กรุงเทพฯ: “ไฟเซอร์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นคว้าวิจัยเวชภัณฑ์ระดับโลก จัดงานสัมมนาและเวิร์คช้อป “เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี OAB รักษาได้” แนะแนวทางรักษาอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ระดมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด จัดขึ้น
ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โซฟิเทล เซ็นทรัล ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2548
ไฟเซอร์เล็งเห็นถึงปัญหาของผู้ป่วยกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือโอเอบี (OAB) ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นในปัจจุบันแต่ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้ จึงจัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือโอเอบี (OAB) และให้คำแนะนำแก่ผู้ประสบปัญหาโอเอบี โดยในงานประกอบด้วยการบรรยายและสัมมนาถึงสาเหตุ อาการ การรักษารวมถึงข้อแนะนำต่างๆ อย่างเจาะลึกสำหรับผู้ป่วย และมีการจัดเวิร์คช็อปแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมงานออกเป็นกลุ่มย่อย 4 กลุ่มเพื่อปรึกษาพูดคุยและซักถามปัญหากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำกลุ่มอย่างใกล้ชิด
โรคกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือ โอเอบี (Over Active Bladder) นั้นเป็นกลุ่มของอาการที่ผู้ป่วยมีปัญหาในการขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ปวดปัสสาวะรุนแรงรอไม่ได้ต้องรีบไปเข้าห้องน้ำ จนบางครั้งเข้าห้องน้ำไม่ทันถึงกับปัสสาวะเล็ดราด ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะสร้างความรำคาญ รบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเข้าสังคม แม้กระทั่งการทำงาน
สาเหตุของอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือ โอเอบี (OAB) เกิดจากการรับรู้ความรู้สึกจากกระเพาะปัสสาวะรุนแรงและเร็วกว่าปกติ อาจจะร่วมกับมีการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะก่อนถึงเวลาถ่ายปัสสาวะไม่สามารถยับยั้งได้ทั้งนี้สาเหตุพื้นฐานอาจจะมาจากความผิดปกติของระบบประสาทควบคุม หรืออาจจะมีโรคอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท อาการของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะรีบ ปัสสาวะราด หรือมีทั้งสามอาการร่วมกัน
“ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาแน่ชัดถึงปริมาณผู้ป่วยโอเอบี (OAB) หรือโรคกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินว่ามีมากน้อยเท่าใด อาศัยข้อมูลจากต่างประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้หญิงมีอัตราการเกิดภาวะนี้มากกว่าเพศชาย คือร้อยละ 20 ส่วนเพศชาย ร้อยละ 16 ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 75 ปี สามารถพบได้ถึงร้อยละ 30-50 ทุกการศึกษาพบตรงกันว่าพบอาการเหล่านี้ได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้น ไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ ดังนั้นจึงพอจะสรุปได้ว่าในประเทศไทยคงจะมีผู้ป่วยในอัตราที่ไม่ต่างจากต่างประเทศมากนัก” ศาสตราจารย์นายแพทย์กฤษฎา รัตนโอฬาร ประธานคณะแพทย์ที่ปรึกษากลุ่มอาการโอเอบีกล่าว
โรคกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือโอเอบี (OAB) นั้นสามารถรักษาได้ไม่ยุ่งยากโดยการรับประทานยา และปรับพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมการดื่มน้ำ เป็นต้น และด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบัน มียาที่สามารถบรรเทาและรักษาอาการซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ป่วย
การสัมมนาครั้งนี้เป็นการช่วยชี้ทางให้กับผู้ประสบปัญหากระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือ โอเอบี (OAB) ได้เป็นอย่างดีอีกทั้งยังช่วยลดความกังวลใจให้กับผู้ป่วยอีกด้วย นอกจากนี้เรายังเปิดสายให้ข้อมูลและคำปรึกษา สำหรับผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมหรือคำปรึกษาได้ที่ โทร 0-2664-5888 กด 4 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำในช่วงเวลา 09.00-20.00 น. ตลอดวันจันทร์-ศุกร์