน ยิ่งกว่านั้น สัดส่วนการพึ่งพาการนำเข้าต่อจีดีพีในเวลานั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าปัจจุบันมาก การบริหารการนำเข้าเพื่อลดการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ได้สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อสถานะดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย แต่การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ ดังนั้น สิ่งที่อาจทำได้คือต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเศรษฐกิจต่างๆในการหาแนวทางที่จะลดการนำเข้าของภาคเศรษฐกิจแต่ละส่วนไปพร้อมกัน

ในส่วนของผู้บริโภค ควรหันมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยที่ต้องมีการนำเข้าสูง ภาครัฐอาจต้องให้สิทธิประโยชน์จูงใจเพื่อให้ภาคธุรกิจมีการใช้วัตถุดิบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ที่ผลิตได้ในประเทศมากขึ้น รวมทั้งการกำหนดมาตรการทางการค้าและอุตสาหกรรม เช่น มาตรฐานคุณภาพสินค้า การคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อสกัดกั้นสินค้าที่ด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ควรมีแนวทางดูแลไม่ให้ธุรกิจมีการสะสมสต็อกสินค้ามากเกินไป อย่างไรก็ตาม มาตรการในระยะสั้นอาจทำได้จำกัดเพราะการที่อุตสาหกรรมมีการนำเข้าสูงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคการผลิตของไทย รวมทั้งปัญหาในด้านต้นทุนที่สินค้านำเข้าอาจมีราคาที่ต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของภาคการผลิตไทยจึงต้องอาศัยระยะเวลาและนโยบายด้านอุตสาหกรรม ที่จะต้องส่งเสริมการสร้างเครือข่ายห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ตลอดทั้ง Value Chain ขึ้นภายในประเทศ เพื่อให้ภาคการผลิตมีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศเพิ่มขึ้น ในส่วนของการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง การร่วมแรงร่วมใจประหยัดพลังงานจะช่วยลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้อีกทางหนึ่ง มาตรการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเหล่านี้น่าจะมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีการบริโภค หรือมีการพึ่งพิงการนำเข้าลดลง

นอกจากนี้ ถ้าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ อันหมายถึงบัญชีด้านรายจ่ายของดุลบัญชีระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ความพยายามในการสร้างความสมดุลให้กับสถานะดุลบัญชีเดินสะพัด จึงต้องผลักดันให้บัญชีด้านรายได้เพิ่มขึ้นมาชดเชยกัน แนวทางหนึ่งคือการผลักดันให้การส่งออกเติบโตในอัตราส่วนที่สอดคล้องกับการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจจนถึงปี 2547 ที่ผ่านมา ไทยสามารถรักษาระดับการส่งออกให้สูงกว่าการนำเข้าได้ แต่ในช่วงปีนี้การนำเข้ามีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งกว่าการส่งออกมาก ส่งผลให้ไทยประสบภาวะการขาดดุลการค้า หากรายได้จากการค้าสินค้ายังไม่เพียงพอที่จะชดเชยอุปสงค์ต่อสินค้าต่างประเทศ การรักษาสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดอีกทางหนึ่งคือกระตุ้นรายได้จากต่างประเทศในภาคบริการ เช่นรายได้การท่องเที่ยว

สรุปและข้อคิดเห็น

ในช่วงที่ผ่านมาของปี 2548 เศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะการชะลอตัว แต่การนำเข้าสินค้าต่างประเทศกลับมีการเติบโตในอัตราที่เร่งตัวกว่าปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง จากการวิเคราะห์โครงสร้างการนำเข้าของไทยในช่วงที่ผ่านมา ถ้ากรณีสมมติให้ภาคเศรษฐกิจแต่ละประเภทมีความต้องการนำเข้าในสัดส่วนที่คงที่เท่ากับปีที่ผ่านมา ด้วยระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ประมาณร้อยละ 4-5 จะทำให้การนำเข้ามีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 17-18 ในปี 2548 ซึ่งเป็นระดับที่ยังรักษาสถานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ไว้ได้ แต่ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกปี 2548 เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 3.3 แต่การนำเข้าในรูปมูลค่าบาทกลับขยายตัวสูงถึงร้อยละ 26.5

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ศึกษาวิเคราะห์ถึงโครงสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจต่างๆของไทยกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางในการบริหารการนำเข้าและดุลบัญชีเดินสะพัด พบว่าภาคเศรษฐกิจต่างๆของไทยมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น สัดส่วนการนำเข้าต่อจีดีพีสูงขึ้นมาที่ร้อยละ 62 ในไตรมาสแรกปี 2548 จากร้อยละ 58 ในปี 2547 และเคยต่ำกว่าร้อยละ 40 ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ

จากการวิเคราะห์ผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการนำเข้าของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ได้แก่ การบริโภค การผลิต การลงทุน และการนำเข้าน้ำมันพบว่า การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเทียบเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น 1% (Percentage point) จะทำให้อัตราการเติบโตของการนำเข้าในปี 2548 เพิ่มขึ้น 1.2% (Percentage point) ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและส่วนประกอบเทียบเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยที่เพิ่มขึ้น 1% จะทำให้อัตราการเติบโตของการนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก 0.7% สำหรับการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆเทียบเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้น 1% จะทำให้อัตราการเติบโตของการนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก 0.5% และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้อัตราการขยายตัวของการนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก 0.3%

ในกรณีเศรษฐกิจในภาคการบริโภค การผลิต และการลงทุนสามารถรักษาสัดส่วนการนำเข้าไว้ที่ระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า และราคาน้ำมันสูงขึ้นมีค่าเฉลี่ยที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะส่งผลให้อัตราการเติบโตของการนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก 3.7% (จากอัตราขยายตัวตามโครงสร้างนำเข้าเดิมที่ประมาณร้อยละ 17) ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าสัดส่วนการนำเข้าของภาคการบริโภค การผลิต และการลงทุนยังคงเป็นไปในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อน ผลโดยรวม (รวมผลของราคาน้ำมัน) อาจทำให้การนำเข้าในปี 2548 มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 7.6% เป็นร้อยละ 24.6 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลประมาณ 3,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยิ่งถ้าราคาน้ำมันดิบยังคงพุ่งสูงขึ้นอีก ก็จะยิ่งส่งผลกดดันดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขณะนี้ยังถือว่าเป็นระดับที่ยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากทุนสำรองของประเทศยังอยู่ในระดับสูง หนี้ต่างประเทศลดลงจากในอดีตมาก ขณะเดียวกัน การขาดดุลที่เป็นอยู่ไม่ได้สะท้อนว่าเกิดจากการบริโภคที่เกินตัว แต่เป็นผลมาจากแรงกระตุ้นในด้านการลงทุน ที่สินค้าที่นำเข้ามาเพื่อเป็นการสร้างผลตอบแทนในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐในโครงสร้างพื้นฐานนับเป็นการยกระดับทุนทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งถ้าการลงทุนมีประสิทธิภาพก็จะยิ่งส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในอนาคต ดังนั้น หากประเทศมีศักยภาพการเติบโตสูงในปัจจุบันและอนาคต การขาดดุลในระยะสั้นอาจไม่ก่อปัญหาต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังอยู่ภายใต้ความเสี่ยงหลายด้าน ซึ่งปัญหาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอาจจะเพิ่มสูงขึ้นหากประเทศเผชิญโอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัว หรือหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอันจะส่งผลให้การส่งออกเติบโตลดลง ซึ่งหมายถึงความสามารถในการสร้างรายได้เพื่อนำมาชำระคืนหนี้ถูกจำกัด หรือหากประเทศมีความน่าดึงดูดต่อการดึงเงินทุนไหลเข้าลดลง อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนตัวลง เป็นต้น ซึ่งต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังอยู่ภายใต้ความเสี่ยงเหล่านี้