พฤติกรรม/วิธีชีวิตที่เปลี่ยนไปของประชาชนชาวใต้ Before and After เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ

สถาบันบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยงานวิจัยวิถีชีวิตและพฤติกรรมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ Before and After ระบุชัดคนใต้เกิดความสามัคคี ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หลีกเลี่ยงการขัดแย้ง และให้ความสำคัญกับสังคมมากขึ้น เตรียมนำเสนอทั่วโลกในงาน The Global Business and Research Conference ที่กรุงลอนดอน เพื่อหาแนวทางแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดกับธุรกิจในยุคโลกาภิวัฒน์

ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ก็คือ เรื่องสงครามและภัยพิบัติจากธรรมชาติ เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ส่งผลความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจในภาพรวมสะดุดและหยุดการเจริญเติบโต

เมื่อมีเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิเกิดขึ้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ศศินทร์จึงได้จัดทำงานวิจัยเรื่อง “พฤติกรรม/วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของประชาชนชาวใต้ Before and After เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ” เพื่อนำไปแถลงที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในงาน The Global Business and Research Conference ระหว่างวันที่ 13-15 กรกฏาคม 2548 เพื่อนำเสนอให้นานาประเทศได้รับรู้ถึงพฤติกรรม วิถีชีวิต ตลอดจนทัศนคติที่เปลี่ยนไปของประชาชนในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบธุรกิจในยุคโลกาภิวัฒน์

ดร.กฤษติกากล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยดังกล่าว จะทำให้ผู้ที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้ตระหนักถึงทัศนคติที่เปลี่ยนไป เพื่อจะนำไปใช้ในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และบางสิ่งบางอย่างยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านมาถึง 6 เดือนแล้วก็ตาม โดยผู้ที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลจะต้องทราบและเข้าใจว่าประชาชนในท้องถิ่นดังกล่าวต้องการความสำเร็จในชีวิตมากกว่าเดิม เพื่อจะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้แล้วความช่วยเหลือจะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานวิจัยฉบับนี้จะถูกนำไปใช้ เพื่อเป็นแนวทางการให้ความช่วยเหลือได้ตรงจุด

นอกจากนี้แล้วชาวใต้ยังเห็นความสำคัญเรื่องวัตถุนิยมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้เพราะหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวประชาชนส่วนใหญ่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง การเปลี่ยนไปของทัศนคติในเรื่องดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่ในเวลาเดียวกันพวกเขาก็มีความรักใคร่ปรองดอง มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากขึ้น

การวิจัยในครั้งนี้ได้ใช้กลุ่มตัวอย่างทั้งเพศชายและหญิงที่เป็นประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยจำนวน 480 คน อายุเฉลี่ย 20.3 ปี โดยการวิจัยนั้นได้ทำไว้ 2 ช่วงคือช่วงแรกในเดือนพฤศจิกายน 2547 และช่วงที่ 2 ในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2548 ซึ่งมีสาระที่น่าสนใจดังนี้

* ประชาชนสามัคคีกันมากขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ

หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวประชาชนในภาคใต้มีความสามัคคีปรองดองกันมากขึ้น โดยพบว่าก่อนเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสินามิตัวเลขความสามัคคีอยู่ที่ 5.54 แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5.79 ในขณะเดียวกันก็พบว่าตัวเลขการให้ความช่วยเหลือค้ำจุนซึ่งกันและกันนั้นเพิ่มขึ้น โดยก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิอยู่ที่ 5.80 แต่หลังจากเกิดแล้วตัวเลขเพิ่มขึ้น 5.93

นอกจากนี้แล้วผลการวิจัยยังระบุว่าหลังจากเหตุการณ์สึนามิเกิดขึ้นแล้ว ประชาชนในภูมิภาคดังกล่าวมีการลดการขัดแย้งและหลีกเลี่ยงการปะทะกันเพิ่มมากขึ้น โดยก่อนเกิดเหตุตัวเลขอยู่ที่ 5.43 แต่หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 5.57 ที่สำคัญยังพบว่าประชาชนมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งก่อนเกิดเหตุการณ์ตัวเลขอยู่ที่ 5.59 แต่หลังจากนั้นได้เพิ่มขึ้นเป็น 5.76

จากตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิขึ้นแล้ว ประชาชนชาวใต้ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคม และมีความรักและเป็นห่วงพวกพ้องของตัวเองมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างนั้นได้เห็นประโยชน์ของส่วนรวมและมีความเป็นหนึ่งมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่จะสนับสนุนให้เกิดการอยู่รวมกันอย่างมีความสุข โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการลดการขัดแย้งและการปะทะซึ่งกันและกัน คือเหตุผลหลักที่จะทำให้สังคมโดยรวมของภูมิภาคดังกล่าวน่าอยู่มากขึ้น

* สึนามิทำให้ชาวใต้ให้ความสำคัญกับวัตถุนิยมมากขึ้น

การวิจัยถึงวิถีชีวิตของประชาชนชาวใต้หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ ระบุชัดเจนว่ากลุ่มตัวอย่างได้ให้ความสำคัญกับวัตถุนิยมมากขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด โดยให้ความเห็นตรงกันว่าต้องการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เงินทอง และครอบครองสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งก่อนเกิดเหตุการณ์นั้นความเป็นวัตถุนิยมของประชาชนอยู่ที่ 3.93 แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์แล้วเพิ่มขึ้นถึง 4.03

สำหรับเหตุผลที่ทำให้ความเป็นวัตถุนิยมเพิ่มขึ้นนั้นเพราะต้องการใช้เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ตนเองประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้ชาวใต้ให้ความสำคัญกับตัวเองเพิ่มมากขึ้น โดยก่อนเกิดเหตุการณ์นั้นตัวเลขเรื่องการให้ความสำคัญกับตัวเองนั้นอยู่ที่ 4.09 แต่หลังจากนั้นได้เพิ่มขึ้นเป็น 4.15

ในขณะที่เหตุการณ์สึนามินั้นได้ทำลายความสุขในชีวิตของประชาชนชาวใต้อย่างเห็นได้ชัดที่สุด โดยก่อนเกิดเหตุการณ์นั้นตัวเลขการมีความสุขในชีวิตประจำวันอยู่ที่ 4.09 แต่หลังจากนั้นลดลงเหลือเพียง 3.78 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการรอคอยความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อต้องการให้ชีวิตความเป็นอยู่นั้นดีเหมือนเดิม

* อิทธิพลของสังคมต่อความคิดเห็นของชาวใต้

ในการวิเคราะห์ถึงอิทธิพลของสังคมที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนภาคใต้ ผลการวิจัยระบุว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิแล้ว คนส่วนใหญ่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความคิดเห็นของผู้อื่นในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งมีตัวเลขเปรียบเทียบก่อนและหลังดังนี้

ตารางเปรียบเทียบการตัดสินใจต่อบุคคลในสังคม
บุคคลในสังคม ก่อน หลัง
พ่อ-แม่ 5.08 5.21
ญาติพี่น้อง 4.31 4.42
เพื่อนฝูง 4.84 4.81
แฟน/คนรัก 5.25 5.35
ผู้นำท้องถิ่น/ผู้มีอำนาจจากภาครัฐ 3.79 4.03
รวม 4.48 5.36

จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิแล้ว ประชาชนชาวใต้ได้ให้ความสำคัญกับความคิดเห็น ทัศนคติ การพูดคุย คำสั่งสอน จากบุคคลที่อยู่ในสังคมเดียวกันมากขึ้น แต่มีข้อสังเกตุอย่างหนึ่งว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์แล้วประชาชนได้เห็นความสำคัญของเพื่อนฝูงน้อยลง แสดงให้เห็นว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้าย ๆ แล้วทุกคนย่อมมุ่งไปใกล้ชิดและให้กำลังใจกับคนใกล้ตัวและคนในครอบครัวมากขึ้น

ในขณะเดียวกันหลังจากเกิดเหตุการณ์แล้วประชาชนนั้นให้ความสำคัญกับผู้ที่บทบาทในการเป็นผู้นำท้องถิ่น หรือผู้มีอำนาจจากภาครัฐมากขึ้น นั่นหมายความว่าพวกเขาพร้อมที่จะรับฟังการให้คำแนะนำและการช่วยเหลือจากบุคคลดังกล่าว เนื่องจากตระหนักดีว่าคนเหล่านั้นจะสามารถให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนคำแนะนำที่สามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตได้

* พ่อแม่/ผู้นำท้องถิ่น/ผู้มีอำนาจจากภาครัฐมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสูงสุด

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิแล้ว ผลการวิจัยระบุว่าประชาชนในภูมิภาคดังกล่าวนั้นให้ความเคารพและเชื่อถือผู้นำท้องถิ่นและผู้มีอำนาจจากภาครัฐเพิ่มขึ้น โดยได้ให้ความสำคัญกับการเชื่อฟัง รับฟัง และให้บุคคลดังกล่าวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการชี้ช่องทาง การให้คำแนะนำ รวมทั้งการปฏิบัติในแง่ของการพัฒนาและฟื้นฟู ทั้งสภาพจิตใจและชีวิตความเป็นอยู่

นอกจากนี้แล้วพ่อแม่คือผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ โดยการเปรียบเทียบตัวเลขก่อนและหลังการเกิดเหตุการณ์นั้น สามารถเปรียบเทียบได้ว่าครอบครัวมีความสำคัญต่อทุกคนมากขึ้น